โฟกัสกรุ๊ป ‘ทรู-ดีแทค’ ครั้งที่ 3 นักวิชาการกลุ่มเห็นด้วยควบรวม-มองมุมต่างโมเดลเศรษฐศาสตร์กสทช.

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ความคืบหน้าข้อมูลจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด หรือ โฟกัสกรุ๊ป (Focus Group) ต่อกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 3 จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) วานนี้ พบว่า มีฝั่งกลุ่มนักวิชาการที่มองว่าการควบรวมระหว่างทรู-ดีแทค เป็นประโยชน์และควรเกิดขึ้น รวมทั้งมองว่า กรณีการนำเสนอโมเดลเศรษฐศาสตร์ของนักวิชาการกสทช. ในการประชุมโฟกัสกรุ๊ปครั้งที่ 3 ดังกล่าวให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนไม่ครบถ้วน อาทิ การไม่นับบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เป็นผู้ประกอบการ, การไม่พิจารณาบทบาท กสทช. ในการควบคุมราคา, การตั้งสมมุติฐานว่าบริษัทเอไอเอส จะฮั้วกับทรู-ดีแทค เป็นต้น

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมโฟกัสกรุ๊ปครั้งที่ 3 ปรากฎว่ามีนักวิชาการจากสถาบันต่าง ๆ ที่เข้ารับฟังร่วมแสดงความคิดเห็นในแง่มุมที่หลากหลาย ซึ่งบางส่วนเห็นต่างจากผลการศึกษาของกสทช. โดยมองว่าการนำเสนอของกสทช. ยังไม่สมบูรณ์ เพราะยังขาดข้อมูลอีกหลายมิติที่แสดงให้เห็นว่าการควบรวมกิจการไม่ได้เป็นผลเสียเพียงด้านเดียว รวมถึงราคาไม่ใช่ปัจจัยหลัก เพราะกสทช.มีหน้าที่ควบคุมดูแลอยู่แล้ว แต่การควบรวมจะทำให้เกิดการปรับตัวของธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ที่จะเกิดขึ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรภวิษย์ บุญศรีเมือง รองคณบดีวิจัย คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ระบุว่าเห็นด้วยกับการควบรวม และให้ข้อเสนอแนะกับโมเดลของกสทช. ว่าควรนำข้อมูลของ NT มาทำวิจัยด้วย เพราะ NT มีใบอนุญาตจำนวนไม่น้อย หากโมเดลแรกสมมุติฐานไม่ครอบคลุม ปัจจัยอื่นๆ ก็จะคลาดเคลื่อนไป

ดร.รุจิระ บุนนาค อาจารย์พิเศษ ABAC และมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย มองว่าการควบรวมมีประโยชน์ โดยต้องมองหลาย ๆ ส่วนประกอบ และไม่มองข้ามตัวแปรสำคัญคือ Digital Disruption ที่มีผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งกสทช. เองเคยคาดการณ์ผิดในเรื่องของทีวีดิจิทัล ที่ไม่ได้มองในเรื่องของ OTT จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจทีวีดิจิทัล

