ถอดรหัส เมตา-เวลาเวิร์ส ความเท่าเทียมบนโลกเสมือน

มารุต ชุ่มขุนทด

เป็นร้านกาแฟที่มีแนวคิดในการบริหารธุรกิจแบบสตาร์ตอัพ ที่มีทั้ง “แพสชั่น” และความรู้ด้าน “เทคโนโลยี” เป็นส่วนผสม ทำให้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา “คลาส คาเฟ่” ขยับขยายธุรกิจ และพัฒนาตนเองขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

จากร้านกาแฟสู่ “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” จาก 1 เป็น 2 เป็น 10 และเกือบ 30 สาขา ในหลายจังหวัดแถบภาคอีสาน ก่อนบ่ายหน้าเข้าสู่เมืองกรุง สร้าง Economy of Scale กับเป้าหมายในการผันตนเองสู่ “Coffee Open Platform” ที่จะเข้าไปทำงานร่วมกับพันธมิตรในหลากหลายธุรกิจ ทั้งการเงิน, อสังหาริมทรัพย์, ค้าปลีก, สถาบันการศึกษา

แต่ก็เช่นเดียวกับอีกหลายธุรกิจที่ต้องพลิกผัน เพราะวิกฤตโควิด-19

นั่นทำให้ “มารุต ชุ่มขุนทด” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอคลาส คาเฟ่ ตัดสินใจปิดสาขาที่มีทั้งหมด ขนอุปกรณ์ และทีมงานกลับไปตั้งหลักที่ “โคราช” เพื่อลดค่าใช้จ่าย และปรับแผนธุรกิจใหม่

วิธีคิดแบบสตาร์ตอัพที่คิดเร็ว ทำทันที ไม่กลัวความล้มเหลว ยอมตัดอวัยวะรักษาชีวิต เพื่อประคองตัวให้รอดไปก่อน ทำให้ “ได้ทดลองทำหลายสิ่ง” บางอย่างที่น่าจะใช่ก็ไปต่อ เช่น การเพิ่มช่องทางขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบ, การทำกาแฟ และน้ำผลไม้บรรจุขวด

เมื่อลูกค้าต้องเรียน และทำงานที่บ้าน เปลี่ยนจากขายเป็น “แก้ว” ไปอยู่ในขวด ยึดพื้นที่ในตู้เย็นที่บ้านลูกค้าแทน

อันไหนไม่เวิร์กก็เลิกไป เช่น “คลาสพุ่มพวง” รถเร่ขายอาหาร และเครื่องดื่ม หรือแม้แต่การแตกแบรนด์ใหม่ “เขาใหญ่ คราม” ในช่วงกระแสกัญชากำลังบูม

ล่าสุดจับกระแส “เมตาเวิร์ส” สร้างคอมมิวนิตี้โลกเสมือน “Velaverse-เวลาเวิร์ส” เป็นเมืองจำลองที่มีตัวละคร, ที่ดิน, สิ่งปลูกสร้าง และการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ เริ่มที่ “โคราช” เป็นแห่งแรก

ในฐานะผู้นำองค์กร “เขา” มองเห็นอะไรใน “เมตาเวิร์ส” และตั้งใจขับเคลื่อนนำพา “คลาส คาเฟ่” ไปสู่จุดใด

จุดเริ่มต้น “เวลาเวิร์ส”

“มารุต” ย้อนไปถึงแนวคิดในการสร้างสิ่งใหม่สไตล์ “คลาส คาเฟ่” ว่า มักเริ่มจากความคิดที่จะเข้าไป “แก้ปัญหา” เช่นกันกับ “เมตาเวิร์ส” เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่จึงคิดถึงการสร้างแรงงานแห่งอนาคตที่จะไม่ใช่คนทำงานสายเทคหรือโปรแกรมมิ่ง

แต่เป็นเรื่อง บล็อกเชน, เว็บ 3.0, การออกแบบ 3D เป็นต้น ซึ่งบน “เมตาเวิร์ส” ทุกคนใหม่หมด ใครเริ่มก่อนจึงได้เปรียบ

“คลาสเริ่มที่อีสาน เราตั้งใจสร้างงานที่มีคุณภาพ สร้างงานที่แรงงานได้เงินเดือนเยอะ ๆ ทำได้จริงแล้วบนเมตาเวิร์ส เช่น คนออกแบบป้ายหรือคนวาดการ์ตูน ถ้าเติมความรู้เรื่อง NFT ก็จะเกิดเป็นอาชีพทำงานศิลปะขายบนเมตาเวิร์สได้ คนเรียนสถาปัตย์ก็มาออกแบบอาคารได้ นักดนตรีก็ไม่ต้องไปรอไปเล่นในผับ เป็น ดีเจ.ก็มาเปิดเพลงบนสถานีวิทยุออนไลน์ 24 ชม.”

