บิ๊กมูฟ SCG-ไมโครซอฟท์ ทำไม “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม” จึงสำคัญ

ปัจจุบันการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี “ดิจิทัล” มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิด-19 บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยอย่าง “เอสซีจี” ก็ให้ความสำคัญกับการทำ “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น” เช่นกัน ล่าสุดประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ “ไมโครซอฟท์” ในการยกระดับการพัฒนาศักยภาพองค์กรดิจิทัลครบวงจร

“รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี พูดถึงเส้นทางการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น และความร่วมมือกับไมโครซอฟท์ของเอสซีจี ว่า เป็นสิ่งที่ทำต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของตลาดและลูกค้า

โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา ชัดเจนว่าเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนไปแล้ว และเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งไปจากเดิมมาก เช่น การใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือได้เข้ามาแทนการใช้เงินสด

โดยที่ผ่านมามีการปรับกระบวนการทำงาน โดยนำเทคโนโลยีมาปรับใช้แล้วในหลายด้าน ประกอบด้วย 1.การพัฒนานวัตกรรมและโซลูชั่นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น “SCG Bi-ion” เทคโนโลยีไอออนกำจัดเชื้อโรคในอากาศ และ “SCG IOT Sensing Thermostat” เป็นระบบควบคุมเครื่องปรับอากาศไร้สายอัจฉริยะ เพื่อการประหยัดพลังงาน

2.การบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่า เช่น แพลตฟอร์ม “TRUCK GO” ระบบจัดการบริหารงานขนส่ง (Transportation Management System) สำหรับผู้ประกอบการและบริษัทขนส่งขนาดกลาง-เล็ก เพื่อช่วยประหยัดต้นทุนจากการลดเวลาทำงานได้ 60% และแพลตฟอร์มสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ช่วยบริหารจัดการต้นทุนและสต๊อกสินค้าให้ร้านค้ารายย่อยที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 10,000 ราย

และ 3.พัฒนากระบวนการผลิต เช่น กรณีเอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในโปรเจ็กต์ “บอนไซ” (Bonsai) ของไมโครซอฟท์มาพัฒนาเทคโนโลยี digital twin หรือตัวแทนเสมือนเพื่อปรับรูปแบบการผลิตให้มีประสิทธิภาพขึ้น ปรับสายการผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าแม่นยำขึ้น แต่ใช้เวลาน้อยลง เป็นต้น

“ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เอสซีจีเป็นผู้นำในธุรกิจที่ตนเองทำอยู่ ขณะที่ไมโครซอฟท์เป็นผู้นำเทคโนโลยี เชื่อว่าความร่วมมือกันจะสร้างผลกระทบที่ดีทั้งกับบริษัทและประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตและขยายตลาดไปในระดับโลกได้

ซึ่งนวัตกรรมที่นำมาใช้เน้นตอบโจทย์ 3 ด้าน คือ เพิ่มความ “ตรงใจ” (building for intelligence) นำเสนอผลิตภัณฑ์และข้อมูลสินค้าที่ตรงความต้องการเฉพาะตัวของลูกค้าผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลและพฤติกรรมด้วยเทคโนโลยีเอไอ เพื่อช่วยลูกค้าพิจารณาและเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ในร้านค้าเอสซีจีโฮมและช่องทางออนไลน์

“การวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเชิงลึกบน digital commerce platform ช่วยให้เข้าใจความสนใจของลูกค้า และตลาดแม่นยำขึ้น ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้สอดรับกับความต้องการได้ทันท่วงที ลดเวลารอคอยการยืนยันส่งมอบสินค้าได้ถึง 70%”

ถัดมาคือ เสริมความ “ฉับไว” (building for agility) ในทุกการดำเนินงาน เช่น โครงการ Smart Manufacturing Campus Solution-CPAC Green Solution ในธุรกิจซีเมนต์และกรีนโซลูชั่นที่นำเทคโนโลยีเอไอ และเมตาเวิร์สมาผสมผสานกับเครื่องจักร คน และกระบวนการทำงาน ทำให้การบริหารจัดการกระบวนการผลิตรวดเร็วปลอดภัย รู้ทันความเสี่ยงในการผลิตล่วงหน้า

