รมว.ดีอี เตือน ระวังนำเสนอนำข้อมูลส่วนบุคคล หลังกฎหมาย PDPA มีผลใช้บังคับ หากไม่ได้รับอนุญาต-เสี่ยงคุก จี้ฝ่ายธุรกิจป้องข้อมูลลูกค้า สกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์
วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ที่รัฐสภา นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้สัมภาษณ์ถึงข้อควรระวังภายหลังพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือ PDPA มีผลบังคับใช้แล้ว ว่า
โดยหลักการกฎหมายดังกล่าวต้องการให้ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนได้รับการคุ้มครองปกป้อง ไม่ให้ถูกนำไปใช้ในทางที่มิชอบหรือเสียหาย เพราะข้อมูลเราจะถูกนำไปเก็บไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ เวลาไปติดต่อร้านค้าหรือทำธุรกรรมต่าง ๆ ก็จะมีคนเก็บข้อมูลเราไว้ เช่น ชื่อ ที่อยู่ ประวัติการรักษาพยาบาล ซึ่งเรื่องเหล่านี้เราไม่อยากให้เปิดเผย
ถ้าเราอยากเปิดเผยหรือคนที่เก็บข้อมูลอยู่ นำไปใช้ต้องขออนุญาตหรือขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อน ถ้าเจ้าของไม่ยินยอมและทำให้เสียหาย ก็ดำเนินคดีได้โดยมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 1 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการที่นำข้อมูลไปใช้ ควรมีแนวทาง และดูรายละเอียดแล้วแต่กรณีไป เช่น การโพสต์รูป ถ่ายรูปติดคนอื่น ถ้าไม่มีเจตนาทำให้เขาเสียหายก็ไม่มีความผิด
“กรณีสื่อเสนอข่าวเกี่ยวกับบุคคลหรือข้อมูลส่วนตัวเขา ซึ่งเป็นเรื่องเปิดเผยอยู่แล้วก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าไปเสนอข้อมูลส่วนตัวที่มีความละเอียดอ่อน เช่น พฤติกรรมทางเพศ ข้อมูลสุขภาพ ประวัติการรักษาโรค หรือรสนิยมบางอย่าง ที่คนอื่นไม่อยากเปิดเผย สื่อก็ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่หากจะเสนอเรื่องนี้ต้องขอความยินยอมก่อน เพราะเขามีสิทธิฟ้องได้ฐานะถูกทำให้เสียหาย”
เมื่อถามว่า หากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องไม่ดี แต่เป็นประโยชน์กับสาธารณะเปิดเผยได้หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า สามารถทำได้ ถ้าเป็นเรื่องประโยชน์สาธารณะ หรือเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ส่วนบางอย่างที่เป็นข้อมูลส่วนตัว แต่ถูกเปิดเผยไปแล้ว เช่น คำพิพากษาศาล ข้อมูล ป.ป.ช. เกี่ยวกับการทุจริตที่เปิดเผยอยู่แล้ว สื่อก็ลงข่าวได้ แต่ถ้าข้อมูลส่วนตัวจริงๆ ที่ไม่ได้เปิดเผยและไปสืบค้นมาเองก็เปิดเผยไม่ได้
เมื่อถามว่ากรณีที่สื่อไปสืบค้นข้อมูลมาเอง เช่น ข้อมูลเชิงลับ นายชัยวุฒิกล่าวว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นต้องระมัดระวังแล้วกัน เพราะกฎหมายดังกล่าวมีหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและคุ้มครองสิทธิประชาชน ถ้าเราเอาข้อมูลส่วนตัวเขาไปใช้โดยไม่ยินยอมอนุญาตและเป็นข้อมูลที่เขาไปอยากเปิดเผย แล้วถูกนำไปเปิดเผยข้อมูลทำให้เสียหาย เขาก็สามารถฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย เพราะทั้งหมดทั้งปวงเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชน
ผู้สื่อข่าวถามว่า การนำเสนอข้อมูลสื่อมวลชนต่อไปต้องอ้างอิงที่มาที่ไปใช่หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ถ้าจะเป็นข้อมูลบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ท่านก็ต้องอ้างถึงที่มาของข้อมูลและเป็นข้อมูลที่เปิดเผยแล้วและเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ถ้าเป็นข้อมูลลับท่านต้องขอความยินยอมก่อน นี่คือหลักการ แต่ในรายละเอียดแล้วแต่กรณี หัวใจสำคัญคือเรามีเจตนาบริสุทธิ์ และไม่ทำให้เกิดความเสียหายตนคิดว่าไม่มีปัญหา
นายชัยวฒิ กล่าวว่า หลักการกฎหมายนี้เราต้องการบังคับกับธุรกิจร้านค้าหรือองค์กรต่างๆ ที่มีข้อมูลของประชาชนไปเก็บไว้อยู่ คือเราออกกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นนำข้อมูลดังกล่าวนี้ไปใช้ในธุรกิจ เช่น โทร.ขายของ ซึ่งต่อไปข้อมูลเหล่านี้จะเอามาใช้โดยไม่ขออนุญาตทำไม่ได้
เมื่อถามว่ากฎหมายดังกล่าวจะเป็นจุดอวสานแก๊งคอลเซนเตอร์ ใช่หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า จริงๆ ช่วยได้ส่วนหนึ่งเพราะจริง ๆ แล้ว ข้อมูลเหล่านั้นมาจากร้านค้าต่างๆ ที่ประชาชนเคยไปติดต่อไว้ ถ้าเราเข้มงวดกับเรื่องเหล่านี้ไม่ให้ข้อมูลรั่วไหลไปให้แก๊งคอลเซนเตอร์ ก็เชื่อว่าขบวนการดังกล่าวจะหายไปประชาชนก็ถูกหลอกน้อยลง
เมื่อถามย้ำว่ากฎหมายนี้จะเอาผิดคนที่ปล่อยข้อมูลให้แก๊งคอลเซนเตอร์ ได้เลยหรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ใช่ ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานกับผู้เสียหายก็ต้องมาร้องเรียนเพื่อทำงานร่วมกัน
“แต่สำคัญสุดเมื่อมีกฎหมายมาห้ามแล้ว คนที่อยู่ในวงการธุรกิจที่มีข้อมูลประชาชนต้องเก็บข้อมูลให้ดีไม่ให้ร้่วไหลหรือไม่ให้พนักงานนำข้อมูลไปขาย ซึ่งต่อไปจะมีมาตรการไม่ให้บริษัทต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางไม่ให้ข้อมูลรั่วไหลออกมา”