“ขอนแก่น”ต้นแบบสมาร์ทซิตี้ ผุดIoTเต็มเมืองเก็บบิ๊กดาต้าต่อยอด

“ขอนแก่น 2561” เซ็นเซอร์เต็มเมือง ดึงเทคโนโลยี “ลอร่า” กรุยทางเก็บบิ๊กดาต้าสู่สมาร์ทซิตี้ พร้อมเปิดเมืองทดลองนวัตกรรม ต่อยอดความสำเร็จสมาร์ทซิตี้บัส ด้าน DEPA ชงของบฯจังหวัด 50 ล้านบาท สร้างดาต้าเซ็นเตอร์ SCOPC เสริมแกร่งบิ๊กดาต้า

นายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ขอนแก่นสมาร์ทซิตี้ เป็นการร่วมกันพัฒนาจังหวัดที่มีมูลค่าเศรษฐกิจ 1.9 แสนล้านบาท ตามนโยบายประชารัฐ ต่อยอดที่จังหวัดได้อานิสงส์จากโครงการรถไฟรางคู่ เส้นทางพัฒนารถไฟเชื่อมเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก มอเตอร์เวย์ใหม่จากนครราชสีมา ทั้งเป็นเมืองที่รัฐบาลให้สิทธิพิเศษด้านภาษีสำหรับการลงทุนด้านดิจิทัล และไบโอเมดิคอลโดยเน้นพัฒนาด้านไมซ์ซิตี้ทรานส์ปอร์เทชั่น และด้านโมบิลิตี้

“การเป็นเมืองทันสมัยภาครัฐไม่ต้องลงทุนเองทั้งหมด แต่มีหน้าที่ขจัดตัวเองไม่ให้เป็นปัญหา ให้เอกชนมาลงทุนได้เร็วขึ้น เพิ่มขีดความสามารถของนักธุรกิจท้องถิ่นให้เข้าไปเกาะเกี่ยวทุนใหญ่ให้ได้ประโยชน์ด้วย”

ตั้งเป้าว่าอีก 50 ปี ขอนแก่นจะกลายเป็นโกลบอลซิตี้ ให้บริษัทข้ามชาติเลือกเข้ามาลงทุนและตั้งสำนักงานโดยขับเคลื่อนแล้วหลายโครงการทั้ง “สมาร์ทซิตี้ บัส” โดยบริษัทขอนแก่นซิตี้บัส ที่มีระบบติดตามตำแหน่งรถ เซ็นเซอร์อัจฉริยะที่ทำให้ทั้งบริษัทและผู้โดยสารสามารถตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชั่น “kktransit” ได้ ว่ารถแต่ละคันอยู่ณ จุดใด อีกกี่นาทีจะถึงจุดที่รออยู่ ทำให้บริหารจัดการการเดินทางได้ดีขึ้น โครงการระบบการจัดการรถ ร.พ.แบบรวมศูนย์ ด้วยรถฉุกเฉินอัจฉริยะ ฯลฯ

สมาร์ทเฮลท์สู่เมดิคอลฮับ

“ผศ.นพ.ชวกิจ ภูมิบุญชู” รองคณบดีฝ่ายศูนย์กลางบริการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้แทนผู้อำนวยการ ร.พ.ศรีนครินทร์ กล่าวเสริมว่า ขอนแก่นสามารถเป็นโกลบอลซิตี้ได้เร็วกว่าเป้าหมายแน่นอน แต่ต้องเตรียมรับมือด้านสาธารณสุข

“รพ.ศรีนครินทร์ จะใช้เวลา 10 ปี ขยายศักยภาพรองรับผู้ป่วย 3,500 เตียง และศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์”

ทั้งยังมีโครงการ “มณี” เทคโนโลยีอัจฉริยะ และระบบนิเวศชุมชนครบวงจร เพื่อสังคมสูงวัยสุขภาพดี ด้วยการติดเซ็นเซอร์ในบ้านเพื่อเตือนภัยและเก็บข้อมูลที่นำไปสู่การลดความเสี่ยงของการเจ็บป่วย โดยนำร่องไปแล้วที่ชุมชนบ้านหนองหิน 30 ครัวเรือน ปลายปี 2561 จะเริ่มเห็นผลจากการเก็บข้อมูล ทั้งยังจะผลักดันขอนแก่นสมาร์ทซิตี้คลาวด์ดาต้าเซ็นเตอร์ รวบรวมข้อมูลจาก รพ. ร้านขายยา เพื่อวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพ ซึ่งในปี 2561 น่าจะเห็นความชัดเจนขึ้น โดยใช้งบประมาณร่วมกันระหว่าง รพ. จังหวัด DEPA และสร้างกลไกสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดเอกชนด้วย

