กฎหมาย “กสทช” ล้าหลัง ขวางธุรกิจ “บรอดแคสต์”

ในยุคที่เทคโนโลยีและพฤติกรรมเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ทำให้ทุกธุรกิจต้องทรานส์ฟอร์มเพื่อรับมือ ได้เห็นการหลอมรวมของหลายธุรกิจเข้าด้วยกัน บริการบรอดแคสต์ เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจน กลับกันสิ่งที่เห็นชัดว่ายังตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงคือ “การกำกับดูแลของภาครัฐ” ที่ยังต้องเดินตามกฎหมายเดิม ๆ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเวทีถกปัญหานี้

โดย “ผศ.ดร.ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แม้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ กสทช. และการกำกับกิจการบรอดแคสต์ รวมถึงโทรคมนาคม จะไม่ใช่กฎหมายเก่าแก่ และเพิ่งมีการปรับปรุงแก้ไข แต่ยกร่างขึ้นมาด้วยแนวคิดและวิธีเขียนแบบเก่า คือแยกกิจการด้านบรอดแคสต์ กับโทรคมนาคมออกจากกัน ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันเกิดการหลอมรวมเทคโนโลยีเข้าด้วยกันแล้วทำให้ผู้ประกอบการและองค์กรกำกับดูแลเองทำงานได้ลำบาก

“ตอนนี้มีปัญหามาก เพราะผู้ประกอบการเมื่อได้ใบอนุญาตโทรคมนาคมแล้ว ก็จะมาติดกระบวนการขอใบอนุญาตกระจายเสียงหรือโทรทัศน์เพิ่มขึ้นอีก จึงควรแก้ไขกฎหมายไม่ให้ต้องแก้กระบวนการกันอีก”

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่ควรแก้ไข อาทิ การหารายได้จากการโฆษณาของกิจการบรอดแคสต์ ที่จำกัดไว้ไม่ให้เกิน 12 นาที ด้วยแนวคิดว่า สื่อเป็นเกตเวย์และมีจำนวนช่องน้อยทำให้ต้องควบคุม เพื่อไม่ให้กระทบผู้บริโภค แต่ปัจจุบันจำนวนสื่อมีมากขึ้น ที่สำคัญคือกิจการประเภทบริการชุมชนที่ถูกห้ามไม่ให้มีรายได้จากการโฆษณาจึงแทบไม่มีโอกาสเติบโต ดังนั้นจึงควรเปิดโอกาสให้ช่องชุมชนหารายได้ได้ แต่ต้องมีเงื่อนไขด้านคอนเทนต์เข้ามากำกับ ขณะที่กิจการประเภทธุรกิจก็ต้องขยายขอบเขตเรื่องเนื้อหาโฆษณา เพิ่มจากที่จำกัดแค่เวลาโฆษณา

แต่ที่สำคัญสุดคือ แนวทางการกำกับ (OTT : Over-the-Top) ที่เป็นการให้บริการบรอดแคสต์บนโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งกำลังได้รับความนิยม แต่ยังไม่มีเกณฑ์กำกับดูแล ขณะที่แนวทางล่าสุดคือ ข้อเสนอขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ที่แนวโน้นมองว่า ถ้ากำกับด้านภาษีได้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการกำกับดูแลอื่น ๆ ซึ่งในประเทศอินโดนีเซียเริ่มมีร่างประกาศหลักเกณฑ์ “กำกับดูแลการให้บริการ OTT และคอนเทนต์บนอินเทอร์เน็ต” ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการต่างประเทศที่เปิดบริการในอินโดนีเซีย โดยอิงจากมีสถานที่ มีลูกจ้าง และรายได้ ไม่ว่าจะมาจากการขายโฆษณาหรือมาจากการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ต้องมาจดทะเบียนธุรกิจ และเสียภาษีให้อินโดนีเซีย

