สตาร์ตอัพ “ปัญหา” ทำ “เงิน” : คิวทอง…สตาร์ตอัพ Sam Ole Line Dudes

คอลัมน์ สตาร์ตอัพ “ปัญหา” ทำ “เงิน”
โดย มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ


การยืนเข้าคิวรอซื้ออะไรนาน ๆ เป็นเรื่องน่าเบื่อใช่มั้ยคะ แต่ตราบใดที่ยังมีอะไรใหม่ ๆ มายั่วต่อมกิเลสกันอยู่เรื่อย ตราบนั้นเราก็คงได้เห็นมหกรรมต่อคิวอยู่เคียงคู่มวลมนุษยชาติกันต่อไปค่ะ

ไม่ว่าจะเป็นคิวซื้อตั๋วคอนเสิร์ตนักร้องชื่อดัง คิวซื้อตั๋วบอลแมตช์หยุดโลก คิวซื้อไอโฟน ซื้อขนมยอดฮิตจากเมืองนอก และอะไรอีกมากมาย

สำหรับหลายคนที่ไม่มีความอดทนพอ หรือไม่อยากเสียเวลาไปกับการรอคอย การมีใครสักคนรับจ้างเข้าคิวแทนเราได้ก็คงดีไม่น้อย

บริการที่ว่าเกิดขึ้นแล้วในนิวยอร์ก โดยสตาร์ตอัพเล็ก ๆ ชื่อว่า Sam Ole Line Dudes ก่อตั้งโดย “โรเบิร์ต ซามูเอล” ผู้จับพลัดจับผลูเข้าวงการจองคิวอย่างไม่ตั้งใจในปี 2012 

ตอนแอปเปิลเปิดตัวไอโฟนรุ่นล่าสุด ตอนนั้นเขากำลังตกงาน พอเห็นคนแห่มายืนต่อคิวรอซื้อไอโฟนตั้งแต่ไก่โห่ เลยคิดว่า ไหน ๆ ก็ไม่มีอะไรทำแล้ว รับจ้างต่อคิวดูดีกว่า เผื่อฟลุกได้เงินเข้ากระเป๋านิด ๆ หน่อย ๆ

คิดแล้วก็จัดการโพสต์สมัครผ่านเว็บไซต์หางานชื่อดังไป รอไม่นานก็มีคนติดต่อมา หลังจากนั้นก็มีงานเข้ามาไม่ขาดสาย จนโรเบิร์ตต้องไปชวนเพื่อน ๆ มาร่วมด้วยช่วยกัน คิดราคาคิวละ 100 เหรียญ เบ็ดเสร็จงานนั้น เขาหาเงินได้มากพอซื้อไอโฟนเครื่องแรกให้ตนเอง

นั่นคือที่มาของการตั้งบริษัทเพื่อรับจองคิวโดยเฉพาะ

ช่วงแรก ๆ “โรเบิร์ต” ไม่มั่นใจนักว่าจะมีลูกค้ามากแค่ไหน แต่ทำไปทำมาก็พบว่าเป็นธุรกิจที่เลี้ยงตัวได้ไม่เลว ตอนนี้เขามีพนักงานอิสระ พร้อม stand by กว่า 30 คน ทั้งนักศึกษา เพื่อนบ้าน ผู้สูงอายุ แม่บ้านที่อยากหารายได้พิเศษ

ค่าบริการเริ่มชั่วโมงแรก 25 เหรียญ และอีก 10 เหรียญสำหรับทุกชั่วโมงถัดไป มีเงื่อนไขต้องจองขั้นต่ำอย่างน้อย 2 ชั่วโมง และชาร์จเพิ่มอีกชั่วโมงละ 5 เหรียญในกรณีภูมิอากาศเลวร้าย พนักงานจะได้เงิน 60% ของค่าจ้างที่เหลือเป็นของบริษัท ปัจจุบัน Line Dudes ให้บริการในนิวยอร์กเป็นหลัก และมีลูกค้าเดือนละ 60-100 คิว 

ประเภทของคิวพอแบ่งตามสถิติได้ คือ คิวซื้อเครื่องดื่มและขนมหวาน 40% คิวซื้อบัตรดูละครบรอดเวย์ 30% คิวรอรับสินค้าตัวอย่าง และของแจกฟรี (มีคนเคยจ้างโรเบิร์ต 65 เหรียญ
เพื่อไปรอคิวรับแจกฟรีโปสเตอร์สตาร์ วอร์ส มาแล้ว) 20% ที่เหลือเป็นคิวซื้อตั๋วคอนเสิร์ต รับจองคิวร้านอาหาร และอื่น ๆ

