ดีอีเอสกางแผนเชิงรุกเต็มรูปแบบ จัดกิจกรรม-รณรงค์ลดข่าวปลอม

อัตราโทษแชร์ข่าวปลอมในเฟซบุ๊ก
ภาพโดย Dean Moriarty from Pixabay

ดีอีเอส สรุปสถิติข่าวปลอมรอบปี’64 พบมีข้อความที่ต้องคัดกรองมากถึง 450 ล้านข้อความ โดยหมวดสุขภาพ นโยบายรัฐ เศรษฐกิจติดท็อป 3 ที่เป็นข่าวปลอมสูงกางแผนปี’65 เดินหน้าเชิงรุกเต็มสูบ ทั้งจัดกิจกรรม สร้างการรับรู้ รณรงค์ ตั้งแต่เยาวชนถึงภาคประชาชน หวังลดจำนวนข่าวปลอม

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ภาพรวมการดำเนินงานของศูนย์ข่าวปลอม (วันที่ 1 พ.ย. 2562-23 ธ.ค. 2564)

พบว่ามีข้อความที่ต้องคัดกรอง 455,121,428 ข้อความ หลังจากคัดกรองแล้วพบว่ามีข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 13,262 เรื่องแบ่งเป็นหมวดสุขภาพ 6,855 เรื่อง หมวดนโยบายรัฐ 5,865 เรื่อง หมวดเศรษฐกิจ 282 เรื่อง และภัยพิบัติ 260 เรื่อง

อย่างไรก็ตาม หากเจาะลงรายละเอียด (ข้อมูลวันที่ 1 มกราคม 2563-23 ธันวาคม 2564) พบว่า หมวดหมู่ข่าว 4 กลุุ่มที่มีการพูดถึงมากที่สุดและเป็นข่าวปลอมสูง ได้แก่

1.หมวดนโยบาย มียอดเฉลี่ยการพูด 53,017 ครั้งต่อวัน โดยเฉพาะช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากรัฐบาลมีการออกนโยบายการเยียวยาประชาชนออกมา

2.หมวดสุขภาพ มียอดเฉลี่ยอยู่ที่ 29,329 ครั้งต่อวัน และคาดการณ์ว่าหมวดนี้มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น หากมีการพบโรคระบาดใหม่ก็มีแนวโน้มการนำประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพ การรักษาด้วยตนเองมาบิดเบือนและแชร์ข้อมูล

3.หมวดเศรษฐกิจ มียอดเฉลี่ย 15,966 ครั้งต่อวัน โดยเฉพาะข่าวบิดเบือนในช่วงที่มีการปรับ เปลี่ยนแปลงราคาสินค้าอุปโภคบริโภค สุดท้ายหมวดภัยพิบัติมีแนวโน้มการพูดถึง 15,042 ครั้งต่อวัน

ขณะเดียวกัน ผลจากการติดตามข่าวสาร และการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม ตั้งแต่จัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (วันที่ 1 พ.ย. 2562-23 ธ.ค. 2564) พบว่ามีจำนวนผู้โพสต์ข่าวปลอม 1,167,543 คน

และจำนวนผู้แชร์ข่าวปลอม 23,785,145 คน โดยช่วงอายุของผู้โพสต์ที่มีการแชร์ข่าวปลอมมากที่สุด คือ อายุ 18-24 ปี สัดส่วน 54.5% อายุ 55-64 ปี คิดเป็น 0.1%

นายชัยวุฒิกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน เพื่อแก้ปัญหาและลดจำนวนข่าวปลอม ดีอีเอสจะเดินหน้าเชิงรุกมากขึ้น โดยทิศทางปี 2565 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมจะมุ่งเน้นการจัดกิจกรรมให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น


โดยครอบคลุมตั้งแต่ระดับเยาวชนจนถึงเครือข่ายภาคประชาชน พร้อมเดินหน้าสร้างการรับรู้ รณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อต้านการเผยแพร่ข่าวปลอม เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้ประชาชน