ปีแห่งเทคโนโลยี “ดิสรัปชั่น” ไทยแลนด์ 4.0 หรือ 0.4

นอกจากสตาร์ตอัพ, ดิจิทัลอีโคโนมี และไทยแลนด์ 4.0 แล้ว เรื่องเทคโนโลยีดิสรัปชั่นก็เป็นสิ่งที่พูดถึงกันมากในบ้านเรา เพราะในยุคสมัย “ปลาเร็ว กินปลาช้า” ไม่มีธุรกิจไหนหนีพ้นการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ทำให้องค์กรต่าง ๆ ต้องเร่งปรับตัวปรับองค์กรให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี หากคิดจะอยู่ให้รอด และแข่งขันได้ในโลกธุรกิจยุคดิจิทัล

องค์กรต่าง ๆ ในหลายอุตสาหกรรมจึงตื่นตัวทรานส์ฟอร์มองค์กรเข้าสู่ “ดิจิทัล” อย่างขะมักเขม้น

ทรานส์ฟอร์มไม่ง่ายแต่ต้องทำ

เห็นตัวอย่างกันมาไม่น้อยในหลายธุรกิจ บริษัทที่เคยใหญ่ ปรับตัวไม่ทันล้มครืนไปกับคลื่นดิจิทัลก็มาก ในบ้านเราที่เห็นชัดน่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ และบรอดแคสต์จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปเสพสื่อผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟนมากกว่าบนกระดาษหรือจอทีวี

“นนทวัฒน์ พุ่มชูศรี” กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการบริหารเทคโนโลยี กล่าวว่า มีการคาดการณ์ว่าในสิบปีข้างหน้า 50% ของบริษัทในกลุ่มดัชนี S&P จะหายไปถ้าไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคตได้ บริษัทที่ใหญ่สุดในอเมริกามีความชัดเจนเรื่องการสร้างนวัตกรรม ดังนั้นจะเห็นว่าทุกบริษัทที่จะอยู่ได้ต้องสร้างนวัตกรรม และต้องเร่งสร้างอย่างรวดเร็ว ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถแข่งขันได้ ทั้งความคาดหวังของนักลงทุนเปลี่ยนไป จากในอดีตที่ขึ้นกับประสิทธิภาพของบริษัท เช่น รายได้เมื่อเทียบต้นทุน, มูลค่าหนี้เสีย แต่ปัจจุบันมองโอกาสเติบโตในอนาคต (future value) มากกว่าผลประกอบการปัจจุบัน เช่น อูเบอร์แม้ยังไม่ทำกำไร แต่มูลค่าบริษัทกลับสูงมาก เนื่องจากจำนวนผู้ใช้งาน

“บริษัทต่าง ๆ มีการจัดตั้ง VC ลงทุนในสตาร์ตอัพ โดยในปี 2012-2016 อัตราการเติบโตสะสมต่อปีสูงถึง 143% และจะเห็นการแข่งขันให้บริการด้านดิจิทัล โดยเฉพาะแบงก์ ขณะที่ภาครัฐก็สนับสนุนผู้บริโภคให้ใช้บริการ เช่น พร้อมเพย์, คิวอาร์โค้ด, แซนด์บอกซ์ เป็นต้น ซึ่งในไทยผู้บริโภคตื่นตัวกับเทคโนโลยี และพร้อมตอบรับ องค์กรต่าง ๆ จึงควรต้องสร้างนวัตกรรม ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องใหม่เท่านั้น สิ่งที่ธุรกิจทำในปัจจุบันก็นำนวัตกรรมมาใช้ให้เติบโตเป็นเอสเคิร์ฟใหม่ได้”

ดังนั้นบริษัทควรลงทุนกับสิ่งใหม่ โดยการทรานส์ฟอร์มอาจไม่ใช่เรื่องง่ายจึงอย่ายึดติดว่าต้องคิดเองทำเองทุกอย่าง การพาร์ตเนอร์เป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มส์เพื่อช่วยให้บริษัทเดินหน้าได้เร็ว เป็นสิ่งที่ทำให้ลูกค้าอยู่กับบริษัท

“องค์กรต่าง ๆ ตื่นตัวที่จะทรานส์ฟอร์มเเต่อาจยังไม่เห็นเม็ดเงินจากการเปลี่ยนแปลงจึงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ อย่างไลน์เป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างอีโคซิสเต็มส์ที่โดยประสบความสำเร็จจากคอร์บิสซิเนส คือ แชต และพาร์ตเนอร์กับบริการอื่น ๆ เพื่อให้บริการบนแพลตฟอร์มตนเอง เช่น ไลน์แมน หรือเซ็นทรัลที่จับมือกับเจดีดอทคอม ทำอีคอมเมิร์ซ”

อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยีจะเป็นสิ่งที่ไร้พรมแดน แต่มีอุปสรรคด้านกฎหมายทำให้ 74% ขององค์กรธุรกิจต้องหยุดแผนขยายธุรกิจ เนื่องจากติดข้อกฎหมายแต่ละประเทศ และอาจเป็นตัวกั้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ไร้พรมแดนจึงต้องหาจุดกลางสร้างสมดุลทั้ง 2 ด้าน โดยองค์กรควรทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อช่วยออกกฎที่เหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรม

3 ยักษ์ “มือถือ” แข่งไม่รู้จบ

ในสังเวียนธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ปีนี้ก็นับเป็นอีกปีที่แข่งขันกันรุนแรง โดยต่างมีจุดยืนต่างกันไป อย่างพี่ใหญ่เบอร์หนึ่ง “เอไอเอส” ชัดเจนว่าเน้นเรื่องคอนเทนต์เต็มสตรีม ดังจะเห็นได้จากการจับมือกับผู้ให้บริการคอนเทนต์ยักษ์ใหญ่ตั้งแต่เอชบีโอ, เน็ตฟลิกซ์ และการพัฒนาบริการดิจิทัลด้านอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง ย้ำจุดยืนที่ต้องการมุ่งไปสู่การเป็นผู้ให้บริการดิจิทัล ขณะที่ “ทรูมูฟเอช” ก็เร่งเกมหนักมากจนสามารถแซงขึ้นมาเป็นมือวางอันดับสองในแง่ฐานลูกค้าแทน “ดีแทค” ได้สำเร็จ จากการรายงานผลประกอบการไตรมาส 4/2559 เมื่อต้นปี 2560

ฟาก “ดีแทค” เลิกพูดถึงจำนวนฐานลูกค้า และหันไปสร้างโพซิชันนิ่งใหม่ โดยระบุว่าต้องการเป็นแบรนด์ “ดิจิทัล” อันดับหนึ่ง ทั้งดิสรัปตนเองด้วยการสร้างแบรนด์ใหม่ “ไลน์ โมบาย” (LINE MOBILE) มีทีมงานเป็นอิสระนัยว่าเพื่อให้เอื้อต่อการคิดนอกกรอบ และสร้างบริการที่ตอบสนองผู้บริโภคได้ดีกว่าก็ว่ากันไป

“สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กล่าวว่า การแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมดุเดือดทุกปี ทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์มาก แม้จะมีผู้ประกอบการแค่ 3 ราย แต่แข่งรุนแรง ทั้งในเชิงอัตราค่าบริการ, การรับภาระค่าเครื่องให้ลูกค้า และการพัฒนาคุณภาพโครงข่าย และการบริการ ไม่ว่าจะมีสัมปทานของผู้ให้บริการบางรายกำลังจะสิ้นสุดเร็ว ๆ นี้ ก็ไม่ได้เกิดการแย่งลูกค้าอะไรมาก เพราะลูกค้าจะเลือกข้อเสนอที่ดีที่สุดอยู่แล้ว ส่วนสีสันการตลาดใหม่ ๆ ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นหลัก ถ้ามีบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ เช่น ในประเทศจีนไม่ได้ใช้มือถือแค่พูดคุยหรือใช้โซเชียลมีเดีย แต่ใช้จ่ายเงินซื้อขายสินค้าทุกอย่างผ่านแอปพลิเคชั่น “วีแชต”

“เวลานี้เชื่อว่าผู้บริโภคไทยพร้อมแล้ว เพราะผู้บริโภคไทยตอบรับการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เร็วมาก แต่ยังใช้ประโยชน์น้อยกว่าประเทศอื่น อย่างผู้บริโภคจีนไม่ได้แอดวานซ์กว่าไทย แต่นำบริการต่าง ๆ ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ดีกว่า ขนาดผู้สูงอายุยังทำได้ ฉะนั้นตลาดเมืองไทยก็ยังคงปราบเซียน โมบายเพย์เม้นท์พูดกันมาเป็นสิบปี แต่ยังไม่ค่อยใช้เท่าไรจึงเป็นความท้าทาย ผมเชื่อว่าดิจิทัลเซอร์วิสที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าได้จะเป็นผู้ชนะ ทั้งเรื่องคอนเทนต์, โมบายเพย์เม้นท์, อินเทอร์เน็ตออฟทิงส์ (IOT) เป็นหน้าที่เราที่ต้องหาให้เจอ”