เป็นการนำสิ่งใหม่อย่าง “เมตาเวิร์ส” ไปสร้างงาน-สร้างอาชีพใหม่

“เราจัด Hackathon ครั้งหนึ่งได้ 60 คน จัดไป 4 ครั้ง ก็ 240 คน มีงานทำ สร้างเมืองบนเมตาเวิร์สได้ เด็กที่จะจบมาไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีงานทำ เขากลายเป็นแรงงานของเมตาเวิร์ส ที่ทุกสำนักแย่งตัว”

ในเวลาเวิร์ส แบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน คือ City Business Area, Resident Area, Activity Area และ Travel Spot Area จะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดเวลา เพื่อเปิดโอกาสให้มีการสร้างสังคมร่วมกันระหว่างผู้เล่น

Class Coin เชื่อม 2 โลก

มารุตบอกว่า “เวลาเวิร์ส” สำหรับเขา คือการสร้างโลกเสรีบนโลกเสมือน ที่เป็น Decentralize Concept จริง ๆ ไม่ใช่แค่เรื่อง “เทคโนโลยี” แต่เป็นการใช้ชีวิต

“เป็นหนึ่งในวิชั่นที่เราคุยกันมาหลายปี แต่วันนี้เครื่องไม้เครื่องมือพร้อมแล้ว เป้าหมายสูงสุด คือการสร้างเมืองที่สร้างโอกาส การอยู่บนบล็อกเชนทำให้สิ่งนี้ไม่ได้อยู่แต่กับรายใหญ่ แต่เป็นโอกาสของทุกคน ความตั้งใจของเรา คือสร้างโอกาสเพื่อส่งต่อให้กับทุกคน ตอนนั่งคุยกับน้อง ๆ เด็กรุ่นใหม่ เราเห็นความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงในโลกจริง

การมีเมตาเวิร์สจึงเป็นโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เริ่มต้น เขาอาจสู้กลุ่มทุนในโลกจริง ๆ ไม่ได้ แต่ในโลกเสมือน เขาสามารถมีตัวตน เป็น somebody สร้างกิจการใหม่ ๆ ของตนเองได้ ซึ่งเราพยายามให้ความรู้ สร้างทักษะเฉพาะด้านต่าง ๆ โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยการจัดการแข่งขัน CLASS 3D Velaverse Hackathon”

เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชน และนักเรียนนักศึกษาในจังหวัดต่าง ๆ ได้เข้ามามีบทบาทร่วมกันในการสร้างสรรค์ผลงานโมเดล 3 มิติ ที่จะนำไปใช้ในเมตาเวิร์ส

และ “เวลา” คือ สิ่งที่เรามีเท่ากัน “เวลาเวิร์ส” จึงเป็นพื้นที่แห่งโอกาสที่ทุกคนเท่าเทียมกัน โดยมีสกุลเงินคริปโต “Class Coin” ที่นำไปเปลี่ยนเป็น Class Point เพื่อแลกเปลี่ยนสินค้า และบริการต่าง ๆ ได้ เชื่อมต่อโลกเสมือนกับโลกจริงเข้าด้วยกัน โดย “มารุต” ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า เมื่อเข้ามาใน “เวลาเวิร์ส” ก็จะสามารถสั่งอาหารและเครื่องดื่มที่ “คลาส คาเฟ่” ให้ไปส่งที่บ้านได้ เป็นต้น

“เราสร้างเครื่องไม้เครื่องมือให้เขาเชื่อมต่อได้อย่างสมบูรณ์ แต่การเกิดโลกเสมือนจริง ไม่ใช่แค่การสร้างห้างแล้วจบ ถ้าแค่นั้นไม่เวิร์ก เพราะไม่ได้ตอบสนองสิ่งที่เป็นความต้องการในชีวิตเขาว่าทำไมต้องออนไลน์ เขาเข้ามาเพราะต้องการอยู่ร่วมกันในชุมชน มีกิจกรรมด้วยกัน”

โอกาสใหม่หรือฟองสบู่ ?

