Work from anywhere !?

คอลัมน์ : Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

แม้กระทั่งในวงการเทคโนโลยี ชีวิตการทำงานหลัง “โควิด” ก็ยังคงเป็นประเด็นให้ถกเถียงไม่รู้จบ ว่าควรจะเอาอย่างไรดี ระหว่างปล่อยให้พนักงานทำงานที่ไหนก็ได้ หรือจะให้กลับเข้าออฟฟิศเหมือนเดิม

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีอย่างน้อย 2 บริษัทบิ๊กเทค ที่มีนโยบายเรื่องนี้แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว

นั่นคือ Apple กับ Airbnb

โดย Apple พี่ใหญ่แห่งวงการสมาร์ทโฟน มีนโยบายให้พนักงานกลับเข้าทำงานที่ออฟฟิศอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ซึ่งน่าจะเริ่มมีผลราวปลายเดือนนี้ ในขณะที่ Airbnb ประกาศว่า นับตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป พนักงานสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ “ตลอดไป”

หากดูจากปฏิกิริยาของพนักงานบางส่วนของ Apple ที่รวมตัวกันภายใต้ชื่อกลุ่ม “Apple Together” ที่ออกมาคัดค้านนโยบายของบริษัทก็พอจะเดาได้ว่า ประเด็นนี้ยังน่าจะเป็นประเด็นร้อนต่อไประหว่างผู้บริหารกับพนักงาน

หนึ่งในข้อเรียกร้องของ Apple Together คือ ต้องการให้พนักงานมีสิทธิในการ “ตัดสินใจ” ร่วมกับทีม และหัวหน้างาน ว่าควรจะทำงานที่ไหน อย่างไร ที่ส่งผลดีต่อทั้งบริษัทและตัวพนักงานเอง

พนักงานกลุ่มนี้บอกว่า นโยบายการทำงานที่บังคับให้พนักงานต้องเข้าออฟฟิศนั้น “ย้อนแย้ง” กับคำโฆษณาที่บริษัทเที่ยวป่าวประกาศต่อบุคคลภายนอกว่า สินค้าและบริการของบริษัทนั้น “ส่งเสริม” การทำงานแบบ “work from anywhere”

ตัดภาพมาที่ Airbnb พนักงานไม่ต้องเรียกร้องอะไรเลย เพราะ “ไบรอัน เชสกี้” ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ลงมือเขียนจดหมายหาพนักงานด้วยตัวเอง ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า พนักงานสามารถเลือกทำงานแบบ “รีโมต” หรือจากที่ไหนก็ได้ โดยไม่ต้องกลับเข้าออฟฟิศอีกต่อไป (มีเพียงบางตำแหน่งที่ยังจำเป็นต้องเข้าออฟฟิศอยู่)

ใครที่กังวลว่าจะโดนลดค่าแรงไปด้วยหรือเปล่า ก็สบายใจได้ เพราะนโยบายนี้ไม่มีผลต่อค่าจ้าง โดยพนักงานยังคงได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเดิมทุกประการ แม้จะตัดสินใจย้ายไปอยู่เมืองที่มีค่าครองชีพน้อยกว่าก็ตาม

“ไบรอัน” มองว่า นโยบายนี้จะช่วยดึงให้คนเก่ง ๆ ที่ต้องการความ “ยืดหยุ่น” ในการทำงาน ตัดสินใจมาร่วมงานกับบริษัทมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยรักษาฐานพนักงานเดิมที่มีฝีมือ ให้อยู่กับบริษัทไปอีกนาน

นอกจากนี้ เขายังเชื่อว่าเทรนด์การท่องเที่ยวที่กำลังมาแรงในปีนี้ คือการเดินทางระยะยาวเป็นแรมเดือน หรือหลาย ๆ เดือน และเขาอยากให้พนักงานมี “ประสบการณ์” นี้ด้วยตัวเอง จะได้รู้ว่าต้องปรับปรุงบริการให้ดีขึ้นได้อย่างไร

จากตัวเลขลูกค้าระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน ปี 2021 ของ Airbnb พบว่า กว่าครึ่งของยอดจองเป็นการเข้าพักมากกว่า 1 สัปดาห์ขึ้นไป และ 1 ใน 5 ของลูกค้าเป็นการเข้าพักที่นานกว่า 1 เดือนขึ้นไป โดยตลอดทั้งปีมีลูกค้ากว่า 1 แสนราย ที่เข้าพักในแต่ละที่นานเกิน 3 เดือนขึ้นไป

ไบรอัน ถือเป็นผู้ที่โปรโมตการทำงานแบบ remote work ระดับตัวพ่อคนหนึ่ง

นอกจากเป็นโต้โผออกนโยบาย remote work แล้ว เขายังทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ด้วยการเดินสายไปทั่วประเทศเพื่อตระเวนเข้าเช็กอินเข้าพักตามบ้านพักของ Airbnb ตามเมืองต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยจะอยู่ที่ละ 2-3 สัปดาห์ ก่อนจะย้ายที่พักและเปลี่ยนเมืองไปเรื่อย ๆ ระหว่างนั้นก็ยังทำหน้าที่ ซีอีโอ ได้เหมือนปกติ เพียงแต่ไม่เข้าออฟฟิศเท่านั้นเอง

นอกจากให้พนักงานทำงานจากเมืองไหนก็ได้ในอเมริกาแล้ว เขายังสนับสนุนให้พนักงานได้เดินทางไปต่างประเทศด้วย โดยพนักงานสามารถเลือกไปทำงานที่ไหนก็ได้ ใน 170 ประเทศที่บริษัทมีเครือข่ายอยู่ และสามารถทำงานจากประเทศนั้นได้สูงสุด 90 วันต่อปี

ปัจจุบัน Airbnb มีพนักงานประมาณ 6,000 คน โดยครึ่งหนึ่งอยู่ในอเมริกา

ไบรอันเชื่อว่า โควิดทำให้คนเรียนรู้ว่าตัวเองสามารถใช้ชีวิต หรือทำงานจากที่ไหนก็ได้

Airbnb ได้พิสูจน์มาแล้วว่าสามารถอยู่รอดมาได้ แม้จะต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากก็ตาม ซึ่งไบรอันยกความดีความชอบให้กับความสามารถในการปรับตัวของบริษัท กับความ “ยืดหยุ่น” จากการทำงานออนไลน์

2 ปีที่ผ่านมา บริษัทแทบจะต้องยกเครื่องใหม่ทั้งหมดเพื่อรับมือโควิดขณะที่ต้องทำ IPO ในปี 2020 ตามแผนทั้ง ๆ ที่เป็นปีที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากโควิดมากที่สุด

แต่หลังจากปรับโครงสร้างและตัดธุรกิจที่ไม่จำเป็นออกไป บริษัทสามารถกลับมาตั้งหลักได้อีกครั้ง โดยเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา Airbnb ประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกด้วยยอดรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากปี 2019 หรือก่อนหน้าที่จะมีโควิดถึง 80% ซึ่งไบรอันย้ำว่า ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นระหว่างที่พนักงานส่วนใหญ่ไม่ได้เข้ามาทำงานในออฟฟิศเลย