“มือถือ” ตามรอย “ทีวีดิจิทัล” ลุ้น ม.44 ยืดจ่ายค่าคลื่น-คืนช่อง

เป็นที่ฮือฮาอีกครั้งเมื่อ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ได้รับหนังสือจาก “คสช.” หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ส่งถึงสำนักงาน กสทช. เมื่อ 14 ธ.ค. 2560 ขอให้บอร์ด กสทช.ทำความเห็นประกอบการพิจารณาเรื่องการขอขยายเวลาชำระเงินค่าประมูลคลื่น 900 MHz ตามที่บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และ บริษัท แอดวานซ์ ไวเลส เน็ตเวิร์ค จำกัด (AWN) ผู้ชนะประมูลคลื่น ส่งถึง คสช.

“ทรู-AWN” ขอยืดจ่ายค่าคลื่น

“ทรูมูฟ และ AWN ส่งเรื่องตรงไปถึง คสช.เพื่อขอขยายเวลาจ่ายเงินประมูลงวดที่ 4 ซึ่งต้องจ่ายในปี 2562 เข้าใจว่า เพราะโอเปอเรเตอร์อาจทราบว่าเป็นเรื่องที่นอกเหนืออำนาจ กสทช.จึงส่งเรื่องไป คสช. ก็จะนำเรื่องเข้าบอร์ด กสทช. 27 ธ.ค.เพื่อให้ลงมติสรุปความเห็นตอบกลับไปที่ คสช.ให้เร็วที่สุด”

สาเหตุที่ทั้ง 2 บริษัทขอขยายเวลานั้น “เลขาธิการ กสทช.” เปิดเผยว่า ทรูมูฟ เอช ต้องจ่ายเงิน 60,218 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 4,215.26 ล้านบาท ส่วน AWN ต้องจ่าย 59,574 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 4,170.18 ล้านบาท โดยทั้งคู่ระบุว่า การประมูลมีเหตุการณ์ไม่ปกติจากกรณี แจส โมบาย ทิ้งประมูล และเพื่อให้มีเงินทุนโครงข่ายมากขึ้น

“เอกชนไม่ได้เบี้ยวแต่ขอเวลาหายใจ แบบเดียวกับที่ คสช.เคยให้ทีวีดิจิทัลขยายเวลาได้ คือ เพิ่มงวดจากที่ต้องจ่ายรวดเดียว 6 หมื่นกว่าล้าน ขยายเป็น 5 งวด 5 ปี จ่ายดอกเบี้ยให้เหมือนที่ช่องทีวีดิจิทัลจ่าย ฉะนั้นรัฐไม่ได้เสียประโยชน์”

หาก คสช.อนุมัติโดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 กสทช.ก็จะแก้ไขเงื่อนไขการชำระเงินการประมูลคลื่นรอบใหม่ที่จะมีกลางปี 2561 ให้เหมือนกันด้วย

อ้างเตรียมเข้าประมูลคลื่นใหม่

แหล่งข่าวจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ต้องขอขยายเวลาชำระเงินประมูลเฉพาะคลื่น 900 MHz งวดที่ 4 เพราะวงเงินที่สูงมาก ประกอบกับหากบริษัทยืดเวลาจ่ายเงินได้ก็จะทำให้สามารถประเมินแผนการเข้าประมูลคลื่นใหม่ และทำให้การวางแผนการลงทุนโครงข่ายคล่องตัวขึ้น จึงยื่นขอ คสช.เพื่อให้พิจารณาในช่วงนี้ ขณะที่การชำระเงินประมูลคลื่น 1800 MHz ยังอยู่ในวิสัยที่ชำระได้โดยไม่กระทบแผนการลงทุนอื่น ๆ

ด้านแหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่มทรูเริ่มเรื่องที่จะขอให้ คสช.พิจารณา ทำให้เอไอเอสเสนอขอขยายเวลาไปพร้อมกัน โดยเฉพาะคลื่น 900 MHz เนื่องจากการทิ้งประมูลของแจสฯ และค่าประมูลงวดสุดท้ายสูงระดับ 6 หมื่นล้านบาท มีเหตุผลที่หนักแน่นเพียงพอที่น่าจะทำให้ คสช.อนุมัติให้เหมือนที่เคยช่วยเหลือกิจการช่องทีวีดิจิทัล

