ถอดรหัสความสำเร็จ “แมวดำ” ปักธง “SCG EXPRESS”

เปิดตัวไปเมื่อ มี.ค.ที่ผ่านมา แต่การร่วมทุนระหว่าง 2 ยักษ์ อย่าง “SCG” ของไทย และ Yamato Asia Pte. Ltd. หรือขนส่งแมวดำจากญี่ปุ่น ที่กระโดดเข้ามาในตลาดโลจิสติกส์ของไทยก็เป็นที่น่าจับตามองเป็นยิ่ง ด้วยยอดใช้บริการที่ไม่น่าพลาดเป้าหมาย1 ล้านกล่อง ภายในสิ้นปีนี้ และยังขยายศูนย์บริการเอสซีจี เอ็กซ์เพรส (Service Point) ไปแล้ว 20 สาขาทั่วประเทศไทย พร้อมเปิดจุดบริการตัวแทนรับพัสดุเอสซีจี เอ็กซ์เพรส (Service Agent) ขึ้นทั่วประเทศ เฉพาะแค่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลก็ทะลุไป 200 แห่งไปแล้ว

ล่าสุดเพิ่งจับมือกับ บมจ.ปตท. เปิดจุดให้บริการที่ FIT Auto อีกต่างหาก “โยจิ ฮามานิชิ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี ยามาโตะ เอ็กซ์เพรส จำกัด กล่าวว่า เอสซีจี เอ็กซ์เพรส (SCG EXPRESS) เป็นบริการขนส่งพัสดุย่อยแบบเร่งด่วน (Small Parcel Delivery) ทั้งในรูปแบบ B2B (ธุรกิจถึงธุรกิจ) B2C (ธุรกิจถึงผู้บริโภค) และ C2C (ผู้บริโภคถึงผู้บริโภค) มีเป้าหมายจะขยายพื้นที่ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศภายในปี 2561 รองรับการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยที่เติบโตปีละกว่า 20%

“เอสซีจี ยามาโตะ เอ็กซ์เพรส” คือชื่อบริษัท ขณะที่ “SCG EXPRESS” เป็นชื่อแบรนด์ ตัดทอนลงเพื่อไม่ให้ยาวไป โดยเป็นการร่วมทุนระหว่าง SCG กับ Yamato ของญี่ปุ่น หรือที่รู้จักกันดีในนามบริษัทขนส่งแมวดำ เชื่อว่าหลายคนเคยเห็นโลโก้นี้

“สัดส่วนการลงทุน SCG ถือหุ้น 65% และ Yamato 35% เราให้บริการแบบ Next Day Delivery คือ รับพัสดุจากสาขาส่งไปที่ sourcing center แล้วส่งต่อไปที่สาขา แล้วทางสาขาค่อยนำไปกระจายต่อ นี่คือ 1 เซอร์เคิลของโลจิสติกส์ สำหรับ SCG ตอนนี้ 1 วันคือ 1 เซอร์เคิล แต่ที่ญี่ปุ่น Yamato มีเน็ตเวิร์กที่เข้มแข็ง มี 4 พันสาขาทั่วประเทศ มีพนักงาคนขับกว่า6 หมื่นคน 1 วันทำได้ 3 เซอร์เคิล คือ รอบเช้า รอบบ่าย รอบเย็น พัสดุที่มาส่งตอนเช้าจะสามารถทันการกระจายต่อในรอบที่ 3 ได้ สำหรับ SCG เป็นเป้าหมายในอนาคต” 

สำหรับในประเทศญี่ปุ่น Small Parcel Delivery มีตั้งแต่เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะมีอินเทอร์เน็ตหรือช็อปปิ้งออนไลน์ จึงมีพื้นฐานที่แข็งแรงในระดับหนึ่ง เมื่อกระแสอีคอมเมิร์ซได้รับความนิยมมาก จึงช่วยเสริมให้ธุรกิจโลจิสติกส์เติบโตได้เร็วขึ้นไปอีก เพราะมีประสบการณ์มานาน มีเทคโนโลยีและอุปกรณ์ รวมถึงเน็ตเวิร์กที่เข้มแข็ง แตกต่างจากในประเทศไทย ที่อีคอมเมิร์ซเป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้ Small Parcel Delivery เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีรายใหม่เข้ามาในตลาดและแต่ละรายเติบโตรวดเร็วเช่นกัน ฉะนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ต้องโฟกัสคือ ทำอย่างไรที่จะขยายพื้นที่การให้บริการให้มาก ยิ่งเร็วยิ่งดี เพื่อรองรับอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซที่กำลังเติบโต

แม้ในปัจจุบันจะมีผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซหลายรายสร้างแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ของตนเอง แต่ “โยจิ” มองว่า หากจะทำต้องมีจุดประสงค์ที่ชัดเจนว่า ทำไมต้องมี เช่น เป้าหมายคือ SameDay เพื่อให้มีรถของตัวเองเพื่อซัพพอร์ตลูกค้าที่ต้องการส่งด่วน สร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า โดยรับภาระค่าใช้จ่ายตรงนี้เอง เพราะธุรกิจโลจิสติกส์มีต้นทุนสูง เป็นส่วนที่ต้องมีการบริหารงานมากที่สุด และจริง ๆ มีหลายโมเดลให้ผู้ประกอบการธุรกิจเลือกใช้ได้