สมรภูมิอีคอมเมิร์ซดุเดือด

แม้ว่าปี 2559 ความเคลื่อนไหวในตลาดอีคอมเมิร์ซไทยจะคึกคักอย่างยิ่ง ตั้งแต่การประกาศเข้าซื้อ Lazada ของยักษ์ใหญ่จากเมืองจีนที่ชื่อ “อาลีบาบา” พ่วงด้วยการประกาศความร่วมมือระหว่าง Ant Financial Service กับ Ascend Money ในเครือ ซี.พี.ยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจในไทย และการที่เซ็นทรัลกรุ๊ปเข้าซื้อกิจการของ Zalora เว็บอีคอมเมิร์ซด้านแฟชั่นในประเทศไทยและเวียดนาม

แต่ดีกรีความร้อนแรงในตลาดอีคอมเมิร์ซไทยยิ่งร้อนแรงขึ้นในปี 2560 ประเดิมเปิดปีด้วยการบุกตลาดไทยของออนไลน์มาร์เก็ตเพลซจากเกาหลีใต้ “อีเลฟเว่น สตรีต” (11 Street) ที่แม้จะเป็นน้องใหม่ แต่วันเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 16 ก.พ. 2560 ก็พาซุปตาร์ “ซง จุงกิ” โอปป้าสุดฮอตมาเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ พร้อมประกาศทุ่มงบฯตลาดทันที 300 ล้านบาท และเทต่อเนื่อง จนเกิดกระแสให้บรรดาอีมาร์เก็ตเพลซอื่น ๆ ต้องคิดหาพรีเซ็นเตอร์ แบรนด์แอมบาสซาเดอร์ สำหรับร่วมแคมเปญต่าง ๆ โดย “Shopee” อีมาร์เก็ตเพลซจากค่ายเกมออนไลน์ดัง “การีน่า” ต้องทุ่มงบฯให้ “ญาญ่า-ณเดชน์” มาเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ ขณะที่เจ้าใหญ่อย่าง Lazada ยังคงใช้ “น้อง Laz” มาสคอตเหมือนเดิม

ยิ่งเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลังยิ่งร้อนแรง เริ่มตั้งแต่การประกาศลงทุนเพิ่มใน Lazada ของอาลีบาบา อีก 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทำให้ขยับสัดส่วนหุ้นจาก 51% เป็น 83% รวมแล้วมีเงินทุนของอาลีบาบาใน Lazada 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นการประกาศชัดว่าบุกตลาดอาเซียนเต็มสูบไม่มีถอย

แถมมาร์เก็ตเพลซในเครืออาลีบาบาอย่าง “เถาเป่า” (Taobao) ยังประกาศรุกหนักในอาเซียน หลังจากเปิดให้บริการไปแล้วในสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2560 ได้เปิดวางขายสินค้าผ่าน Lazada ในไทย, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ทั้งเตรียมตั้งโกดังสินค้าในไทยเอง เพื่อย่นระยะเวลาขนส่ง คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการในปี 2561

ฟาก JD.com อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซในจีนก็ประกาศบุกไทยแน่นอน โดยเปิดตัวพันธมิตรคือเซ็นทรัลกรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกฝั่งไทย ด้วยการร่วมทุนมูลค่า 17,500 ล้านบาท เพื่อร่วมกันทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซและฟินเทคในไทย ซึ่ง Jd.co.th จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการราวไตรมาสที่ 2 ปี 2561

ขณะที่เซ็นทรัลกรุ๊ปเองก็ประกาศเปลี่ยนชื่อ Zalora ที่ซื้อมาเป็น LOOKSI เพื่อขจัดปัญหาเรื่องผู้บริโภคสับสนกับแบรนด์คู่แข่ง ทั้งยังลงทุนเพิ่มเพื่อพัฒนาในทุกช่องทางออนไลน์ของแบรนด์ภายในเครือเซ็นทรัลทั้งหมด ตั้งเป้าให้อีก 5 ปี ยอดขายออนไลน์ของทั้งเครือจะขยับเป็น 15% จากปัจจุบันที่มีเพียง 1%

ด้านยักษ์ใหญ่จากฝั่งอเมริกาอย่าง Amazon แม้ยังไม่ประกาศชัดเจนว่าจะบุกตลาดไทยเมื่อใด แต่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้วในสิงคโปร์เมื่อ 27 ก.ค. 2560 เริ่มจากบริการส่งด่วน Prime Now