EU คลอดกฎหมายคุม “บิ๊กเทค”

EU คลอดกฎหมายคุม ‘บิ๊กเทค’
คอลัมน์ : Tech Times 
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

หากคุณเคยหวังว่าวันหนึ่งจะสามารถโหลดแอปอะไรก็ได้นอกเหนือไปจากที่มีใน App Store หรือสามารถแชตข้ามแอปได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องคอยกดสลับแอปไปมา ฝันของคุณอาจใกล้เป็นจริงแล้ว เพราะล่าสุด EU ได้ประกาศร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่มีชื่อว่า Digital Markets Act (DMA) ออกมา ซึ่งหากมีการบังคับใช้เมื่อใด จะเป็นการปลดล็อกขนานใหญ่ในวงการอินเทอร์เน็ตเลยทีเดียว

ภายใต้กฎหมายใหม่นี้ ผู้ให้บริการของแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่เข้าข่ายเป็น “gatekeepers” หรือผู้มีอำนาจเหนือตลาดและมีอิทธิพลต่อการเข้าถึงบริการของผู้บริโภค จะถูกควบคุมไม่ให้ใช้อำนาจของตนในการกีดกันการแข่งขันหรือจำกัดสิทธิของผู้บริโภคในการเข้าถึงบริการอื่น ๆ อีกต่อไป

แม้จะเป็นกฎหมายที่ไว้ใช้เฉพาะในประเทศสมาชิก EU แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่า หากผลออกมาดี ประเทศอื่นที่อยู่นอก EU ก็อาจนำกฎหมายนี้ไปปรับใช้ในประเทศของตนเช่นกัน

บริษัทที่น่าจะได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ หนีไม่พ้นบิ๊กเทค อย่าง Amazon Apple Google และ Facebook เพราะเกณฑ์ที่ใช้กำหนดว่าแพลตฟอร์มไหนเข้าข่ายเป็น “gatekeepers” บ้าง ล้วนชี้เป้าไปที่ขาใหญ่เหล่านี้ทั้งนั้น เช่น ต้องเป็นแพลตฟอร์มที่มีลูกค้า (ใน EU) ไม่น้อยกว่า 45 ล้านคนต่อเดือน ต้องมีรายได้ในตลาด EU ไม่ต่ำกว่า 7.5 พันล้านยูโร และต้องมี market cap ไม่ต่ำกว่า 7.5 หมื่นล้านยูโร

CNN วิเคราะห์ว่า กฎหมายนี้น่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม และจะสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งต่อการแข่งขันในตลาดและการใช้งานของผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ

ในแง่ของการแข่งขัน กฎหมายนี้จะเปิดโอกาสผู้ให้บริการรายเล็กสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น ในส่วนของผู้บริโภคก็น่าจะได้ประโยชน์จากการเข้าถึงบริการที่หลากหลายและมีอิสระมากขึ้น

แต่สำหรับบิ๊กเทคแล้วกฎหมายฉบับนี้หมายถึงการต้องเปลี่ยนแปลงระบบหลายอย่าง รวมถึงโอกาสที่รายได้จะหดหายด้วย

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแรกที่ผู้บริโภคจะสัมผัสได้ชัดเจนที่สุด คือ การใช้งานแอปต่าง ๆ ภายใต้กฎหมายใหม่ ผู้บริโภคสามารถดาวน์โหลดแอปจากที่ไหนก็ได้ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นแอปที่อยู่ใน App Store เท่านั้น ซึ่งน่าจะถูกใจคนที่ต้องการอิสระในการใช้งานแอปที่หลากหลายขึ้น แต่คนที่เลือกใช้ Apple เพราะเชื่อมั่นในความปลอดภัย ก็อาจไม่ค่อยพอใจนัก เพราะการเปิดกว้างแบบนี้ อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของระบบโดยรวม

นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ยังปลดล็อกบรรดานักพัฒนาแอปให้ไม่ต้องใช้ระบบชำระเงินสำหรับ in-App purchase ของเจ้าของแพลตฟอร์มอีกต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากค่าหัวคิว 30% ของเจ้าของแพลตฟอร์มหายวับไปทันที (คิดถึงกรณีพิพาทระหว่าง Epic Games กับ Apple เป็นตัวอย่าง)