การสร้างเมืองจำลองในโลกเสมือนจึงไม่ได้เกิดจากการสร้างบ้าน และกวาดต้อนคนมาอยู่รวมกัน แต่ต้องเข้าใจว่าแต่ละพื้นที่ต้องการอะไร “เขา” ยกตัวอย่างว่า การไปจัด Hackathon ที่มหาสารคาม จึงไม่ได้เอาชีวิตคนกรุงเทพฯไปยื่นให้

แต่ไปกับ “ไทบ้านเดอะซีรีส์” นำผู้กำกับภาพยนตร์ซึ่งเป็นคนมหาสารคามไปเล่าให้เด็ก ๆ ฟัง ทำให้ตรงกับสิ่งที่เขาต้องการ เช่น วันนี้เขาอยากวิ่งแก้บนรอบมหา’ลัย ก็ต้องทำได้บนโลกเสมือน ให้แต่ละชุมชนเป็นคนสร้างเมตาเวิร์สขึ้นมา

“มันเป็นโอกาส ช้าเร็วก็แล้วแต่ เช่น ภูเก็ต ถ้าเป็นสถานที่ราชการ เราให้ทางราชการทำได้เลย มหาวิทยาลัยก็เข้ามาทำฟรี แต่ถ้าเป็นพื้นที่คอมเมอร์เชียลจะประกาศให้มาซื้อ ถ้าอยากได้ทำเลดี ๆ เราไม่ได้ทำแบบสร้างโลกการ์ตูนขึ้นมา แล้วบอกว่านี่ของเรา แต่เข้าไป โดยให้คนในชุมชนสร้างโลกของตัวเอง ไปขอนแก่น ก็ไปชวนน้อง ๆ ในมหาวิทยาลัย เข้าไปสอนให้เขาเป็นครีเอเตอร์ ร่วมกับหอการค้าจังหวัด และภาคเอกชน”

เริ่มที่โคราช ไปต่อที่ขอนแก่น อุดรธานี มหาสารคาม และล่าสุด ภูเก็ต ส่วนในกรุงเทพฯ เร็ว ๆ นี้จะเปิดตัวร่วมกับ มศว และจุฬาฯ คาดว่าถึงสิ้นปีน่าจะดึงมาเข้าร่วมได้ถึง 20 แห่ง

“การลงทุนไปกับโปรเจ็กต์ เวลาเวิร์ส เราเตรียมไว้ 100 ล้านบาท ได้มาจากการออก Class Coin เมื่อต้นปี จากเหรียญทั้งหมด 233 ล้านเหรียญ ก็ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดี มีการเติบโตแบบออร์แกนิก ก.ล.ต.มองว่าเราเป็นโปรเจ็กต์ที่สมบูรณ์ในแง่การเป็นยูทิลิตี้โทเค็นที่ใช้ได้จริง

มีคนเอา Class Coin ไปซื้อกาแฟ และใช้ในเวลาเวิร์ส ทั้งซื้อกาแฟ เสื้อผ้า และซื้อที่ดิน อะไรต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นโอกาสใหม่ที่ต้องเปิดใจเรียนรู้ เข้ามาทดลองใช้ ลองซื้อขายที่ดิน ซื้อขายเหรียญ เรียนรู้ไปทีละสเต็ป อย่าก้าวกระโดดไปไกลเกินกว่าที่ตัวเองเข้าใจ”

“มารุต” มองว่า “เมตาเวิร์ส” เป็นพื้นที่ใหม่ที่น่าลงทุน แต่ต้องไม่ลืมว่า ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ซึ่งบางคนอาจมองว่าเป็น “ฟองสบู่” ซึ่งสำหรับตนถือเป็นข่าวดี เพราะแสดงว่าจะเติบโตได้อีกมาก สิ่งสำคัญ คือทำอย่างไรจะสร้างแรงงาน สร้างผู้ประกอบการใหม่ และทำให้คนมีงานทำ มีรายได้จริง ๆ ถ้าทำได้ก็จะเป็นความยั่งยืน