ออน ดีมานด์ ดีลิเวอรี่ เดือด “ลาล่ามูฟ” ปักหลักชิงเค้ก 3 หมื่น ล.

ยิ่งอีคอมเมิร์ซโตแค่ไหน ธุรกิจรับส่งสินค้าก็ยิ่งโตตามไปด้วย โดยเฉพาะบริการรับส่งอาหารจะด้วยพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่ชอบความสะดวกรวดเร็ว หรือเพราะเรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนส่วนใหญ่ก็แล้วแต่

“ชานนท์ กล้าหาญ” กรรมการผู้จัดการ ลาล่ามูฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยปีที่ผ่านมาโต 15% ปีนี้โต 21% คาดว่าจะโต 24% ภายในปี 2021 โดยเฉพาะบริการรับส่งอาหาร (ฟู้ดดีลิเวอรี่) โต 11-15% คาดว่าปีนี้จะมีมูลค่าตลาดถึง 27,000 ล้านบาท เทียบกับการเติบโตของร้านอาหารปกติโตเพียง 2-5% จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เน้นความสะดวกรวดเร็ว ส่งผลให้ธุรกิจจัดส่งสินค้าออนดีมานด์ หรือดีลิเวอรี่โตขึ้น บริษัทเข้ามาทำตลาดในไทยมา 3 ปี ปีที่แล้วมีรายได้ 120 ล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะโต 350% มีรายได้ 540 ล้านบาท และปีหน้าจะโตอย่างน้อย 350% เท่าเดิม ปัจจุบันเป็นที่ 1 ในตลาด 3 ปีซ้อน เพราะเทรนด์การส่งสินค้าในอนาคตจะยิ่งรวดเร็วมากขึ้น คนที่ขายของออนไลน์จากที่เคยส่งใน 3 วันถึงก็ต้องการให้ส่งในวันเดียว

ด้านการแข่งขันในตลาดขนส่งออนดีมานด์ยังดุเดือด มีผู้เล่นหลัก ๆ 5-6 ราย แข่งด้านราคาและโปรโมชั่น

โดยลาล่ามูฟมั่นใจในบริการในฐานะ “ฟูลฟิวเมนต์” ทำให้กลุ่มธุรกิจที่ใช้บริการมีความเชื่อมั่น มีการบอกปากต่อปาก ขณะที่ผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการมากขึ้น ปัจจุบันมีลูกค้าที่เป็นร้านอาหารกว่า 60-70% ที่เหลือเป็นสินค้าประเภทอื่น ๆ เช่น สินค้าแฟชั่น และการใช้บริการจากผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายอื่นที่มีรถไม่พอ ปัจจัยที่ทำให้เป็นผู้นำตลาดเพราะมีรถมากที่สุด 40,000 คัน โดย 95% เป็นมอเตอร์ไซค์จึงทำเวลาได้ดี เร็วสุด 10 นาที แต่โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1 ชั่วโมงเร็วสุดในประเทศ

“ปีหน้าการแข่งขันจะยิ่งดุเดือด ไม่ใช่แค่เราที่มองเห็นโอกาสจากการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ เพียงแต่องค์กรใหญ่จะทำยาก สตาร์ตอัพจึงเข้ามาในตลาดนี้เยอะมาก”

ล่าสุดได้ร่วมมือกับพันธมิตร 2 ราย ได้แก่ ไลน์แมน และ “เบอร์เกอร์คิง” ในการจัดส่งอาหารผ่านการสั่งซื้อออนไลน์ และในอนาคตจะมีรายอื่นในอุตสาหกรรมอื่น นอกจากมีรถมอเตอร์ไซค์จำนวนมากแล้วยังมีรถปิกอัพ และรถขนาด 5 ประตู ปีหน้าจะโฟกัสธุรกิจที่ต้องการใช้รถใหญ่ขึ้น และเมื่อกลางปีได้เปิด API (Application Programming Interface) ให้ลูกค้าเชื่อมต่อเพื่อให้การใช้งานลื่นไหลขึ้น โดยไม่ต้องเรียกผ่านแอปพลิเคชั่น คาดว่าจะช่วยให้เข้าถึงองค์กรใหญ่ได้ดีขึ้น และปีหน้าจะเพิ่มจำนวนรถอีกไม่ต่ำกว่า 135% และมีแผนขยายไปจังหวัดอื่นตามหัวเมืองใหญ่ แต่คงต้องใช้เวลา