ปริมาณคิวจะเพิ่มขึ้นในช่วงหน้าร้อนที่เป็นฤดูท่องเที่ยว เพราะบริษัทหาเงินจากนักท่องเที่ยวขาจรที่มีเวลาจำกัดแต่อยากสัมผัสประสบการณ์ดี ๆ ในนิวยอร์ก เช่น เข้าชมละครบรอดเวย์หรือดูคอนเสิร์ตศิลปินชื่อดัง หรือตอนที่ตลาดมีอะไรฮิต ๆ ออกมาใหม่ ก็เป็นช่วงโกยเงินสำหรับบริการจองคิวเช่นกัน เช่น ตอนเชฟขนมหวานชื่อดัง “โดมินิค แอนเซล” เปิดตัวขนมใหม่ “โครนัท” มีแฟนคลับแห่มาเข้าคิวรอซื้อแต่เช้า แต่เพราะจำกัดยอดซื้อแค่ 2 ชิ้นต่อคน ทำให้คิวยาวไปอีก งานนี้จัดเป็น “คิวทอง”

สำหรับโรเบิร์ตและคณะ คิดราคาเหมาคิวละ 60 เหรียญ สำหรับการรอซื้อขนม 2 ชิ้นที่ขายก้อนละ 5 เหรียญ ฟังดูแพงเวอร์วังแต่เพื่อความสะดวกสบายก็มีคนพร้อมสู้ราคา

หรือตอนละครเวที Hamilton กำลังมาแรง ก็ทำให้กิจการของโรเบิร์ตขายดีไปด้วย แต่กว่าจะได้เงินก็เหนื่อยไม่น้อย เพราะทีมงานต้องลงทุนมานอนเฝ้าหน้าโรงละครตั้งแต่กลางดึกท่ามกลางอากาศต่ำกว่าศูนย์องศา เพื่อแย่งชิงตั๋วกับผู้คนอีกมากมาย

ด้วยความเป็นห่วงสุขภาพของพนักงาน “โรเบิร์ต” เลยสั่งผลิต เต็นท์เล็ก ๆสีเหลือง เด่นสะดุดตาให้ใช้เป็นที่กันลมกันหนาวได้ระดับหนึ่ง ผลพลอยได้คือเป็นสื่อโฆษณาเคลื่อนที่ให้แบรนด์ไปโดยไม่รู้ตัว

ถึงแม้จะเป็นเถ้าแก่เจ้าของบริษัทแล้ว โรเบิร์ตก็ยังรับคิวเองเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะตอนที่หาคนว่างรับคิวไม่ทัน

เคล็ดลับที่ทำให้กิจการเขาไปได้ดี มาจากการที่เขาเป็นคน “ให้เกียรติ” งาน เขาหมั่นเก็บรายละเอียดและต้องรู้จริงในสิ่งที่ทำ เพื่อจะได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับลูกค้าได้ เช่น ตัวเขาเองดูละคร Hamilton มาแล้ว 7 ครั้ง เข้าชมมิวเซียมยอดฮิตมาแล้วนับไม่ถ้วน และลองกิน “โครนัท” มาแล้วทุกรส หากมีลูกค้าขอคำแนะนำก็สามารถให้ “รีวิว” ได้ไม่แพ้มืออาชีพเลยทีเดียว

การเป็นนักจองคิวที่ดี ต้องมีร่างกายที่แข็งแรง มีมารยาทไม่แซงคิว มีความอดทน และเตรียมความพร้อมรับมือเหตุการณ์เฉพาะหน้า โดยอุปกรณ์ที่นักจองคิวมืออาชีพควรพกติดตัวไว้เสมอ ได้แก่ แบตฯโทรศัพท์สำรอง เก้าอี้พับได้ และถุงนอน และควรหากิจกรรมแก้เบื่อไว้ด้วย เช่น โหลดหนัง หรือเพลง ไว้ดูฆ่าเวลา 

ทุกวันนี้ “โรเบิร์ต” มีความสุขกับการดูแลกิจการเล็ก ๆ ด้วยตนเอง ยังจัดคิวแจกงานเอง มีพนักงานชั่วคราว 2-3 คน คอยรับสายจากลูกค้าและดูแลเว็บไซต์บริษัท จัดเป็นสตาร์ตอัพแนวพอเพียง ต้นทุนต่ำ คู่แข่งไม่เยอะ ไม่เน้นหวือหวา แต่หากทำดี ๆ เลี้ยงตัวเองได้สบาย ๆ เหมือนกันค่ะ