ตลาดสมาร์ทโฟนเนื้อหอม แบรนด์เล็กตบเท้าชิงเค้ก 20 ล้านเครื่อง

จะมีโควิด-19 หรือไม่มี สมาร์ทโฟนได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้บริโภคในปัจจุบัน แต่ยิ่งมีโควิดยิ่งเป็นแรงส่งสำคัญทำให้ตลาดสมาร์ทโฟนยังคงขยายตัว และผลักดันให้มีผู้เล่นหน้าใหม่ ๆ หรือหน้าเดิมกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง เช่นแซดทีอี (ZTE) ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมจากจีนที่มีแบรนด์สมาร์ทโฟนหลากหลาย ทั้งในชื่อแซดทีอี, นูเบีย และเรดเมจิก ก็เคยเข้ามาตั้งแต่ปี 2557 ก่อนจะเงียบหายไปแล้วกลับมาอีกครั้ง

บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยการตลาด “ไอดีซี” (IDC) ระบุว่า ภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟนในไทยปี 2564 โตขึ้น 20.9% หรือมียอดขายอยู่ที่ 20.9 ล้านเครื่อง เติบโตสูงสุดในอาเซียน แต่สิ่งที่บรรดาผู้ผลิตต้องเผชิญเหมือนกัน คือ ซัพพลายสินค้าขาด และต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกบางรายต้องชะลอการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่

“แซดทีอี” คัมแบ็กตลาดไทย

นายชอว์น เผย์ ผู้จัดการทั่วไป ธุรกิจโทรศัพท์มือถือประจำประเทศไทย แซดทีอี คอร์ปอเรชัน (ZTE) กล่าวว่า ตลาดสมาร์ทโฟนไทยโตต่อเนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทั้งการซื้อสินค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ การทำธุรกรรมออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นทำให้สมาร์ทโฟนเป็นสิ่งจำเป็น

ประกอบกับการขยายเครือข่าย 5G เป็นอีกแรงกระตุ้นสำคัญทำให้บริษัทหันกลับมาให้ความสำคัญกับตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทยอีกครั้ง สอดรับกับนโยบายบริษัทแม่ที่ต้องการขยายธุรกิจในต่างประเทศเพิ่มขึ้น

“การกลับเข้าสู่ตลาดในครั้งนี้แตกต่างไปจากครั้งก่อน เรามั่นใจมากขึ้นเนื่องจากได้พาร์ตเนอร์ช่วยบุกเบิกไม่ว่าจะเป็นวีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) ที่จะเข้ามาดูแลการขายในภาคใต้, เหนือ, กลาง และตะวันตก ขณะที่วายเอ เซลส์ แอนด์ เซอร์วิสเซส จะดูแลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ทั้งคู่จะทำโลคอลมาร์เก็ตติ้งเต็มรูปแบบเป็นแรงส่งสำคัญที่ทำให้เรากลับมาเติบโตได้อีกครั้ง”

โดยจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ 5 รุ่นรองรับ 5G เริ่มต้นที่ 2,599 บาทถึง 31,990 บาท ครอบคลุมกลุ่มผู้ใช้งานเริ่มต้นไปจนถึงสายเกมมิ่งที่ต้องการเครื่องสเป็กแรง และมีคิวเปิดรุ่นใหม่อีก 3-5 รุ่น รวมปีนี้ไม่ต่ำกว่า 8-10 รุ่น ตั้งเป้าส่วนแบ่งตลาด 2% ในสิ้นปี และ 5% ใน 3 ปี

“การมีพาร์ตเนอร์ที่แข็งแรง โปรดักต์ที่หลากหลาย และการทำตลาดที่เจาะลึกแบบรายภูมิภาคจะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญพาแซดทีอีกลับสู่สมรภูมิสมาร์ทโฟนและเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ”

“ทีซีแอล-โมโตโรล่า” ก็มา

ไม่เฉพาะ “แซดทีอี” ที่กลับมา ปลายปี 2564 ทีซีแอล (TCL) ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีนก็ชูจุดขายเรื่องฟังก์ชั่นจัดเต็มในราคาเบา ๆ

นายสเตฟาน สไตรท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด TCL Communication ระบุว่า มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมไอที กว่า 20 ปี บวกกับประสบการณ์ในการทำตลาดสมาร์ทโฟนในกว่า 50 ประเทศ และเคยเข้ามาทำตลาดในไทยแล้ว ในแบรนด์ Alcatel และ BlackBerry ซึ่งปัจจุบันรวมมาอยู่ใน “ทีซีแอล” ด้วยจุดแข็งทั้งการมีทีมวิจัยพัฒนา และโรงงานผลิต รวมกับพันธมิตรการตลาดอย่างวีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) เชื่อว่าจะเจาะเข้าหาผู้บริโภคได้ครอบคลุมขึ้น

ดีมานด์พุ่งโอกาสแบรนด์เล็ก

เช่นกันกับ “เลอโนโว” ที่นำแบรนด์ “โมโตโรล่า” กลับเข้ามาทำตลาดรอบใหม่ และเมื่อกลาง มี.ค. 2565 เพิ่งเปิดตัว 4 รุ่นใหม่ ซึ่งมีไฮไลต์หลักอยู่ที่ “Motorola Razr 5G” รุ่นฝาพับ ซิกเนเจอร์ของโมโตโรล่า พร้อมกับประกาศขยายช่องทางจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีกและ “เซเว่นอีเลฟเว่น”

ด้าน นายธีริทธิ์ เปาวัลย์ นักวิเคราะห์ตลาด บริษัท ไอดีซี ประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดสมาร์ทโฟนปีนี้ยังทรงตัว แต่มีโอกาสโตกว่าปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด 14% ด้วยว่าการควบรวมระหว่างทรูและดีแทคอาจผลักกดันให้การแข่งขันระยะสั้นรุนแรงขึ้น

ขณะที่ผลกระทบจากสินค้าขาดโดยเฉพาะในกลุ่มสมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้นในครึ่งปีแรกจึงเป็นโอกาสของแบรนด์เล็ก อาทิ โนเกีย, โมโตโรล่า และทีซีแอล เพราะราคาไม่สูงขณะที่ตลาดยังมีความต้องการอีกมาก