“กสทช.เตรียมจัดประมูลคลื่น 900 และ 1800 MHz รอบใหม่ด้วย ทั้ง 2 บริษัทพยายามชี้ให้ คสช.เห็นว่า ถ้าต้องจ่ายรวดเดียว 6 หมื่นกว่าล้านบาทในปี 2562 คงไม่มีใครมีเงินเข้าประมูลคลื่นรอบใหม่ได้ รวมถึงการลงทุนโครงข่ายเพิ่ม และกระทบสถานะการเงินบริษัท และที่สำคัญคือ หากรอถึงกำหนดจ่ายเงินงวดที่ 4 ปี 2562 อาจไม่ใช่รัฐบาลที่จะแก้เงื่อนไขนี้ได้ด้วย ม.44 แล้ว

“ดีแทค” ชงจ่ายตามอายุไลเซนส์

แหล่งข่าวจาก บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการจ่ายค่าคลื่นงวดสุดท้ายกว่า 6 หมื่นล้านบาท เป็นเรื่องหนักหนาของทุกบริษัท ดีแทคจึงเสนอให้ กสทช.ปรับเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าประมูลคลื่นให้เป็นงวดเท่ากันทุกปี ตลอดอายุใบอนุญาต 15 ปี แม้จะใกล้เคียงกับการให้สัมปทานมาก แต่เมื่อ กสทช.ต้องการขายคลื่นในราคาสูง ก็จำเป็นต้องพิจารณาเงื่อนไขดังกล่าว เพราะภาระเอกชนไม่ได้มีแค่ค่าคลื่น

รายงานข่าวแจ้งว่า ในเวทีประชาพิจารณ์ร่างเกณฑ์ประมูลคลื่น 900 MHz และ 1800 MHz (18 ธ.ค.) ช่วงคลื่นใต้สัมปทานดีแทคที่ กสทช.จะจัดประมูลใน พ.ค. 2561 นั้น ตัวแทน “ดีแทค” เสนอความเห็นมากที่สุด คู่คี่มากับตัวแทนจากกลุ่มทรู

เสนอซอยคลื่น-ยกเลิก N-1

โดยตัวแทน “ดีแทค” และบริษัทที่ปรึกษาเนร่า ระบุว่า ราคาเริ่มต้นประมูลคลื่นสูงเกินไป และเสนอให้กลับไปใช้ราคาเริ่มต้นเท่ากับการประมูลคลื่น 900 MHz และ 1800 MHz ปี 2558 และปี 2559 พร้อมเสนอให้ยกเลิกเงื่อนไข N-1 ที่จัดสรรใบอนุญาตน้อยกว่าจำนวนผู้เข้าประมูล 1 ราย โดยระบุว่าทำให้การจัดสรรคลื่นไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งที่ผู้ประกอบการขาดแคลนคลื่นทั้งเสนอให้กำหนดบล็อกคลื่นให้เหลือ 5 MHz ซึ่งจะทำให้คลื่น 1800 MHz ได้ 9 ไลเซนส์ และกำหนดเพดานถือครองคลื่นไว้ที่ 30 MHz เพื่อให้แต่ละรายเลือกประมูลได้ตามงบประมาณ

ขณะที่ตัวแทนกลุ่มทรูให้ความสำคัญกับการสลับเรียงคลื่นของผู้ชนะการประมูล ที่จะช่วยให้เกิดการใช้คลื่นได้มีประสิทธิภาพสูงสุด และกังวลเรื่องการกวนกันของคลื่น 900 MHz กับคลื่นส่วนที่ กสทช.จัดสรรให้การรถไฟแห่งประเทศไทยนำไปใช้กับระบบอาณัติสัญญาณสื่อสารของรถไฟความเร็วสูง และคลื่น 850 MHz ที่ปัจจุบัน บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) ใช้อยู่ และเสนอว่า กสทช.ควรระบุให้ชัดเจนว่า ใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการป้องกันการกวนกันของสัญญาณ

