การผันตัวของ ทรู บิสซิเนส เลิกขาย ‘ซิม’ สู่ผู้ให้บริการโซลูชั่น

พิชิต ธันโยดม

การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลโดนเร่งให้เร็วขึ้นด้วยวิกฤตโควิด ธุรกิจทุกระดับต้องหันมามองหา และนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น ธุรกิจค้าปลีกที่ต้องใช้แรงงานคนจำนวนมากในการขนและจัดวางสินค้า หรือด้านการเกษตรที่ใช้ประสบการณ์มากกว่าเครื่องมือวัดค่าต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาอาจจินตนาการไม่ออกว่าจะมีเทคโนโลยีใดเข้ามาช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ได้บ้าง

“พิชิต ธันโยดม” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจองค์กร (ทรู บิสซิเนส) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น บอกว่า 5G ปลดล็อกเทคโนโลยีอื่นอีกหลายอย่าง โดยสามารถนำมาออกแบบให้เข้ากับลักษณะเฉพาะของแต่ละธุรกิจได้

ผันตัวสู่ผู้ให้บริการโซลูชั่น

ในอดีตการพัฒนาธุรกิจติดข้อจำกัดทางเทคโนโลยี จนเมื่อมี 5G จึงเกิดสิ่งที่ต้องการได้จริง เช่น การเคลื่อนย้ายข้อมูลบิ๊กดาต้าส่งผ่านข้อมูลแบบเรียลไทม์เพื่อแก้ pain point ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลดีขึ้น อุปกรณ์ไอโอทีหรือเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ใช้ได้ดีขึ้น ทำให้ 5G กลายเป็นพื้นฐานให้เทคโนโลยีต่าง ๆ เกิดขึ้นและใช้ได้จริง

นั่นทำให้กลุ่มทรูผันตนเองจากการเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure provider) สู่การให้บริการด้านโซลูชั่นทางธุรกิจ (business solution provider) เพื่อนำ 5G และเทคโนโลยีอื่น ๆ มาผสมผสานกันเพื่อตอบโจทย์ใหม่ ๆ ขององค์กรธุรกิจในยุคเปลี่ยนผ่านดิจิทัล

เปลี่ยนตนเองจากผู้ให้บริการโทรคมนาคมสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านการแก้ปัญหาทางธุรกิจสำหรับองค์กร รวมถึงการเป็นที่ปรึกษาเรื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่การขายบริการดั้งเดิม

เช่น ขายซิม-ขายมือถือให้ลูกค้าองค์กรแล้วจบ แต่ต้องวางตัวเป็น “เพื่อนคู่คิด” ช่วยเปลี่ยนแปลงแก้ปัญหาภายในองค์กรต่าง ๆ ไปด้วยกัน เพราะ “โซลูชั่น” เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา ไม่ใช่ “ขาย” ได้แล้วจบเลย

คู่คิดแก้ Pain Point

เมื่อมองหา pain point ได้แล้วก็จะต้องมาทำ POC (proof of concept) ร่วมกันว่าเพื่อให้ใช้ได้จริงและไม่ผิดพลาด เพราะเทคโนโลยี 5G เป็นสิ่งที่ใหม่ และประเทศไทยถือว่าอยู่แถวหน้าของโลก จึงไม่มีตัวอย่างการใช้งานที่ประสบความสำเร็จมาแล้วอย่างกรณี 3G หรือ 4G ที่ใช้หลังยุโรปและอเมริกาหลายปี จึงถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน

กระบวนการพูดคุยจนถึงการนำโซลูชั่นไปใช้ในธุรกิจ (implement) เป็นเรื่องที่ใช้ระยะเวลาพอสมควร ขึ้นอยู่กับความพร้อมของลูกค้าในแต่ละธุรกิจและอุตสาหกรรมด้วย

“เรามองว่าลูกค้าคือเพื่อน คือพาร์ตเนอร์ สิ่งที่เข้าไปคุยจึงไม่ใช่เรื่องว่าจะนำเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยเฉพาะ 5G มาใช้อย่างไร แต่เข้าไปคุยว่า pain point เขาคืออะไร เราจะช่วยอะไรได้บ้าง ด้วยอีโคซิสเต็มที่มีค่อนข้างพร้อม

ไม่ว่าจะเป็นระบบจ่ายเงินทรู มันนี่ โปรแกรมสะสมแต้ม และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อย่างทรูพอยท์, ทรูยู สิ่งเหล่านี้นำมาเป็นส่วนประกอบทำให้นำเสนอสิ่งที่มากไปกว่าบริการแบบเก่า เพิ่มโอกาสการทำตลาดหรือทำแคมเปญใหม่ ๆ ร่วมกันได้มากขึ้น”

