ปัญหาคนไอทีขาดแคลนยังหนัก LINE แก้เกมเทกโอเวอร์สตาร์ตอัพเข้าทีม

ปัญหาคนไอทีขาดแคลนยังหนักหนา “LINE” แก้เกมเทกโอเวอร์สตาร์ตอัพเข้าทีม พร้อมใช้เป็นสะพานเชื่อมนักพัฒนาใหม่ ๆ เสริมทัพต่อเนื่อง ปักธงเบิล 3 เท่าตัวใน 3 ปี ตั้งเป้าปั้นบริการใหม่ ๆ เจาะใจคนไทย

นายอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย เปิดเผยว่า การหาทีมนักพัฒนาไทยเป็นเป้าหมายแรก ๆ ที่ประกาศไว้ของ LINE ประเทศไทย เพื่อพัฒนาบริการใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าคนไทยได้ดียิ่งขึ้น แต่การหาคนเก่งด้านไอทีในประเทศไทยทำได้ยาก ยิ่งหานักพัฒนายิ่งยากขึ้นไปอีก ด้วยบุคลากรที่มีน้อยกว่าความต้องการของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีประสบการณ์พอที่จะพัฒนางานให้บริษัทขนาดใหญ่ได้

“LINE จึงใช้ทางลัดด้วยการซื้อกิจการของ DGM59 สตาร์ตอัพที่เป็นพาร์ตเนอร์กับ LINE ซึ่งมีหน้าที่พัฒนาโซลูชั่นให้ลูกค้าองค์กรของ LINE อยู่แล้ว ให้เข้ามาเป็นพนักงานในตำแหน่งนักพัฒนา ซึ่งเป็นทีมที่เชี่ยวชาญในการสร้างงานที่เชื่อมต่อกับ API ระบบของ LINE อย่างบริการ LINE Beacon ก็เป็นทีมแรก ๆ ที่พัฒนาไปก่อน จึงตัดสินใจเข้าไปลงทุนในบริษัทนี้ เพื่อให้สเกลธุรกิจได้เร็วขึ้น และเป็นสะพานเชื่อมวงการนักพัฒนากับ LINE เพื่อให้มีโอกาสเข้ามาทำงานกับเราในอนาคต ซึ่งหมายถึงโอกาสพัฒนาบริการที่จะมีลูกค้าใช้งานกว่า 41 ล้านราย ที่เป็นความท้าทายและความฝันของนักพัฒนาหลายคน”

โดยตั้งเป้าจะเพิ่มทีมนักพัฒนาใน LINE ประเทศไทยให้เร็วที่สุด จากทีมของ DGM59 ที่มี 20 คนให้เพิ่มเป็น 3 เท่า ช้าที่สุดภายใน 3 ปี แต่บริษัทไม่ได้กำหนดวงเงินที่จะเข้าลงทุนหรือซื้อกิจการมาต่อยอดธุรกิจในแต่ละปี แต่ยืนยันว่าพร้อมจะลงทุนทันทีเมื่อมีโอกาส

เหตุผลที่ต้องการนักพัฒนาเข้ามาเสริมทัพองค์กร เพื่อ 3 เป้าหมายหลัก คือ 1.พัฒนาบริการเดิมที่มีอยู่ให้ดีขึ้น 2.พัฒนาบริการใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าคนไทยโดยเฉพาะ อย่างกรณี LINE MAN ที่เกิดขึ้นในไทยเป็นแห่งแรก ด้วยการวิจัยถึงพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าไทย และ 3.ทีมพัฒนาโกลบอลหวังว่าจะให้เข้าไปช่วยพัฒนาบริการระดับโลกได้ด้วย แต่จะเน้นให้มุ่งที่การพัฒนาบริการในไทยก่อน โดยมองลูกค้าไทยเป็นหลักว่าจะสร้างหรือพัฒนาบริการที่เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันของลูกค้าได้อย่างไร

“ทุกบริการที่เปิดตัวใหม่ มาพร้อมความเสี่ยงที่อาจพลาดได้ ไม่มีใครสามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่การพัฒนาโดยทีมโลคอลที่ตอบโจทย์ลูกค้าไทยและคอยฟังเสียงสะท้อนกลับของลูกค้า และนำกลับมาพัฒนาได้ทันที จะทำให้เกิดบริการที่ลูกค้าประทับใจในที่สุด จากนั้นจึงค่อยขยายฐานผู้ใช้ให้มากพอ ก่อนจะเริ่มคิดหารายได้”

ส่วนของทีมพัฒนาไทยในครึ่งปีหลังจากนี้ เรียกว่างานมีล้นมือ อย่างบริการเดิมที่มีอยู่ ก็มีจุดอ่อนที่กำลังพยายามพัฒนาอยู่ และบริการใหม่ที่จะให้มีความเป็นโลคอลมากขึ้น เพราะวิถีการใช้ชีวิตของแต่ละประเทศต่างกัน อย่างลูกค้าในไทยยังเข้าถึงช่องทางการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตในระดับต่ำ ความนิยมในโซเชียลคอมเมิร์ซที่ฮิตมากกว่าประเทศอื่น จึงต้องพัฒนาบริการใหม่ ๆ ขึ้นมาตอบโจทย์เหล่านี้ ซึ่งในครึ่งปีหลังก็จะเริ่มเห็นบริการใหม่ ๆ ที่พัฒนาโดยทีมนี้ออกมา เสริมบริการพระเอกของ LINE ที่มีอยู่ตอนนี้อย่าง LINE TV LINE TODAY LINE MAN ซึ่ง 2 บริการแรกสามารถหารายได้จากโฆษณาได้แล้ว ด้วยสเกลที่มีขนาดใหญ่พอ

ส่วนประเด็นร้อน ๆ อย่างการกำกับบริการบรอดแคสต์บนอินเทอร์เน็ต (OTT) หรือการเก็บภาษีจากผู้ประกอบการต่างประเทศ นายอริยะกล่าวเพียงว่า ขอให้มีความชัดเจนจากภาครัฐทั้งหมดก่อน แต่ในส่วนการกำกับกิจการ OTT มองว่าเป็นเรื่องดีที่จะได้เข้าไปดูแลปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ที่กระทบกับทั้ง LINE และคู่ค้า ขณะที่การให้บริการของ LINE เป็นการเชื่อมต่อนำพาลูกค้าไปสู่ผู้ประกอบการธุรกิจที่เป็นพาร์ตเนอร์ ซึ่งมีการจ่ายภาษี และทำธุรกิจสอดคล้องกับกฎหมายเป็นหลักพื้นฐานทั่วไปอยู่แล้ว