สำหรับธุรกิจโทรคมนาคม OTT ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเป็นบริการทั้งข้อความ เสียง และวีดีโอ จากการวิจัยของ McKinsey พบว่า 5G ทำให้ธุรกิจโทรคมนาคมมีการลงทุนเพิ่มขึ้นกว่า 300% ในขณะที่รายได้ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือลดลง ดังนั้นจึงควรเพิ่มตัวแปรในเรื่องของ Digital Disruption นำมาคำนวณด้วย และควรกำหนดข้อมูลของคำว่า “ตลาด” ให้เหมาะสม นอกจากนี้ การอ้างอิงข้อมูลจากปี 2015 นั้นเป็นข้อมูลเก่า กสทช. ควรเป็นธุระนำข้อมูลที่อัปเดตกับสถานการณ์ให้นักวิชาการช่วยพิจารณาก่อนนำเสนอ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศราวุธ เกียรติกุศล อาจารย์เกษียณ และอาจารย์พิเศษ ม.กรุงเทพ ต้องการให้พิจารณาสถานะความสามารถในการแข่งขันของบริษัทด้วย เพราะผลประกอบการของ 3 เจ้าใหญ่จะเห็นได้ว่า มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ถ้าใช้สูตรที่กสทช. นำเสนอนี้ทำให้เข้าใจว่าตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่า สถานะของบริษัทแข็งแกร่งใกล้ ๆ กัน แล้วสุดท้ายก็จะเหลือ 2 เจ้าที่มีสถานการณ์แข่งขันที่ต่างกันมาก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์ คำสิงห์ จากมหาวิทยาลัยการบิน สถาบันฯ พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง เสนอว่าควรเพิ่มปัจจัยด้านความต้องการใช้งานของผู้บริโภคเข้าไปด้วย เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีเข้าไปเกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น ดังนั้น คุณภาพของเครือข่ายก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ต้องพิจารณา ไม่ใช่แค่เรื่องของราคาอย่างเดียว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ยุทธภูมิ สุวรรณเวช รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เห็นด้วยกับการควบรวม โดยแนะว่าควรมองตัวแปรด้านจิตวิทยาของผู้ประกอบการและของผู้บริโภคประกอบด้วย หากมองแต่ตัวเลขจะทำให้ไม่ครอบคลุมตัวแปรที่จำเป็น ซึ่งภาพรวมของการควบรวมจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันในเชิงธุรกิจ ที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคหรือตัวประชาชนที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด และเป็นการสร้างความเข้มแข็งในเชิงธุรกิจ ที่ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ทันสมัย และทัดเทียมกับอารยประเทศชั้นนำทั่วโลก

“กสทช. อาจจะต้องคำนวณในค่าตั้งต้นของการประมูลเครือข่าย อย่าให้สูงมากนัก เพื่อที่จะทำให้คู่แข่งขันทางธุรกิจ ไม่ว่าจะ 2 เจ้า 3 เจ้า หรือ 4 เจ้าในอนาคตก็ตาม จะมีต้นทุนที่ไม่สูงมาก เมื่อต้นทุนไม่สูงก็จะส่งผลให้ดูแลผู้บริโภคในเรื่องของราคาได้ กสทช. มีมาตรการควบคุมราคาที่มองผู้บริโภคหรือประชาชนเป็นสำคัญ หวังว่ากสทช. จะไม่มองข้ามในส่วนนี้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ยุทธภูมิ กล่าว

รศ.พ.ต.ต.ดร.ดนุวสิน เจริญ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะบริหารธุรกิจ NIDA เห็นด้วยกับการควบรวม เพราะมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย แต่อยากให้คณะกรรมการพิจารณาจากข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงว่า ค่า HHI ที่สูงขึ้น จะแปลว่า ราคาสูงขึ้นเสมอไปหรือไม่ ซึ่ง OCCD ศึกษาพบว่า มีงานวิจัย 18 ชิ้นนับตั้งแต่ปี 2015 การควบรวมไม่ได้หมายถึงการขึ้นราคาที่สูงขึ้นเสมอไป รวมไปถึงสิ่งที่เรียกว่า Spillover Effect คือ มีการเกิดขึ้นของธุรกิจหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ด้วย ส่วนความกังวลเรื่องราคานั้น ควรเป็นหน้าที่ของผู้กำกับดูแล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพันธ์พงษ์ ขำอ่อน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นว่า ธุรกิจโทรคมนาคมในปัจจุบันมีรายได้จาก Voice ที่ลดลง ขณะที่การแข่งขัน OTT มีมากขึ้น ทำให้รายได้ลดลง จึงนำไปสู่การควบรวม สำหรับในเรื่องราคาค่าบริการและคุณภาพในการให้บริการนั้น กสทช. มีกฎเข้มข้นในการควบคุมอยู่แล้ว และขยายความถึงการควบรวมในต่างประเทศว่า ผู้กำกับดูแลมักจะอนุญาตให้ควบรวม แต่จะออกมาตรการเฉพาะในการกำกับดูแล เช่น T Mobile + Sprint ให้ขายธุรกิจเติมเงินออกไป หรือ Hutch + Orange ก็ให้แชร์เน็ตเวิร์คให้ MVNO สามารถเข้ามาใช้ได้ เพราะการประมูลคลื่นมีราคาสูง