และช่วยให้ใช้ทรัพยากรได้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และต่อยอดความ “ล้ำเทรนด์” (Building for the Beyond) เพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ ๆ ในอนาคต เช่น คิดค้นนวัตกรรมผ่านโลกเสมือนในเมตาเวิร์ส เพื่อให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบพร้อมผู้เชี่ยวชาญจากเอสซีจี และย่นเวลาการวิเคราะห์วิจัยนวัตกรรมให้สั้นลงด้วยเทคโนโลยีควอนตัมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

“กุลเชฏฐ์ ธาราจันทร์” ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน เอสซีจีซี เสริมว่า เอสซีจีซีเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกมีกว่า 400 เกรด ขายให้ลูกค้าทุกอุตสาหกรรม แต่ละแบบมีคุณสมบัติและความหลากหลายแตกต่างกันจึงเป็นความท้าทายในการผลิต เพราะต้องเปลี่ยนชนิดของเม็ดพลาสติก และโรงงานเดินเครื่อง 24 ชั่วโมง

ซึ่งหมายถึงจะมีการสูญเสียเกิดขึ้นกว่าคุณภาพจะไปถึงจุดที่ต้องการ ที่ผ่านมาใช้ “คน” ก็พยายามปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้เร็วขึ้นอย่างเต็มที่ ทำได้ดีที่สุด ลดเวลาจาก 8-10 ชั่วโมง เป็น 5-6 ชั่วโมง หรือการเพิ่มทีมวิเคราะห์ข้อมูล บิ๊กดาต้าก็ทำได้ถึงจุดหนึ่ง

กระทั่งร่วมกับทีมไมโครซอฟท์ในโปรเจ็กต์ “บอนไซ” นำเทคโนโลยี “ดิจิทัลทวิน” มาใช้กับ 1 โรงงาน ทำให้ก้าวข้ามข้อจำกัดต่าง ๆ ของโรงงานและคน ลดเวลาได้ถึง 40% ปล่อยของเสียน้อยลงและผลิตสินค้าที่ขายได้มากขึ้นด้วย จึงเตรียมขยายไปยังโรงงานอื่น ๆ

“รุ่งโรจน์” พูดถึงงบประมาณที่ใช้ในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นด้วยว่า ที่ผ่านมาทำพร้อมไปกับการพัฒนานวัตกรรม ซึ่งปกติจะใช้เงินราว 1-2% ของยอดขายรวมกว่า 5 แสนล้านบาท หรือราว 6-7 พันล้านบาท และทำไปพร้อมกันหลายส่วน

เช่น การปรับบิสซิเนสโมเดล ก็ไม่ได้แยกว่าส่วนไหนเป็นดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ส่วนไหนเป็นบิสซิเนสโมเดล แต่ที่ทำกับไมโครซอฟท์ไปแล้วบางส่วนน่าจะใช้เงินไปแล้วราว 500-600 ล้านบาท อาจขยายเพิ่มเติมได้อีกถ้าไปได้ดี

“เดิมเราอาจเคยมองว่านวัตกรรมเป็นตัวช่วยธุรกิจ แต่ทุกวันนี้กลายมาเป็นตัวหลัก โดยมีโควิดเป็นตัวเร่งที่สำคัญ เหมือนเวลาง่วง ๆ เราอาจต้องการดื่มกาแฟสัก 2 ชอต พอมีโควิดต้องเพิ่มเป็น 4 ชอต การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นทำให้เราผ่านจุดนั้นมาได้


และต้องทำต่อเพราะตลาดพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตลอด เรามีประสบการณ์ในธุรกิจที่เราทำ มีตลาดในไทยและในอาเซียน เมื่อนำมาบวกกับเทคโนโลยีและประสบการณ์ของไมโครซอฟท์ก็น่าจะเป็นกำลังสำคัญเสริมศักยภาพขององค์กรให้เข้มแข็งและตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีขึ้น”