ผู้แทนสภาดิจิทัลฯ ทวงถามอธิปไตยทางข้อมูลในกฎหมาย PDPA

ผู้แทนสภาดิจิทัลฯ ชี้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นกฎหมายที่ดี แต่ละเลยประเด็นเรื่องอธิปไตยทางข้อมูล ระบุข้อมูลส่วนตัวคนไทยไปอยู่ในศูนย์ข้อมูลต่างประเทศเกินครึ่ง

วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ในเวทีสัมนาในหัวข้อ “PADA in action : Best practices” ในภาครัฐ และเอกชน จัดโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ซึ่งมีมีตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ มาร่วมแสดงความคิดเห็น อาทิ ผู้แทนสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล, ผู้แทนกรมสรรพากร, ตัวแทนจากสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, คณะกรรมการวิชาชีพนักบัญชีด้านการวางระบบบัญชี 

ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้แทนจากสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ดี ตนในฐานะตัวแทนสภาดิจิทัลฯ มองว่าเป็นเรื่องดีที่จะมี และใช้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ในอีกมิติในหลายประเทศใช้เป็น “อาวุธ” ของประเทศ ในการส่งเสริมธุรกิจภายในประเทศ ซึ่งสภาดิจิทัลฯ มีสมาชิก คือผู้ประกอบการไทย ทั้งอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์ม, อีคอมเมิร์ซ และอีกหลายรูปแบบที่กำลังแข่งกับธุรกิจต่างชาติ

“การพูดถึงการคุ้มครองข้อมูลของคนไทยใต้กฎหมายไทยวันนี้ อาจหลงลืมไปว่าข้อมูลส่วนใหญ่ของคนไทย ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แต่ส่งไปนอกขอบเขตอธิปไตยของประเทศมานานแล้ว กฎหมายที่เรากำลังพูดกันอยู่วันนี้ ครอบคลุมข้อมูลคนไทยได้สักกี่เปอร์เซ็นต์ ประเด็นนี้เป็นเรื่องของอธิปไตยบนข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเคยระบุไว้ตอนยกร่างกฎหมายว่าถ้าจะส่งข้อมูลออกไปต่างประเทศ ประเทศเที่ส่งไปต้องมีกฎหมายที่ทัดเทียมกับกฎหมายของไทย วันนั้นบริษัทยักษ์ต่างชาติบกใทอกระหน่ำวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องนี้มาก ทำให้ข้อกำหนดส่วนนี้หายไป”

ดร.อธิป ยกตัวอย่างว่า ก่อนที่จะมีกฎหมาย GDPR (กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป) สหภาพยุโรปฟ้องเฟซบุ๊ค จากแนวคิดที่ว่าข้อมูลส่วนบุคคลของชาวยุโรป ทำไมถึงไปเก็บอยู่บนศูนย์ข้อมูล (Data Center) ที่ซิลิคอนวัลเล่ย์ เป็นที่มาของ กม. GDPR

“ทางสภาดิจิทัลฯ เวลาเสนอข้อกฎหมาย จึงพูดประเด็นนี้ เพื่ออยากช่วยเก็บข้อมูลของคนไทยไว้ในประเทศ ไม่ให้ส่งออกไปต่างประเทศ สภาดิจิทัลฯ  ทำเรื่องเกี่ยวกับศูนย์ข้อมูลคลาวด์พบว่า แม้กระทั่งวงการธนาคารของเราที่ใช้ศูนย์ข้อมูลแบบที่เป็นคลาวด์เกินกว่าครึ่งใช้คลาวด์ต่างประเทศ”