รถฉุกเฉินอัจฉริยะเชื่อมดาต้า

นพ.สมคิด เลิศสินอุดม ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านอุบัติเหตุและผู้อำนวยการศูนย์อุบัติเหตุและวิกฤตบำบัด รพ.ขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบันขอนแก่นรถฉุกเฉิน 50 คัน จาก 26 อำเภอมีระบบเชื่อมสัญญาณชีพและคลื่นหัวใจจากรถฉุกเฉินเข้าศูนย์สั่งการแล้ว แต่ยังต้องแจ้งข้อมูลผ่านโทรศัพท์ จึงตั้งเป้าจะยกระดับให้เชื่อมต่อแบบโมบายเข้ากับระบบมอนิเตอร์ที่ รพ.ศูนย์ ซึ่งจะรู้ได้ทั้งพิกัดรถฉุกเฉิน สภาพอาการเจ็บป่วยของคนไข้ สัญญาณชีพ คลื่นหัวใจ ข้อมูลผู้ป่วยที่ครอบคลุมจากทุก รพ.ศูนย์ รพ.ชุมชน เพื่อให้แพทย์เรียกดูข้อมูลได้จากสมาร์ทดีไวซ์และแจ้งสั่งการได้ทันที ปิดช่องว่างในการส่งต่อข้อมูล

“แต่ละปีขอนแก่นมีแจ้งเหตุฉุกเฉินมาที่ศูนย์ 1.2 แสนเคสต่อปี ขณะที่การลงทุนเพื่ออัพเกรดรถฉุกเฉินต้องลงทุนทั้งหมด 50 คัน เซิร์ฟเวอร์กลางสำหรับศูนย์สั่งการอีก 1 ล้านบาท จึงต้องทยอยทีละเฟส โดยหาโมเดลการลงทุนร่วมกับเอกชนที่เหมาะสม แต่พยายามให้อัพเกรดให้ครบทั้งหมดภายใน 5 ปี”

ติดเซ็นเซอร์เก็บบิ๊กดาต้า

ด้านนายเจียมศักดิ์ ทองรุ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท จัมป์ อัพ จำกัด ผู้พัฒนาระบบขนส่งอัจฉริยะ กล่าวว่า ในปี 2561 จะเริ่มนำระบบขนส่งอัจฉริยะมาใช้กับรถสองแถวของจังหวัด ภายใต้แอปพลิเคชั่น “ยูไส” ซึ่งมีรูปแบบเดียวกับสมาร์ทซิตี้ บัส และนำเทคโนโลยีลอร่า มาใช้ส่งข้อมูลจากเซ็นเซอร์บนอุปกรณ์ต่าง ๆ ใน 3 โครงการ คือ Smart Parking บริหารลานจอดรถอัจฉริยะและจองคิวติดต่อธุรกรรมกับเทศบาล, SmartPollution Metering วัดมลพิษทางอากาศด้วยการติดเซ็นเซอร์บนสมาร์ทซิตี้บัส และ Smart Disaster Warning ติดตั้งเซ็นเซอร์เตือนระดับน้ำในชุมชนเมืองและพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เพื่อให้แจ้งเตือน

“ครึ่งปีแรก 2561 น่าจะติดตั้งเซ็นเซอร์ได้เสร็จ ทำให้ทั้งเมืองขอนแก่นจะมีเซ็นเซอร์สำหรับเก็บข้อมูลเพื่อบริหารเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นบิ๊กดาต้าที่นำไปต่อยอดได้”

SCOPC ดาต้าเซ็นเตอร์จังหวัด

นายธวัชชัย โคตรวงษ์ ผู้จัดการสาขาภาคอีสานตอนกลาง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA เปิดเผยว่า กำลังอยู่ระหว่างขอสนับสนุนงบประมาณ 50 ล้านบาทจากสำนักงานจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้อัพเกรดดาต้าเซ็นเตอร์เดิมของจังหวัดให้เป็น SCOPC (Smart City Operation Center) ศูนย์กลางรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ทั้งหมดของขอนแก่น ด้วยแพลตฟอร์มเดียวกัน เพื่อให้เกิดการบูรณาการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างครบวงจร ซึ่งน่าจะเริ่มดำเนินการได้ราว ต.ค. 2561


“สมาร์ทซิตี้ที่ขอนแก่น จะเป็นโมเดลที่อาศัยความร่วมมือแบบประชารัฐ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเองก็มีนโยบายชัดเจนว่า ยินดีให้ขอนแก่นเป็นเมืองแห่ง SandBox เป็นพื้นที่ในการทดลองนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สอดรับกับจริตของเมืองขอนแก่น เพื่อเปิดกว้างในการเข้ามาลงทุน ซึ่งปัจจุบันมีเอกชนทั้งจากอังกฤษ แคนาดา สวีเดน สนใจจะเข้ามาทดลองนวัตกรรมด้าน IoT (อินเทอร์เน็ตออฟทิงส์) บิ๊กดาต้า และขนส่งอัจฉริยะ โดยกำลังอยู่ในช่วงการประสานงาน”