การเปลี่ยนแปลงต่อมา คือ ผู้ผลิตมือถือหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ จะไม่สามารถกำหนดซอฟต์แวร์ตั้งต้น อย่างเสิร์ชเอ็นจิ้นกับเว็บบราวเซอร์ได้อีกต่อไป ที่ผ่านมา Google ต้องจ่ายเงินมหาศาลเพื่อให้ Apple กำหนดให้ Google เป็น default browser บนมือถือและอุปกรณ์ต่าง ๆ แต่วันใดที่กฎหมายนี้มีผลบังคับ เอกสิทธิ์นี้จะหายไปทันทีเช่นกัน

อกัสติน เรน่า ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากกลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิผู้บริโภคอย่าง BEUC มองว่า แม้ข้อกำหนดนี้จะไม่ถึงกับทำให้ Google ล่มจม แต่ก็น่าจะช่วยให้บริการรายเล็กได้ลืมตาอ้าปากบ้าง เพราะแค่ 1% ของผู้ใช้งาน Google ก็ถือเป็นจำนวนลูกค้าที่มากมายมหาศาลแล้ว

นอกจากนี้ แพลตฟอร์มที่ให้บริการเสิร์ชเอ็นจิ้นขนาดใหญ่อย่าง Google ยังถูกห้ามไม่ให้เชียร์สินค้าหรือบริการตัวเอง โดยการจัดให้รายชื่อสินค้าหรือบริการของตัวเองอยู่เหนือคู่แข่งในผลการค้นหา ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการค้นหาโรงแรม ตั๋วเครื่องบินเพื่อการท่องเที่ยว ตลอดจนเว็บไซต์ที่ให้บริการจัดอันดับร้านอาหารรายอื่น สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น

นอกจากบริการเสิร์ชเอ็นจิ้นแล้ว เรน่ามองว่าโอกาสที่ผู้คุมกฎจะขยายคำจำกัดความของคำว่า “gatekeeper” ให้ครอบคลุมแพลตฟอร์มอื่นก็มีสูง เช่น Apple อาจถูกจัดให้เป็น “gatekeeper” ภายใต้บริบทนี้ และถูกห้ามไม่ให้เชียร์บริการ Apple Music เหนือคู่แข่งอย่าง Spotify ก็เป็นได้

อีกความเปลี่ยนแปลงที่น่าจะส่งต่อการใช้งานของผู้บริโภคโดยตรง ได้แก่ ความสามารถในการใช้บริการ messaging ข้ามแพลตฟอร์ม เพราะ interoperability คือ หนึ่งในหลักการที่กฎหมายฉบับนี้ให้ความสำคัญ เพื่ออนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถแชตหรือแชร์ไฟล์ข้ามแพลตฟอร์มได้อย่างอิสระ เช่น ผู้ใช้งาน iMessage สามารถวิดีโอคอลหรือส่งไฟล์ไปให้ผู้ใช้งาน WhatsApp หรือ Messenger โดยไม่ต้องสลับแอปไปมา

แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงระดับนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแค่เริ่มต้นก็มีข้อกังวลทั้งเรื่องความปลอดภัยของระบบไปจนถึงการรักษาข้อมูลของผู้บริโภคแล้ว ผู้คุมกฎจึงต้องพิจารณาให้รอบคอบถึงผลกระทบที่จะตามมา ทั้งในเชิงเทคนิค ความปลอดภัย และการแข่งขัน

แต่ในมุมของสิทธิผู้บริโภคแล้ว ถือว่าเป็นการปลดล็อกครั้งสำคัญ เพราะเจ้าของแพลตฟอร์มจะไม่สามารถจำกัดสิทธิในการเข้าถึงบริการอื่นได้อีก นอกจากนี้ ตามหลักการแล้ว ผู้บริโภคยังจะได้ประโยชน์จากการแข่งขันที่เท่าเทียมมากขึ้นด้วย ส่วนผลในทางปฏิบัติจริงจะเป็นอย่างไรต้องรอดูกันต่อไป