ด้าน “วรัญ สมอไทย” ตัวแทนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อได้รับการจัดสรรคลื่นเพียง 5 MHz จำเป็นต้องมีเงินลงทุนสำหรับติดตั้งฟิวเตอร์เพื่อกรองคลื่นความถี่ ป้องกันการรบกวนกันของคลื่นด้วย ซึ่งถ้าได้คลื่น 10 MHz จะไม่ต้องลงทุนเรื่องนี้ หาก กสทช.จะให้แค่ 5 MHz ควรพิจารณาการอุดหนุนการติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้ด้วย

ประมูลคลื่นใหม่ 4 ใบอนุญาต

ขณะที่ “ปรากรณ์ สิริพรโอภาส” ทนายความอิสระ กล่าวว่า กสทช.ชุดปัจจุบันอยู่ในสถานะรักษาการจึงควรพิจารณาข้อกฎหมายให้ถี่ถ้วน เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยปี 2553 ที่สประมูลต้องยกเลิกไป

ฟาก “เลขาธิการ กสทช.” ยืนยันว่า ได้หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับอำนาจ กสทช.คู่ไปกับการเตรียมการจัดประมูล เชื่อว่า กสทช.มีอำนาจจัดเตรียมการไว้ก่อนได้ เนื่องจากแต่ละกระบวนการต้องใช้เวลา ขณะที่การจัดประมูลล่วงหน้าทำให้ผู้บริโภคได้ใช้งานต่อเนื่อง ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการเยียวยาหลังสิ้นสุดสัมปทาน ซึ่งปัจจุบันยังมีปัญหาในการเรียกเก็บเงินรายได้เข้ารัฐ

“ต้องดูสถานการณ์วันต่อวัน ยังไม่รู้ว่า กสทช.ชุดใหม่จะมาเมื่อใด บอร์ดชุดนี้จึงต้องทำงานไปก่อน หาก สนช.เลือกชุดใหม่เสร็จแล้ว เชื่อว่าบอร์ดจะพิจารณาได้เองว่าจะชะลองานที่ทำอยู่เมื่อใด”

สำหรับร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นของ กสทช. มีสาระสำคัญ คือ คลื่น 900 MHz นำออกประมูล 1 ใบอนุญาต ขนาด 5 MHz ราคาเริ่มต้น 37,988 ล้านบาท อายุใบอนุญาต 15 ปี ส่วน 1800 MHz ประมูล 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 MHz เริ่มต้น 37,457 ล้านบาท อายุใบอนุญาต 15 ปีเช่นกัน

ทีวีดิจิทัลลุ้นของขวัญปีใหม่

ด้านความคืบหน้าในการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เลขาธิการ กสทช.เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ คสช. ทำหนังสือขอความเห็นจาก สำนักงาน กสทช.ประกอบการพิจารณามาตรการช่วยเหลือช่องทีวีดิจิทัลเพิ่มเติม ซึ่ง กสทช.ทำหนังสือตอบกลับไปแล้ว คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้

“ประเด็นที่ คสช.ถามมา มีเรื่องที่ผู้ประกอบการขอให้คืนช่องเพื่อเลิกประกอบกิจการ ซึ่งตามเงื่อนไขเดิมหากจะคืน ต้องชำระเงินประมูลที่เหลือด้วย ก็มองว่าเมื่อผู้ประกอบการอยากคืนช่องคือ ไม่อยากขาดทุนแล้ว ขอตายตรงนี้แทน แต่ด้วยเงื่อนไขของ กสทช. ตัวตายแล้วก็ยังต้องหยิบให้ขึ้นมาตายซ้ำอีกด้วยการจ่ายเงินประมูล ทำให้เป็นปัญหายืดเยื้อ เชื่อว่าถ้า คสช.อนุมัติ จะเป็นการมอบของขวัญให้อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล”