ชี้จุดอ่อนประมูล “คลื่นมือถือ” แฉราคาเริ่มต้นสูงสุดในโลก !

“เนร่า” ที่ปรึกษาข้ามชาติ ชี้ กสทช.เคาะราคาเริ่มต้นประมูลคลื่น 900 MHz สูงที่สุดในโลก ชำแหละเกณฑ์ประมูล “N-1” ส่งผลจัดสรรคลื่นไร้ประสิทธิภาพ ย้ำปัญหาขาดแคลนคลื่นส่งผลสปีด 4G ไทยยังด้อยกว่ากัมพูชา แถมคนไทยยังจ่ายค่าเน็ตแพงกว่าผู้บริโภคทั้งอาเซียน แนะให้ใช้ราคาเริ่มต้นประมูลเมื่อปี”58 แทน

นายฮานส์ อีลเล ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท เนร่า อีโคโนมิกส์ คอนซัลติ้ง บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกเชี่ยวชาญด้านการออกแบบการประมูล ซึ่งได้รับมอบหมายจากดีแทคให้ศึกษาและวิเคราะห์เกณฑ์การประมูลคลื่น 900 MHz และ 1800 MHz ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่กำลังจะเปิดประชาพิจารณ์ เพื่อจัดการประมูลกลางปี 2561 ระบุว่า มีข้อกังวลสำคัญ 2 ประเด็น คือ 1.การที่ กสทช.ออกแบบการประมูลด้วยใช้ “กฎ N-1” หมายถึงจะเปิดประมูลใบอนุญาตในจำนวนที่น้อยกว่าจำนวนผู้เข้าประมูล 1 ราย ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงว่าจะมีคลื่นถูกนำมาประมูลไม่ครบทั้งหมด และ 2.การกำหนดราคาตั้งต้นการประมูลที่สูงเกินไปเนื่องจากใช้ราคาชนะประมูลคลื่นเมื่อปี 2558 มาเป็นราคาตั้งต้น

“เมื่อ กสทช.กำหนดราคาตั้งต้นประมูลคลื่นสูงมาก ขณะที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไทยมีแค่ 3 รายหลัก จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าจะไม่มีผู้ประมูลหน้าใหม่เข้ามา เมื่อนำกฎ N-1 มาใช้ จึงจะมีคลื่นที่ไม่ถูกนำออกประมูลแน่นอน โดยเฉพาะคลื่นย่าน 1800 MHz หากมีผู้เข้าประมูล 3 ราย ก็จะมีการประมูลแค่ 2 ไลเซนส์”

สำหรับร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นของ กสทช. มีสาระสำคัญ คือ นำคลื่นภายใต้สัมปทานระหว่าง บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ที่จะสิ้นสุดสัมปทาน ก.ย. 2561 ได้แก่ คลื่น 900 MHz ออกประมูล 1 ใบอนุญาต ขนาด 5 MHz ราคาเริ่มต้น 37,988 ล้านบาท คลื่น 1800 MHz ออกประมูล 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 MHz ราคาเริ่มต้น 37,457 ล้านบาท โดยใช้ กฎ N-1 เพื่อกระตุ้นการแข่งขัน

ที่ปรึกษาอาวุโสบริษัทเนร่าฯกล่าวว่า ราคาประมูลคลื่นเมื่อปี 2558 ของไทย ในย่าน 900 MHz ถือว่าแพงที่สุดในโลก สูงกว่าราคาเฉลี่ยจากการประมูลทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2550 ถึง 6 เท่าตัว ส่วนคลื่น 1800 MHz แพงเป็นอันดับ 4 สูงกว่าราคาเฉลี่ยของการประมูลทั่วโลก 3 เท่า

“เหตุที่ราคาพุ่ง เพราะมี แจส โมบาย เข้ามา แต่สุดท้ายก็หาเงินมาชำระไม่ได้ ขณะที่ทรู กับเอไอเอส ยอมจ่ายเพราะไม่มีทางเลือก เนื่องจากสัมปทานสิ้นสุดจึงถือว่าเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ไม่สามารถนำมาเป็นบรรทัดฐานเพื่อเป็นราคาเริ่มต้นประมูลครั้งใหม่ได้ ซึ่งในอินเดียเคยใช้วิธีนี้ สุดท้ายก็ไม่มีใครเข้าประมูลเพราะราคาสูงเกินไป และมูลค่าของตลาดจริง ๆ ไม่ได้สูงขนาดนั้น”

ที่สำคัญคือไทยมีปัญหาขาดแคลนคลื่นในกิจการโทรคมนาคม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยลงทุนขยายโครงข่าย 4G ครอบคลุมถึง 77% ของประชากร แต่ให้บริการด้วยความเร็วเพียง 9 Mbps เทียบกับมาเลเซียมีเครือข่าย 4G ครอบคลุม 72% แต่ สปีด 14 Mbps กัมพูชา 4G 69% สปีดอยู่ที่ 12 Mbps หากไทยมีคลื่นมาเสริมคุณภาพก็จะดีขึ้น

ด้วยข้อจำกัดของขนาดคลื่นและราคาประมูล ส่งผลให้ผู้บริโภคไทยจ่ายค่าบริการแพงกว่าหลายประเทศอาเซียน ตามผลสำรวจของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) เทียบราคาต่อ 1 GB มีแค่เมียนมาที่ค่าบริการสูงกว่าไทย ด้วยราคา 29 เหรียญสหรัฐ ส่วนไทยอยู่ที่ 15 เหรียญสหรัฐ เท่ากับมาเลเซีย สิงคโปร์อยู่ที่ 8 เหรียญ เวียดนาม 7 เหรียญ อินโดนีเซีย 6 เหรียญ และกัมพูชา 5 เหรียญ

“แม้ กสทช.จะกำหนดอัตราค่าบริการ แต่เมื่อต้นทุนสูง การลดราคาจึงเกิดขึ้นยาก ทั้งเอกชนยังใช้เงินในการลงทุนโครงข่ายน้อยลง ที่สำคัญ มีผลวิจัยว่า ยิ่งค่าบริการถูก ผู้บริโภคใช้งานมากขึ้น ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้ของรัฐในรูปแบบภาษีที่มากขึ้น”

ดังนั้น จึงเสนอให้ กสทช.ตั้งราคาเริ่มต้นเท่ากับครั้งก่อน คือคลื่น 900 MHz เริ่มที่ 6,432 ล้านบาท และ 1800 MHz ที่ราคา 19,890 ล้านบาท กำหนดนำคลื่นออกประมูลไลเซนส์ละ 5 MHz ที่สำคัญคือต้องมีการกำหนดแผนการประมูลและใช้คลื่นความถี่อย่างชัดเจน เพราะที่ผ่านมา นอกจากราคาคลื่นในไทยจะแพงแล้ว ยังมีความล่าช้าในการจัดสรรคลื่น อย่างคลื่น 2600 MHz ซึ่งเป็นความถี่ที่มีศักยภาพสูง ปัจจุบันไม่ได้ถูกใช้งาน แต่ กสทช.ก็ไม่สามารถนำออกมาประมูลเพื่อจัดสรรใหม่ได้

นายฮานส์ อีลเล กล่าวย้ำว่า การให้คำแนะนำและข้อเสนอต่าง ๆ ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่บนพื้นฐานของหลักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อว่าได้รับการยอมรับทั่วไป จึงไม่เกี่ยวว่าเป็นการท้วงติงเพราะไม่ได้รับการว่าจ้างจาก กสทช. ในการเตรียมจัดประมูลครั้งนี้