ดีแทค ปักหมุด สร้างโลกออนไลน์สีขาว เปิด 3 ประเด็นที่คนถูกไซเบอร์บูลลี่มากสุด

ดีแทคผนึก คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เปิดแพลตฟอร์มระดมความเห็น”Jam Ideation #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา” พบ ประเด็นที่ถูกพูดถึงมากสุด 3 อันดับแรก คือ “มาตรฐานความงาม ความเท่าเทียมทางเพศ และการคุกคามทางเพศ” พร้อมชี้แนวทางแก้ปัญหา เยียวยาผู้ถูกไซเบอร์บูลลี่

วันที่ 10 มกราคม 2565 นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทค ในฐานะแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านไซเบอร์บูลลี่มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การสร้างการรับรู้ต่อปัญหา พัฒนาศักยภาพบุคลากร การผลักดันนโยบายสาธารณะ งานสื่อสารสาธาณะและวิจัย ตลอดจนการหาทางออกและพัฒนาโซลูชั่น เพื่อแก้ไขปัญหา มองเห็นว่า สังคมไทยในปัจจุบันมี “การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลเชิงสังคม” ขนานใหญ่

โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนไปจากอดีต โดยเฉพาะในเรื่อง “มาตรฐานความงาม ความเท่าเทียมทางเพศ และการคุกคามทางเพศทางออนไลน์” ที่ปรากฏการณ์ขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่มุ่งเป้าไปที่การพัฒนาทางเศรษฐกิจ จนละเลยปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านในมิติทางสังคม ทั้งปัญหาการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ถือเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

ขณะเดียวกัน ดีแทค ได้เปิดแพลตฟอร์มระดมความเห็นในรูปแบบ “Jam Ideation #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา” เป็นเวลา 72 ชั่วโมง ระหว่างวันที่ 25-27 มิถุนายน 2564 พบว่า แพลตฟอร์มได้รับไอเดียเกี่ยวกับการหยุดไซเบอร์บูลลี่ทั้งหมด 782 ไอเดีย จากกลุ่มเป้าหมายกว่า 1.44 ล้านคน มีจำนวนผู้มีส่วนร่วมกับแคมเปญทั้งสิ้น 34,500 ครั้ง

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภายหลังการเปิดแพลตฟอร์มระดมความเห็นในรูปแบบ “Jam Ideation #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา” พบว่า 3 ประเด็นหลักที่เด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจมากที่สุด ได้แก่ มาตรฐานความงามที่นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตา (Body shaming) มีสัดส่วนสูงถึง 56% การคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) 23% และความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) 21%

สำหรับประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตาผู้อื่น (Body shaming) คนออนไลน์ยุคใหม่ต้องการสร้างทัศนคติให้ทุกคนในสังคมตระหนักและเคารพเรื่อง “ความแตกต่างหลากหลาย” (Diversity) ในร่างกายมนุษย์ ไม่วิพากษ์วิจารณ์รูปร่างและหน้าตาของผู้อื่น เนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ไม่ว่าผู้พูดจะมีอาวุโสกว่าหรือเป็นเพื่อนกัน

ควรสร้างโอกาสให้ทุกคนเท่ากันโดยไม่ตัดสินจากรูปร่างหน้าตาที่เหนือกว่าผู้อื่น (Beauty privilege) มากไปกว่านั้นควรสร้างการเห็นคุณค่าในตัวเอง (Self Esteem) ให้มีในตัวเด็กทุกคน รวมถึงให้คุณค่าเกี่ยวกับความแตกต่าง มากกว่าการสร้างมาตรฐานความงาม ที่สำคัญควรมีการกำหนดมาตรการลงโทษทางกฎหมายและกำหนดให้มีหน่วยงานราชการทำหน้าที่ในการช่วยเยียวยาเหยื่อจากไซเบอร์บูลลี่ เมื่อกระบวนการทางกฎหมายจบลง

ขณะที่ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่มองว่า ควรมีสร้างทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ลบล้างทัศนคติความคิดของเรื่อง ชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) และสร้างค่านิยมความเท่าเทียมทางเพศ ให้โอกาสทุกเพศและทุกคนอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ควรมีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อสร้างความเท่าเทียมและความเสมอภาคทางเพศ พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องให้ทันสมัยและไม่สร้างภาระให้กับเหยื่อหรือผู้ถูกกระทำ

สุดท้ายการคุกคามทางเพศ คนรุ่นใหม่มองว่า ควรมียกระดับและส่งเสริมการสร้างทัศนคติต่อต้านการคุกคามทางเพศ สอนให้เด็กรู้จักสิทธิส่วนบุคคลและเคารพในร่างกายของผู้อื่น ขณะเดียวกัน พ่อแม่ ครูและผู้ปกครองควรเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่แสดงพฤติกรรมที่ส่อไปในเชิงคุกคามทางเพศ มากไปกว่านั้น คนรุ่นใหม่ยังมองว่าไม่ควรส่งเสริมหรือสนับสนุนทัศนคติชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) และสร้างทัศนคติต่อต้านไซเบอร์บูลลี่และการใช้ความรุนแรงผ่านสื่อ


โดยเฉพาะเรื่องความรุนแรงในสื่อออนไลน์ ถือเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ คือ ควรมีการกำหนดมาตรการลงโทษผู้ก่อเหตุคุกคามทางเพศในโรงเรียนและแนวทางในการเยียวยาผู้ถูกละเมิดสิทธิ โดยคำนึงถึงผู้ถูกละเมิดเป็นหลัก รวมถึงควรปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุมคามและล่วงละเมิดทางเพศให้ทันสมัย