องค์กรในไทย เผชิญ 3 ความท้าทาย ในการปรับตัวสู่ดิจิทัล

“ดีลอยท์” เผยผลสำรวจการปรับตัวสู่ดิจิทัลขององค์กรในไทย เผชิญ 3 ความท้าทาย

วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ดีลอยท์ ประเทศไทย ได้ทำการสำรวจ Digital Transformation ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2563-2565) เพื่อศึกษาทัศนคติขององค์กรต่อการปรับตัวสู่ดิจิทัล ในปี 2563 และ 2564 สำหรับปี 2565 เป็นปีที่การปรับตัวสู่ดิจิทัลของบริษัทอยู่ในขั้นตอนที่สำคัญ

โดยพบว่าธุรกิจทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจาก Digital Disruption ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และนำดิจิทัลมาใช้ในองค์กรเพิ่มขึ้น เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ความเข้าใจมุมมองและแนวโน้มการปรับองค์กรไปสู่ดิจิทัลไปใช้เป็นสิ่งสำคัญ ทำให้บริษัทในประเทศไทยเข้าใจตำแหน่งของตนเองเมื่อเปรียบเทียบกับตลาด

จากการวิเคราะห์ผลสำรวจในปี 2565 พบว่า 41% ของบริษัทมองว่าการปรับองค์กรสู่ดิจิทัลส่งผลกระทบต่อธุรกิจในระดับปานกลาง และค่อนข้างเป็นกลไกในการเอาตัวรอดเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่กำลังเผชิญและเป็นเครื่องมือในการสร้างความแตกต่างในอนาคต

การนำแนวทางการปรับองค์กรสู่ดิจิทัลมาใช้อย่างรวดเร็วในระยะแรก ๆ ของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ 20% ของบริษัทที่เข้าสู่ระยะ “Becoming Digital” เป็นการปรับองค์กรในลักษณะของการปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อเทรนด์ของตลาด

ส่วนในปี 2565 มี 43% ของบริษัทได้เปลี่ยนกลับไปที่ระยะ “Doing Digital” เนื่องจากตระหนักว่าไม่ใช่ทุกเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้ได้กับสถานการณ์ดังกล่าว และเลือกสรรเทคโนโลยีมากขึ้นในการปรับใช้ดิจิทัลสำหรับลูกค้า สินทรัพย์ภายในองค์กร และขั้นตอนหลังบ้าน

ทั้งยังพบว่าการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เป็นสองประเด็นที่บริษัทส่วนใหญ่เห็นว่ามีความสำคัญ และให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ๆ

นายวิเนย์ โฮรา ผู้อำนวยการบริหาร ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง กล่าวว่า การปรับองค์กรสู่ดิจิทัลเป็นกุญแจสำคัญในการปกป้ององค์กร แต่วิธีการใดวิธีการหนึ่งไม่สามารถเหมาะกับทุกองค์กร การเตรียมองค์กรให้พร้อมสำหรับอนาคต ผู้บริหารควรเลือกแนวทางที่เหมาะสมกับตนที่สุด

นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2563 ทรัพยากรบุคคล และกรอบความคิดด้านดิจิทัลต้องเผชิญกับความท้าทาย จาก ความท้าทายใน 3 เรื่องด้วยกัน คือ 1.การขาดความเชี่ยวชาญภายใน และภายนอก 2.วัฒนธรรมดิจิทัลที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และ 3.โครงสร้างการทำงานภายในองค์กร เป็นจำนวน 41%, 31% และ 29% ตามลำดับ

นอกจากนี้ ยังพบว่าคนส่วนใหญ่ยังคงมองว่า Digital Disruption เป็นเรื่องของการพัฒนาด้านไอทีและบุคลากรด้านไอทีให้ดีขึ้นมากกว่าที่จะเป็นความรับผิดชอบขององค์กรโดยรวม

ด้าน ดร.นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร Clients & Industries ดีลอยท์ ประเทศไทย เสริมว่าหลายองค์กรเข้าใจผิดเกี่ยวกับการปรับตัวสู่ดิจิทัลว่าเป็นแค่เรื่องของการทำสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นดิจิทัล และเปิดตัวโครงการดิจิทัลใหม่ ๆ แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงภาพลวงตาของการเป็นองค์กรดิจิทัล การมีกรอบความคิดทางดิจิทัลที่ถูกต้อง ต่างหากที่สำคัญต่อความสำเร็จในการปรับองค์กรไปสู่ดิจิทัล


“ทุกคนได้เห็นแล้วว่า การเปลี่ยนองค์กรไปสู่ดิจิทัลมีอัตราสูงขึ้น ประกอบกับภาคธุรกิจได้รับผลกระทบมหาศาลและคาดไม่ถึงจากโควิด-19 จึงควรระมัดระวังมากขึ้น เกี่ยวกับการขับเคลื่อนของการปรับองค์กรสู่ดิจิทัล และสภาพแวดล้อมทางดิจิทัลในตลาด โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โลกที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ในขณะนี้”