ด้าน “จักรกฤษณ์ สังกิตติวรรณ์” พาร์ตเนอร์บริษัทที่ปรึกษา ไทม์คอนซัลติ้ง จำกัด เสริมว่า ควรใช้ระบบใบอนุญาตแบบ unify license ที่ให้บริการได้หลากหลาย และมองว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ไม่จำเป็นต้องเป็นใบอนุญาต แต่ใช้วิธีการลงทะเบียน

“การลงทะเบียนอาจมีข้อจำกัดให้เลี่ยงภาษีได้ ก็ต้องป้องกันด้วยการดักที่ทรานแซ็กชั่นเกตเวย์ หรือถ้าให้มีตัวแทนลงทะเบียนในไทยก็จะทำให้สามารถไล่บี้จากจุดนั้นได้ ซึ่งช่วยคุมคอนเทนต์ที่จะสร้างผลกระทบต่อสังคมได้จากการแข่งขันที่สูงขึ้น จนเริ่มเห็นการนำคอนเทนต์ดราม่าแรง ๆ มาดึงเรตติ้ง ดังนั้นการนำมาเข้าระบบเพื่อควบคุมเนื้อหาเป็นหัวใจหลักที่ กสทช.ต้องพิจารณา”

ขณะเดียวกัน การพัฒนาคอนเทนต์ยังเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันกับ OTT รายใหญ่จากต่างประเทศได้ โดยสร้างความเฉพาะตัว ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ก็ให้ความสำคัญกับการสร้างโลคอลคอนเทนต์ ดังนั้นตรงนี้จึงเป็นโอกาสของธุรกิจด้วย

“หลายแบรนด์ใหญ่พร้อมจะลงทุนซื้อคอนเทนต์ เนื่องจากคนไทยมีการบริโภคคอนเทนต์สูง ดังนั้นต้องมาดูว่าเราพร้อมหรือยังที่จะรับกับโอกาส โดยสิ่งที่ตอบโจทย์คือ การโคโปรดักต์ เช่น ร่วมผลิตกับเกาหลีผลิตละครร่วมกันเพื่อให้ได้ความรู้และประสบการณ์ของต่างชาติ นอกจากนี้อาจยังช่วยหาตลาดใหม่ ๆ ไม่ใช่แค่ซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์ฉาย”

ด้านตัวแทนองค์กรกำกับดูแลจาก กสทช. “สมบัติ ลีลาพตะ” ผู้อำนวยการ สำนักกฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์ กล่าวว่า การปรับปรุงกฎหมายต้องใช้เวลาหลายปี ปัจจุบันสำนักงาน กสทช.ได้จ้างมูลนิธิของกฤษฎีกามาเป็นที่ปรึกษา เมื่อได้ผลการศึกษาแล้วก็ยังต้องเสนอรัฐบาลและยกร่างเข้ากระบวนการนิติบัญญัติอีก แต่ กสทช.ก็เปิดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาเสนอความเห็นได้

“มีหลายประเด็นที่ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติม อย่างเรื่องการให้อนุญาตใช้คลื่นความถี่ ที่กฎหมายบังคับว่า ต้องประกอบกิจการด้วยตนเอง ห้ามโอนหรือใช้สิทธิ์ผู้อื่นดำเนินการแทน ถ้าแก้ได้ก็จะปลดล็อกให้ผู้ได้รับใบอนุญาตบางรายที่ต้องหาพาร์ตเนอร์ หรืออย่างการหารายได้จากโฆษณา ที่ปัจจุบันห้ามไม่ให้ผู้รับใบอนุญาตประเภทบริการสาธารณะกับบริการชุมชนมีรายได้จากโฆษณา ซึ่งส่งผลต่อการปรับปรุงและพัฒนาเนื้อหา แต่ก็มีมุมมองด้านการแข่งขันเนื่องจากบริการทั้ง 2 ประเภทนี้ไม่มีต้นทุนจากการประมูลคลื่นเหมือนไลเซนส์ประเภทบริการธุรกิจ จึงต้องพิจารณารอบด้านด้วย”