เรียนรู้-เตรียมพร้อม ก่อนเข้าสู่ยุค Web 3.0

คอลัมน์ : Pawoot.com
ผู้เขียน : ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

Web 3.0 คืออะไร ต่อไปคุณจะได้ยินมากขึ้น บ่อยขึ้น เรากำลังเข้าสู่เว็บไซต์ในยุคที่ 3 แล้วครับ แต่ก่อนอื่นคงต้องย้อนกลับไปยุคที่ 1 ก่อน

ยุคที่ 1 read mode เป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำ ต้องซื้อชั่วโมงเน็ตหรือแพ็กเกจเน็ต แล้วเอาสายโทรศัพท์ต่อเข้าโมเด็ม กดสายไปที่ ISP ต่อเน็ตถึงจะใช้ได้ ใครทันคงจำบราวเซอร์ชื่อ Netscape ได้

ยุคเว็บไซต์ Web 1.0 ยังไม่ค่อยมีบริการออนไลน์มากนัก หลักการคือมีคนเขียนเว็บไซต์หรือทำเว็บไซต์ขึ้นมา ยูสเซอร์จะเข้าไปอ่านมากกว่า เช่น เข้าไปอ่านบทความ ข่าวสาร ส่งเมสเซส ฯลฯ ซึ่งไม่สามารถไปเขียนข้อความหรือแชร์ได้ เราจะอ่านเป็นหลัก

ยุคที่ 2 สู่ยุคโซเชียลมีเดีย เมื่อเปลี่ยนจาก read mode ที่อ่านเป็นหลัก เริ่มเข้าสู่ยุค 2.0 หรือยุคโซเชียลมีเดีย ยุคนี้ข่าวเริ่มขยับเข้าไปอยู่ในโซเชียลมีเดีย ข้อมูลที่อ่านไม่ใช่แค่ข่าวสารแล้วแต่เป็นสิ่งที่คนอื่นแชร์กัน ไม่ว่าจะในทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ยูทูบ ข้อมูลทั้งหมดของใคร ก็ของคนอื่นทั้งนั้น

ในยุคนี้ทุกคนแชร์เรื่องราวของตนเองได้ ทุกคนเข้ามาอ่านคอนเทนต์กันเองได้ เป็นยุคที่เราเขียนได้ โดยมีโซเชียลมีเดียเป็นแกนสำคัญ

เมื่อเข้าสู่ยุค 3.0 ทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไป เข้าสู่เทคโนโลยี blockchain และเห็นได้ชัดขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คริปโตเคอร์เรนซี ในการซื้อมาขายไปได้

องค์ประกอบการให้บริการในยุค Web 3.0 มีความคล้าย ๆ กัน คือ

1.เว็บยุคนี้ผู้ให้บริการส่วนใหญ่เริ่มมีกระเป๋าเงินออนไลน์ที่เก็บเงินดิจิทัลได้

2.เริ่มเข้าสู่การมีเหรียญ มีโทเค็นของตนเอง

3.ผู้ให้บริการในยุคนี้จะเริ่มมีตัวยืนยัน หรือมี node มีผู้ให้บริการยืนยันในการเก็บข้อมูลของผู้ให้บริการนั้น ๆ กระจายอยู่ทั่วไป

ฉะนั้น ข้อมูลในเว็บยุค 3.0 จะเป็นข้อมูลที่เปิดกว้าง ไม่กระจุกอยู่ที่เดียว แต่จะกระจายออกไป หรือที่เรียกว่า decentralized สิ่งที่ต่างไปคือ การให้บริการจะเปลี่ยนไป เกิดคำว่า X to earn

X คือเมื่อเราทำอะไรบางอย่างไป จะได้เหรียญหรือโทเค็นกลับมาเป็นการตอบแทน เช่น engage to earn ตัวอย่างแรก คือ ปกติอัพโหลดรูปบน TikTok มีคนมากดไลก์กดแชร์มากมาย แต่เราไม่ได้อะไรเลยจึงเกิดโมเดลใหม่ เหมือน TikTok แต่อยู่บน blockchain ชื่อ Chingari (GARI) เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของอินเดียที่อยู่บน blockchain

ยิ่งมีคนมาดูมากเท่าไหร่ก็ยิ่งได้แต้ม หรือโทเค็นกลับมา แบบนี้เรียกว่า engage to earn โทเค็นที่ได้เรียกว่า GARI token และในนั้นจะมีวอลเลตหรือกระเป๋าเงินออนไลน์ ยิ่งมีคนดูมาก ยิ่งมีโทเค็นโอนเข้ามามาก เป็นระบบนิเวศของแพลตฟอร์มนี้

browse to earn หลาย ๆ คนใช้บราวเซอร์ คือ chrome ซึ่งกินแรมมาก ช้า และมีโฆษณา จึงมีอีกบราวเซอร์ชื่อ Brave ที่มีข้างหลัง คือ chrome แต่เป็นแบบ privacy มีการป้องกันเรื่องโฆษณาต่าง ๆ ทำให้เร็วขึ้น เพราะตัดองค์ประกอบเกี่ยวกับการเก็บคุกกี้ หรืออื่น ๆ ออกไป