ด้าน ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด ระบุว่า การพิจารณานี้ต้องมองตัวแปรให้ครบ โอกาสความสัมพันธ์ของคู่แข่งที่จะเข้ามาฮั้วค่อนข้างจะยาก เพราะดูจากโปรโมชั่นที่เกิดขึ้น มันดีขึ้นเรื่อย ๆ ผู้บริโภคได้ประโยชน์ขึ้นเรื่อย ๆ และการร่วมมือกันครั้งนี้ก็จะเกิด Global Competition ส่วนเรื่องราคา กสทช. ทำหน้าที่นี้ดีอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องการกำหนดและกำกับดูแลอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ ในส่วนที่เกินกว่าสิทธิการใช้งานของรายการส่งเสริมการขายหลัก ประกาศ เมื่อ 2 ธันวาคม 2563 ระบุเพดานการกำกับ ควบคุมราคาไว้ชัดเจน โดย แบ่งอัตราขั้นสูงของค่าบริการในส่วนที่เกินกว่าสิทธิการใช้งานของรายการส่งเสริมการขายหลัก ใช้บังคับกับบริการ ดังนี้ (1) บริการเสียง (Voice) (2) บริการข้อความสั้น (SMS) (3) บริการข้อความมัลติมีเดีย (MMS) (4) บริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ (Mobile Internet)

นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ ในข้อ 6 บอกบทบาทหน้าที่ กสทช. ไว้ชัดเจน ว่า ให้สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบอัตราค่าบริการในส่วนที่เกินกว่าสิทธิการใช้งานของรายการส่งเสริมการขายหลักที่ผู้รับใบอนุญาตให้บริการอยู่ในตลาดเป็นประจำทุกเดือน โดยใช้วิธีการ เปรียบเทียบ โดยอัตราค่าบริการในส่วนที่เกินกว่าสิทธิการใช้งานของรายการส่งเสริมการขายหลัก ในแต่ละประเภทบริการต้องเป็นไปตามอัตราขั้นสูงของค่าบริการที่กาหนดไว้ในภาคผนวกท้ายประกาศ ทำให้การที่ นายประถมพงศ์ ศรีนวล เศรษฐกรเชี่ยวชาญ รักษาการผู้อำนวยการสำนัก สำนักการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่าการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์จากการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ว่า หากวิเคราะห์โมเดลว๊อยซ์และดาต้า ถ้าไม่เกิดความร่วมมือ หรือเกิดความร่วมมือต่ำราคาจะเพิ่มขึ้น 18.85% หากความร่วมมือในระดับสูงราคาจะเพิ่มขึ้น 60% หากเป็นโมเดลด้านดาต้าอย่างเดียว หากไม่มีและมีความร่วมมือต่ำ ราคาเพิ่มขึ้น 32.64% และหากมีความร่วมมือระดับสูงราคาเพิ่มขึ้น 198.28% กลายเป็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์ว่า โมเดลนี้อยู่ภายใต้สมมุติฐานว่า ยุบ กสทช. ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแล และต้องยกเลิกกฎหมายการควบคุมราคา นอกจากนี้โมเดลนี้ยังไม่นับ NT เป็นผู้ประกอบการ ต้องไม่แยกมือถือเป็นแบบ Prepaid และ Postpaid ต้องไม่นับบริการทดแทนจาก OTT และที่สำคัญ มี 9 แบบผลลัพธ์แต่เลือกนำเสนอแบบที่สมมุติฐานว่า ผู้ประกอบการทุกรายฮั้วกัน ดังนั้น ผลการศึกษานี้จึงเต็มไปด้วยสมมุติฐานเชิงลบ และตัดตัวแปรที่สำคัญออก