เบญจจินดาลุยชิงเค้กไซเบอร์ซีเคียวริตี้หมื่นล้าน

กลุ่มเบญจจินดาดันบริษัทใหม่ “ไซเบอร์ อีลีท” ชิงส่วนแบ่งตลาดไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ตั้งเป้ารายได้ปีแรก 350-400 ล้านบาท 3 ปี ทะลุ 1,000 ล้านบาท ชี้โควิด-ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นปลุกตลาดโตต่อเนื่อง ชูจุดแข็งด้านบุคลากร-บริการตอบโจทย์ลูกค้าทั้งภาครัฐ และเอกชน

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ดร.ศุภกร กังพิศดาร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซเบอร์ อีลีท จำกัด ในกลุ่มเบญจจินดา กล่าวว่า กลุ่มเบญจจินดามีประสบการณ์ในการดูแลความปลอดภัยด้านไซเบอร์ (Cybersecurity) ให้กับองค์กรขนาดใหญ่ ทั้งกระแสดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น การทำงานที่บ้านจากวิกฤตโควิด-19 ในช่วงที่ผ่าน รวมถึงข้อกฎหมายของหน่วยงานการกำกับดูแล (Regulator)

ดร.ศุภกร กังพิศดาร

เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับ และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ( คปภ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นต้น ที่ให้ความสำคัญต่อการป้องกันความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ผลักดันให้ความต้องการในตลาดเพิ่มขึ้นมาก จากความพร้อมของบริษัท และโอกาสทางธุรกิจจึงจัดตั้ง บริษัท ไซเบอร์ อีลีท จำกัด (Cyber Elite) ขึ้นมาเพื่อเป็นผู้ให้บริการด้านนี้โดยเฉพาะ

จากการสำรวจของบริษัทวิจัยระดับโลก คาดว่าภายในปี 2568 การเติบโตของตลาดไซเบอร์ซีเคียวริตี้ในไทย และเอเชีย รวมถึงระดับโลกเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

“เราจะได้เห็นการเติบโต 20%-30% ในปีนี้และปีถัด ๆ ไป จากผลพวงของ COVID-19 รวมทั้งการที่คน go digital มากขึ้น emerging tech อย่าง blockchain, web 3 ก็ทำให้คนมีความกังวลเรื่องการโจมตีทางไซเบอร์มากขึ้น

โดยปีแรก ไซเบอร์ อีลีท ตั้งเป้ารายได้ 3%-4% ของตลาดรวมในไทย ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 11,000-13,000 ล้านบาท หรือราว 350-400 ล้านบาท โตเฉลี่ย 30%-50% หรือมีรายได้ถึง 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2568″

สำหรับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายจะเป็นทั้งภาครัฐ และเอกชนยืดหยุ่นเหมาะสม ตามความจำเป็นของประเภทธุรกิจ หรือองค์กรนั้น ๆ แต่คาดใน 3 ปีแรกจะเข้าขยายลูกค้าในตลาดเอกชนเป็นหลัก หรือมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 70% ของรายได้รวม ทั้งในกลุ่มที่มี security maturity สูง เช่น กลุ่มธนาคาร และ tech company ซึ่งสนใจเรื่องบริหารจัดการด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้อย่างเหมาะสม เพื่อตอบโจทย์การรับมือภัยไซเบอร์ ส่วนตลาดที่ยังไม่มีความพร้อมรับมือภัยคุกคาม จะเข้าไปให้บริการ managed security services ที่เหมาะสม

ดร.ศุภกรกล่าวต่อว่าปีนี้บริษัทใช้เงินลงทุนประมาณ 50 ล้านบาท ในการพัฒนาความสามารถของบริษัททั้งในแง่การพัฒนาคน งานวิจัย ปรับปรุงห้องปฏิบัติการ พัฒนาบริการต่าง ๆ รวมถึงเพิ่มจำนวนบุคลากร

“ทั้งโลกกำลังเข้าสู่การบริหารจัดการความปลอดภัยด้านไซเบอร์ เราสังเกตเทรนด์นี้มาสักพัก และพยายามพัฒนาศักยภาพของทีมให้สอดคล้องกับเทรนด์นี้ โดยโพซิชันนิ่งตนเองเป็นไซเบอร์ซีเคียวริตี้ โพรวายเดอร์ ที่ตอบโจทย์ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ให้องค์กรต่าง ๆ เพื่อเข้าไปแก้ปัญหาที่องค์กรเจอ ทำให้ผู้บริหารของบริษัทต่าง ๆ รู้ว่าไซเบอร์ซิเคียวริตี้ขององค์กรตนเองเป็นแบบไหนได้ผ่านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ อินเทลิเจนซ์ แพลตฟอร์ม”