ที่สำคัญคือในบราวเซอร์มีวอลเลตข้างใน ยิ่งใช้บราวเซอร์มากเท่าไหร่ ยิ่งได้โทเค็นของ Brave ที่ชื่อว่า BAT เป็นการ browse to earn ยิ่งใช้ยิ่งได้โทเค็น การได้โทเค็นทำให้คนติด และอยู่กับบริการนั้น ๆ และโทเค็นเหล่านี้แปรสภาพหรือเปลี่ยนเป็นสกุลเงินคริปโตอื่น ๆ ได้

storage to earn ตอนนี้บริการต่าง ๆ เริ่มเปลี่ยนไป แม้แต่เรื่องการเก็บข้อมูลแล้วได้โทเค็น มีผู้ให้บริการชื่อ Storj.io เป็นผู้ให้บริการคลาวด์ในการเก็บข้อมูล ความแตกต่าง คือมีเทคโนโลยีข้างหลังเป็น blockchain

เมื่ออัพโหลดภาพไปเก็บไว้ เขาจะเอาภาพของเรา encrypt เข้ารหัส แล้วแยกเป็นชิ้น ๆ กระจายเข้าไปเก็บในเซิร์ฟเวอร์ทั่วโลก โดยที่เซิร์ฟเวอร์เหล่านี้ เราเป็นเซิร์ฟเวอร์นั้นได้ด้วย ยิ่งเก็บไฟล์ในเซิร์ฟเวอร์มากเท่าไหร่ สิ่งที่จะได้กลับมา คือโทเค็นจาก storage

หรือ play to earn มีเกมที่เล่นแล้วได้โทเค็น แล้วเปลี่ยนโทเค็นเป็นเงิน หรืออีกเว็บ calo.run เป็นการ burn to earn คือการออกกำลังกาย ทุกครั้งที่เราออกกำลังกายจะได้โทเค็นเป็นเหรียญชื่อ Fat Token ทั้งหมดทำให้เกิดแรงจูงใจในการทำอะไรบางอย่าง

ของคนไทยมีชื่อว่า ryoii.io เป็นเว็บที่ eat and review to earn ยิ่งกินยิ่งรีวิว ยิ่งได้โทเค็นกลับมา หรือร้านอาหารอยากให้คนมากินเยอะ ๆ ก็ทำได้ หรือตอนนี้มีโมเดล learn to earn เรียนจบหลักสูตรแล้วได้โทเค็น และนำโทเค็นไปทำอย่างอื่นต่อได้ เป็นต้น

Web 3.0 เป็นอินฟราสตรักเจอร์หรือเป็นระบบ เราสร้างระบบขึ้นมาได้แต่เซิร์ฟเวอร์ข้อมูลไม่ได้เก็บไว้ที่เรา และสามารถเรียกใครมาร่วมทำงานกับเราก็ได้ เมื่อก่อนเราอาจทำไปแบบฟรี ๆ แต่ในโลกของเว็บยุคใหม่ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามจะได้โทเค็นหรือแต้มกลับมา ฉะนั้นจะมีแรงจูงใจ จากที่ไม่ได้อะไรเลย คอนเทนต์ทุกอย่างในยุค 3.0 ทำแล้วได้กลับมา

ที่สำคัญ ข้อมูลทุกอย่างที่ให้ไป ไม่ได้เก็บรวมอยู่ศูนย์กลาง เว็บยุคใหม่ข้อมูลจะนำไปเก็บในเน็ตเวิร์กของ blockchain นั่นหมายถึง เมื่อไม่อยากให้ข้อมูลนั้นแล้ว เมื่อเรากดปุ่ม ข้อมูลนั้นจะดึงกลับมาหมด เพราะทุกข้อมูลมีการเข้ารหัสหรือมีกุญแจของเรา เมื่อเราปิดไม่มีใครเข้าไปหาข้อมูลได้ ฉะนั้นความเป็นส่วนตัวจะมีสูงมาก

ตอนนี้แนวโน้มของนักลงทุนเริ่มสนใจ เพราะโลกของเทคโนโลยีเริ่มปรับเปลี่ยนจาก 2.0 ในโลกของโซเชียลมีเดียทุกคนกำลังพูดเรื่องเดียวกัน คือ privacy อยู่ที่ไหน เมื่อเข้าสู่ยุคต่อไปข้อมูลทุกอย่างอยู่ในมือเรา เพราะเราเป็นคนถือกุญแจหรือพาสเวิร์ดในการจะปล่อยหรือปิดข้อมูลก็ได้


จะเกิดบิสซิเนสโมเดลมากมายใน Web 3.0 คนที่ออกมาพูดคนแรก ๆ คือ คุณท๊อป-จิรายุส แห่งบิทคับ บอกว่า พยายามสร้างอินฟราสตรักเจอร์ของประเทศไทยใหม่ด้วย Web 3.0 มีคนไทยหลายคนพยายามสร้างเน็ตเวิร์กตรงนี้ ซึ่งเหมือนเป็นอินเทอร์เน็ตในยุคต่อไป ต้องพยายามทำความรู้จัก และศึกษาเพิ่มขึ้น เพราะคำว่า Web 3.0 จะแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งกลายเป็นเรื่องปกติ