สภาดิจิทัลฯ ลุยโรดโชว์ดึงนักลงทุนต่างชาติ รับปลดล็อกภาษี Capital Gains

ศุภชัย เจียรวนนท์

“สภาดิจิทัลฯ” เตรียมเดินหน้าจัดโรดโชว์ดึงต่างชาติเช้ามาลงทุนในสตาร์ตอัพไทย หลังรัฐบาลกดปุ่มยกเว้นภาษี Capital Gains ตั้งเป้าดึงเม็ดเงินเข้าไทยไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านภายในปี 2568 กระตุ้นการจ้างงานทักษะดิจิทัลขั้นสูงกว่า 4 แสนราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวม 790,000 ล้านบาท

วันที่ 16 มิ.ย. 2565 สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เตรียมจัดโรดโชว์ดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในสตาร์ตอัพไทย หลังรัฐบาลประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ยกเว้นภาษี Capital Gains เป็นเวลา 10 ปี เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาดิจิทัลฯขอขอบคุณพันธมิตรทุกรายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ได้ร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายเกี่ยวกับมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้นหรือสตาร์ตอัพจนสำเร็จเป็นรูปธรรม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย รวมถึงเป็นการสร้างไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก เนื่องจากปัจจุบันหลายประเทศในอาเซียน อาทิ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ต่างมีนโยบายยกเว้นภาษี Capital Gains Tax จึงดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้จำนวนมาก

นอกจากนี้กฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้สตาร์ตอัพไทยระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ตอัพไทยให้เติบโตแข็งแกร่งสู้กับประเทศอื่นได้ และเป็นการดึงคนเก่งจากทั่วโลกมาร่วมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจไทย

โดยตั้งเป้าหมายดึงเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าการลงทุนใน Tech Companies ในภูมิภาคอาเซียน เข้ามาลงทุนกับธุรกิจสตาร์ตอัพไทย และมั่นใจจะมีจ้างงานทักษะดิจิทัลขั้นสูงเพิ่มขึ้นกว่า 4 แสนตำแหน่ง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวม 790,000 ล้านบาท

ทั้งนี้สภาดิจิทัลฯเตรียมวางแผนเดินหน้ากระตุ้นให้เกิดการลงทุนในสตาร์ตอัพไทย โดยเตรียมออกโรดโชว์เชิญชวนนักลงทุนจากทั่วโลก อาทิ อเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ นอกจากนี้เตรียมตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการ เพื่อเป็นแหล่งในการให้คำปรึกษาตอบคำถาม ทั้งช่วยประสานงานกับภาครัฐในเรื่องที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการจัดทำข้อมูลและคู่มือการใช้สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ เป็นต้น และสิ่งท้าทายสำคัญคือการระดมสรรพกำลัง ให้ภาคเอกชนต่าง ๆ เร่งมาใช้ประโยชน์จากกฎหมายเหล่านี้ให้มากที่สุด


นายศุภชัยกล่าวต่อว่าสภาดิจิทัลฯยังมีภารกิจสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล การพัฒนาบุคคลากรดิจิทัล เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีความร่วมมือกับภาครัฐ และเอกชน ทั้งการลงทุนและกำลังคนในมิติอื่น ๆ อาทิ สตาร์ตอัพออกหุ้นแปลงสภาพให้นักลงทุนได้, ออกหุ้นให้พนักงานได้ (ESOP), การส่งเสริมให้เกิดการระดมทุนผ่านตลาดหุ้นใหม่สำหรับสตาร์ตอัพ และ SMEs ในชื่อ LIVE EXCHANGE เป็นต้น