ด้าน “ประพัฒน์ เสียงจันทร์” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เบอร์เกอร์คิงตั้งใจทรานส์ฟอร์มไปสู่ดิจิทัล โดยเริ่มเห็นเทรนด์ของลูกค้าที่เปลี่ยนไปสั่งอาหารออนไลน์มากขึ้นจึงจับมือกับลาล่ามูฟ ในการจัดส่งอาหารผ่านการสั่งซื้อออนไลน์บนเว็บไซต์ มั่นใจว่าจะช่วยเพิ่มยอดการสั่งออร์เดอร์แบบดีลิเวอรี่จาก 5% เป็น 10% ในปีหน้า เฉลี่ยมูลค่าการสั่งในร้านอยู่ที่ 200 บาท/บิล แต่สั่งแบบดีลิเวอรี่จะสูงกว่า 2 เท่า

“เรามีช่องทางดีลิเวอรี่โดยการโทร.สั่ง 1112 โดยใช้พนักงานไปส่ง แต่เราเริ่มเห็นพฤติกรรมลูกค้าบางกลุ่มที่ไม่อยากโทร.สั่ง เช่น ชาวต่างชาติที่ติดปัญหาด้านภาษาที่ทำให้การจดออร์เดอร์ผิด ดังนั้นการสั่งผ่านเว็บไซต์จะช่วยคนกลุ่มนี้ และจะลดข้อผิดพลาดในการสั่งสินค้าเพราะลูกค้าได้สั่งเอง โดยเราตั้งเป้าให้มียอดคอมเพลนเป็นศูนย์ภายในปี 2561”

ปัจจุบันเบอร์เกอร์คิงมี 84 สาขา โดยมีทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล นอกจากนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ภูเก็ต, พัทยา, ชลบุรี เป็นหลัก สำหรับแผนการขยายสาขาปีหน้าตั้งเป้า 20 สาขา เน้นในกรุงเทพฯ, ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนเป้าหมายด้านรายได้บริษัทปีนี้เติบโต 32% มีรายได้ 3,500 ล้านบาท ปีหน้าตั้งเป้าเติบโตที่ 30-40% จากการขยายสาขาและรายได้จากสาขาเดิมที่คาดว่าจะโตขึ้น 8% และดีลิเวอรี่ที่คาดว่าจะเติบโต 5%

สำหรับค่าบริการในการจัดส่งเริ่มต้นที่ 40 บาท ตอนนี้มีโปรโมชั่นซื้อครบ 500 บาท จัดส่งฟรี สั่งได้ตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน

อย่างไรก็ตาม สาขาที่สั่งผ่านออนไลน์ได้จะเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑล และต่อไปจะเป็นดิจิทัลในด้านเพย์เมนต์ โดยเป็นพันธมิตรกับหลายราย เช่น อาลีเพย์, แรบบิทการ์ด ตั้งเป้าในปีหน้าให้มีการใช้เงินสดเหลือ 50% จากปัจจุบันที่ผู้บริโภคใช้เงินสด 70%

ขณะเดียวกันเตรียมเพิ่ม บริการ “พิกอัพ” (pickup) ที่ให้ผู้บริโภคสั่งซื้อล่วงหน้าและมารับของได้ที่ร้าน

สำหรับการลงทุนด้านดิจิทัล บริษัทได้เพิ่มทีมใหม่อีกประมาณ 200 คน โดยจะมีผู้บริหารเฉพาะเพื่อโฟกัสด้านดิจิทัล ส่วนเรื่องระบบก็มีแผนลงทุนหลายล้านบาท ด้านการตลาดในปีนี้ลงทุน 100 ล้านบาท ทำทั้งสื่อหลักและออนไลน์ และปีหน้าจะเพิ่มเป็น 120-130 ล้านบาท