สิ่งที่ยากที่สุดคือการรักษาคุณภาพบริการ โลจิสติกส์คือ การส่งพัสดุถึงมือผู้บริโภค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอีคอมเมิร์ซเอ็กซ์พีเรียนซ์ ที่เริ่มตั้งแต่กดเข้าเว็บ เลือกสินค้า เปรียบเทียบ สั่งซื้อ ชำระเงิน เลือกวิธีการส่งสินค้า ทั้งหมดเป็นดิจิทัล แต่ทั้งกระบวนการมีเพียงแค่การได้รับพัสดุเท่านั้นที่ลูกค้าจะได้เจอคน ฉะนั้น ถ้าลูกค้าได้รับบริการในจุดนี้ไม่ดี จะมีผลกระทบกับแบรนด์สินค้าด้วย บริษัทขนส่งจึงเป็นเหมือนตัวแทนของผู้ค้าทั้งหมด

“SCG ใส่ใจตรงนี้มาก ทั้งเทคโนโลยีและคุณภาพการจัดส่ง มีโรงเรียนสอนขับขี่ปลอดภัย พนักงานขับรถทุกคนต้องผ่านหลักสูตรนี้ ซึ่งทางญี่ปุ่นจะส่งอาจารย์มาสอนโดยเฉพาะ เช็กทุกวันว่าต้องมีมารยาท มีขั้นตอนการติดต่อลูกค้าอย่างไรบ้าง ใส่ใจทุกกระบวนการเพราะจะช่วยธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้หรือไม่ อยู่ที่ตรงนี้”

โดยเฉพาะช่วงที่อีคอมเมิร์ซจัดแคมเปญลดกระหน่ำในไตรมาสสุดท้ายของปี ถือว่าเป็นช่วงที่ยากลำบากทุกปี เพราะยอดขายอีคอมเมิร์ซจะเพิ่มขึ้น 20-30% ภายในวันเดียว แต่ระบบขนส่งเพิ่ม capacity ที่มีคุณภาพมารองรับไม่ได้ภายในวันเดียว

“เป็นช่วงที่ต้องดิ้นรนกันสุด ๆ แต่ในฐานะที่เป็นผู้บริหาร สิ่งที่ต้องส่งเมสเซสไปถึงพนักงานให้ชัดคือ ความปลอดภัยต้องมาก่อน ยามาโตะมีคีย์เวิร์ดเลยว่า safety first business second เพราะคนที่ทำธุรกิจโลจิสติกส์ต้องขนส่งบนถนน ในฐานะผู้บริหารต้องให้ชัดเจนว่า ธุรกิจนี้ต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย แม้ว่าผู้ส่งผู้รับพัสดุจะสำคัญ แต่สังคมก็สำคัญด้วย ไม่อย่างนั้นคนที่งงที่สุดคือพนักงานขนส่ง ไม่ใช่ว่าส่งไม่ทันเวลาก็โดนดุโดนหักคะแนน จะเอาอย่างไรแน่”

อย่างที่ 2 คือต้องบริหารจัดการ ทั้งแผนระยะกลางระยะยาวที่มีคุณภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับการเตรียมแก้ไขระยะสั้นด้วยว่า เมื่อเกิดออร์เดอร์ล้นจะทำอย่างไรไม่ให้ลูกค้าวันนี้เดือดร้อน ซึ่งระบบกับเทคโนโลยีช่วยได้

ส่วนการลงทุนนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างออโตเมชั่น หรือโดรนมาใช้ เป็นสิ่งที่จะเห็นได้แน่ ๆ แต่จะมาเมื่อไรและรูปแบบใดขึ้นอยู่กับสถานการณ์

“จะเปลี่ยนทั้งหมดเลยคงไม่ แต่จะจัดตามความเหมาะสม อาทิ การใช้โดรนแทนการขนส่งที่ต้องขึ้นเขาไปไกลเส้นทางลำบาก แบบนี้ต้นทุนจะถูกกว่าหรือครอบครัวรุ่นใหม่ที่สะดวกรับของในช่วงดึก ๆ ซึ่งพนักงานขับรถต้องพักผ่อนแล้ว การใช้รถไร้คนขับที่มีตู้ล็อกเกอร์เก็บของที่ให้ลูกค้ากดรหัสเพื่อเปิดเองได้ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่เสริมได้” 

สำหรับอนาคตวงการโลจิสติกส์และอีคอมเมิร์ซไทยนั้น ในปัจจุบันมีการขนส่งอยู่ที่วันละ 1.5 ล้าน parcel ถือว่าเยอะ ขณะที่ในญี่ปุ่นส่งวันละ10 ล้าน parcel แต่เนื่องจากประชากรในไทยมีเพียงครึ่งหนึ่งของญี่ปุ่น จึงมองว่า ยังมีโอกาสเติบโตไปได้ถึง 5 ล้าน parcel ต่อวัน นั่นหมายถึงการเติบโตของอีคอมเมิร์ซด้วย


“การจะขายสินค้าแบบเดิม ๆ ให้โตได้ 3 เท่าเป็นเรื่องยาก ฉะนั้นต้องคิดหาสินค้าและบริการใหม่ ๆ เข้ามาเสริมมากขึ้น ต้องมีดีมานด์ครีเอชั่น มาร์เก็ตครีเอชั่นด้วย โดยกระบวนการโลจิสติกส์ก็จะมีส่วนช่วยส่งเสริมการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซด้วย อย่าง SCG มีบริการ Cool TA-Q-BIN การขนส่งสำหรับพัสดุที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ เช่น ของสด อาหารทะเล ผลไม้ พวกของแช่เย็นแช่แข็งต่าง ๆ ซึ่งที่ญี่ปุ่นการส่งของกิน อาหารทะเล ของหวานที่ต้องควบคุมอุณหภูมิมีเยอะมาก จึงเป็นโอกาสมหาศาลของผู้ประกอบการไทยที่จะเติบโต นี่ก็เป็นดีมานด์ครีเอชั่นได้ ฉะนั้นต้องสร้างศักยภาพ นวัตกรรมและความแตกต่าง อยู่ตลอดเวลา”