พลิกวิกฤตโควิด อัพสปีดธุรกิจ ดี มันนี่ ฝ่ากระแสฟินเทค

อัศวิน พละพงศ์พานิช

การแพร่ระบาดโควิด-19 และกระแสดิจิทัลดิสรัปชั่น (digital disruption) ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้ตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมาภาคธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างรวดเร็วเพื่อหาทางรอดและแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ท่ามกลางบริบททางธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

สตาร์ตอัพฟินเทคสัญชาติไทย “ดี มันนี่” ก็เป็นอีกรายที่ใช้จังหวะนี้เปลี่ยนแปลงตนเอง

“อัศวิน พละพงศ์พานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดี มันนี่ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจฟินเทคและแพลตฟอร์มด้านธุรกรรมการเงินข้ามประเทศ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระแสดิจิทัลดิสรัปชั่นเป็นความท้าทายแรที่เข้ามากระแทกธุรกิจ เดิมให้บริการบัตรโทรศัพท์โทร.ต่างประเทศ (VoIP)

ภายใต้บริษัท สวัสดีช้อป จำกัด ดำเนินการมาเกือบ 15 ปี แต่เมื่อปี 2557-2562 เริ่มเห็นบริการใหม่ ๆ เกิดขึ้น ทั้ง Skype, WhatsApp, Line ทำให้บริการเดิมได้รับความนิยมลดลงจึงพัฒนา “ดี มันนี่”

“ช่วงเวลานั้นหลายบริษัทที่ทำธุรกิจโทร.ต่างประเทศได้รับผลกระทบกันหมด เราเองก็เริ่มมองหาธุรกิจอื่น เพื่อสร้างโอกาสใหม่ และพบว่า ฐานลูกค้าที่ทำอยู่กับธุรกิจโอนเงินข้ามประเทศ เป็นฐานลูกค้าเดียวกัน คือ กลุ่มที่เคยติดต่อสื่อสารไปต่างประเทศ”

ดิจิทัลดิสรัปต์-โควิด เปลี่ยนธุรกิจ

ขณะที่การพัฒนาบริการด้านการเงินรูปแบบใหม่ หรือฟินเทค (FinancialTechnology) ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้เวลาในการพัฒนาระบบหลายปีจนมีระบบของตัวเองขึ้น ภายใต้ชื่อแกรนด์เซ็นทรัล (Grand Central) ซึ่งเป็นตัวประมวลผลการชำระเงินไป-กลับระหว่างประเทศ

ซึ่งปัจจุบันให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศได้กว่า 150 ประเทศทั่วโลก และใช้เวลาอีก 3-4 ปีในการขอใบอนุญาตให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment service license)

และใบอนุญาตให้แลกเงินที่ได้รับอนุญาต (authorized money changer license) รวมถึงใบอนุญาตชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จากธนาคารแห่งประเทศไทย

ล่าสุดอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจบริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Money เพิ่มเติมด้วย เพื่อให้บริการด้านการเงินของดี มันนี่ครบวงจรขึ้น

“จุดแข็งบริการของดี มันนี่ เข้ามาปิดจุดอ่อนของการโอนเงินระหว่างประเทศ เพราะคิดค่าธรรมเนียมอัตราเดียว บุคคลทั่วไปคิด 125 บาท ไม่ว่าจะโอนเงินไปประเทศใด อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ไม่มีการเปลี่ยนระหว่างการโอน เมื่อโอนเงินแล้วยอดเงินต้นทางและปลายทางจะเท่ากัน ไม่มีการเพิ่ม หรือลดตามความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน”

อย่างไรก็ตาม หลังจากพัฒนาบริการใหม่เสร็จ ก็ต้องเผชิญกับอีกปัญหาใหญ่ คือ การระบาดของโควิด-19 เมื่อปลายปี 2562 และยังคงลากยาวต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2563 เป็นช่วงที่บริษัทได้รับผลกระทบหนัก เพราะเป็นสถานการณ์ที่ทุกธุรกิจ รวมถึงลูกค้าเองก็ไม่เคยเจอ ทำให้ทุกคนตกใจ

“ตอนนั้นทุกอย่างหยุดหมด เราก็หยุดด้วย แต่หลังจากนั้นสถานการณ์ต่าง ๆ ก็เริ่มคลี่คลาย การให้บริการโอนเงินต่างประเทศเริ่มกลับมา แต่การกลับมาครั้งนี้ ถือเป็นปัจจัยบวกที่กระตุ้นให้การใช้บริการดี มันนี่เติบโต”

พฤติกรรมเปลี่ยน โอนถี่-เร็วขึ้น

“อัศวิน” กล่าวว่า ในแง่พฤติกรรมการโอนเงินข้ามประเทศของลูกค้าก็เปลี่ยนไป ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งลูกค้าขาเข้าและขาออก โดยกลุ่มลูกค้าขาเข้า คือ กลุ่มคนไทยที่ทำงานต่างประเทศ และต้องโอนเงินกลับมาประเทศไทย

กลุ่มนี้ต้องการความสะดวก รวดเร็วมากขึ้น และลดการใช้เงินสดลงอย่างเห็นได้ชัด ด้วยการทำธุรกรรมผ่านออนไลน์ทั้งหมด รวมถึงความถี่ในการโอนเงินก็เพิ่มขึ้น จากเดิมที่เฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง ก็อยู่ที่สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เนื่องจากไม่สามารถเดินทางได้และแรงงานไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่สามารถเดินทางกลับเข้าประเทศไทย

ส่วนลูกค้าขาออก หรือกลุ่มคนต่างประเทศที่ทำงานในไทย ก็มีพฤติกรรมการโอนเงินข้ามประเทศถี่ขึ้น เนื่องจากไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้เช่นกัน

เฟ้นเทคทาเลนต์ข้ามประเทศ

กระทั่งเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย สิ่งที่หลายบริษัททำ คือ การปรับเปลี่ยนธุรกิจของตัวเองใหม่ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้จำนวนความต้องการแรงงานด้าน Tech โดยเฉพาะสาย FinTech เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปกติแรงงานด้านนี้ก็ค่อนข้างหายากอยู่แล้ว ซึ่งบริษัทเองก็เปิดกว้างสำหรับแรงงานสาย Tech ที่มาจากทั่วโลกเช่นกัน

“โควิดความต้องการแรงงานด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ซึ่งในไทยก็หายากอยู่แล้ว เมื่อเกิดโควิด ทุกธุรกิจก็พยายามพาตัวเองขึ้นมาอยู่บนออนไลน์ มีการสร้างแอปพลิเคชั่น สร้างบริการใหม่ ๆ เพื่อสร้างรายได้จากช่องทางออนไลน์ รองรับธุรกิจใหม่ ๆ บริษัทแก้ปัญหานี้ด้วยการจ้างฟรีแลนซ์ด้าน Tech ในต่างประเทศให้มาพัฒนาบริการใหม่ ๆ”

เติมบริการ-ขยายสาขา ตปท.

สำหรับทิศทางธุรกิจในปีนี้ จะเดินหน้าขยายธุรกิจ 3 ส่วน ได้แก่ 1.การวางตัวเองเป็นเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่จะนำบริการ และระบบที่มีเข้าไปเชื่อมต่อกับธนาคาร กลุ่มฟินเทค สตาร์ตอัพ ผู้ให้บริการวอลเลตรายใหม่ ตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มพาร์ตเนอร์ไม่ต่ำกว่า 20 ราย

ตามด้วย 2.การขยายธุรกิจไปต่างประเทศ โดยอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด โดยเฉพาะด้านกฎหมายการเปิดให้บริการฟินเทคในแต่ละประเทศ ในเบื้องต้นตั้งเป้าว่าจะเปิดให้บริการให้ได้อย่างน้อย 1 ประเทศก่อนในปีนี้ และ 3.พัฒนาฟีเจอร์และบริการทางการเงินใหม่ ๆ ต่อเนื่อง

“การพัฒนาเทคโนโลยี โซลูชั่นต่าง ๆ ขึ้นเอง ทำให้ต้นทุนถูกลง ปัจจุบันมีลูกค้า 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มลูกค้าทั่วไป คือ กลุ่มต่างชาติที่ต้องการโอนเงินข้ามประเทศ

2.กลุ่มนิติบุคคล บริษัทขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และ 3.กลุ่มพาร์ตเนอร์ ซึ่งบริษัทให้บริการเทคโนโลยีกับพาร์ตเนอร์ เช่น ธนาคารในต่างประเทศ สตาร์ตอัพกลุ่มฟินเทคในต่างประเทศ”

“อัศวิน” ย้ำว่า ปัจจุบันแม้จำนวนผู้ให้บริการฟินเทคในไทยจะเพิ่มจำนวนขึ้น แต่บริษัทไม่ได้มองว่าเป็นคู่แข่งขัน เนื่องจากวางตัวเองเป็นผู้พัฒนาระบบที่เปิดกว้างให้ผู้ให้บริการฟินเทค ธนาคาร ผู้ให้บริการวอลเลต เข้ามาเชื่อมต่อระบบของตัวเอง เสมือนเป็นระบบหลังบ้านให้ โดยผู้เข้ามาใช้บริการสามารถขยายฐานลูกค้าได้ทันที่ ไม่ต้องเสียเวลาในการพัฒนาระบบและขอใบอนุญาต

“แม้บริษัทจะสตาร์ตอัพกลุ่มฟินเทค และยังต้องพัฒนาระบบและเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่มีแผนจะเปิดระดมทุนจากนักลงทุนในช่วงเวลานี้ เพราะยังมีเม็ดเงินเพียงพอสำหรับการพัฒนาบริการใหม่อยู่”