ปัจจุบันฐานลูกค้าของ “ทรู บิสซิเนส” มีกว่า 1.5 แสนราย เป็นองค์กรขนาดใหญ่ 3-4 หมื่นราย ที่เหลือเป็นธุรกิจ SMEs ที่ต้องการ business solution เพื่อทรานส์ฟอร์มองค์กร

โควิดทำให้ผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ จำนวนไม่น้อยล้มหายตายไปบ้าง แต่ตนมองว่าปีนี้ SMEs จะเริ่มฟื้นกลับมา ส่วนรายใหญ่รายกลางทุกคนรู้ว่าต้องปรับตัว ฉะนั้น การลงทุนด้านเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของธุรกิจด้วย

ขยายฐานลูกค้าบุกภูธร

ในแง่การเพิ่มฐานลูกค้าจะขยายไปยังธุรกิจขนาดกลางและเล็กในต่างจังหวัดมากขึ้น รวมถึงเน้นขยายยอดการใช้จ่ายของลูกค้ากลุ่มเดิม เพราะรู้ดีว่าสภาพเศรษฐกิจแบบนี้การเพิ่มจำนวนแล้วลูกค้าไม่มีเงินจ่ายค่าบริการก็ไปไม่รอดทั้งคู่

ในแง่รายได้เป็นเรื่องที่ต้องบริหารและวางแผนด้วยลักษณะการให้บริการโซลูชั่นทางธุรกิจ จะมีระยะเวลาไม่แน่นอนขึ้นกับความพร้อมของลูกค้า เช่น บางโครงการอาจหลายสิบล้านบาทแต่ใช้ข้ามปีจึงไม่สามารถระบุว่ารายได้ 10 ล้านบาทนั้น ๆ เป็นรายได้ปีนี้ได้ เป็นต้น แต่ตั้งเป้าว่าปีนี้จะเติบโตกว่าปีที่แล้ว 18% แม้จะเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจมากมาย

ทั้งยังตั้ง KPI แยกไว้สำหรับการผันตัวเองจาก infrastructure provider ไปสู่ business solution provider โดยกำหนดสัดส่วนรายได้จากบริการใหม่ ๆ ที่การเติบโต 2 ดิจิต จากเดิมที่บริการเหล่านี้จะโตแค่หลักเดียว เมื่อภาพรวมธุรกิจเปลี่ยนไปจะมัวขายแต่ซิม หรืออินเทอร์เน็ตไม่ได้ ต้องเพิ่มสัดส่วนรายได้จากโซลูชั่นหรือบริการให้คำปรึกษาองค์กรต่าง ๆ มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ในภาพใหญ่ “ทรู บิสซิเนส” ทำรายได้คิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของรายได้รวมของกลุ่มทรู และตั้งเป้าว่าภายใน 3-5 ปีจะเพิ่มให้มีสัดส่วนทัดเทียมกับทรูมูฟ, ทรู ดิจิทัล และทรู ออนไลน์ เป็นต้น

โชว์ยูสเคส 3 อุตสาหกรรม

การนำเสนอโซลูชั่น 5G สำหรับภาคธุรกิจจะมุ่งไปยัง 3 อุตสาหกรรม คือ การผลิต, ค้าปลีก และเกษตรกรรม

5G ช่วยแก้ปัญหาและทรานส์ฟอร์มธุรกิจได้หลายด้านก็จริง แต่การนำไปปรับใช้ในอุตสาหกรรมขึ้นอยู่กับความคุ้มค่าและประโยชน์ใช้สอยของแต่ละอุตสาหกรรม เราไม่สามารถเข้าไปได้ทุกอุตสาหกรรม จึงเลือกที่จะเข้าไปในส่วนที่ช่วยลูกค้าได้ดีและได้เปรียบคู่แข่ง”

“พิชิต” ยกตัวอย่าง use case ในโรงงานอุตสาหกรรม ว่า ได้ทำงานร่วมกับโรงงานชิ้นส่วนของบริษัทมิตซูบิชิที่ใช้โครงข่าย 5G กับระบบการผลิต ตั้งแต่สายพานการผลิต หรือการนำไปแก้ปัญหาให้โรงงานอุตสาหกรรมกรณีเครื่องจักรเสียระหว่างการผลิตสินค้า

โดยเข้าไปวางระบบติดเซ็นเซอร์เข้ากับมอเตอร์และอุปกรณ์ต่าง ๆ แล้วส่งข้อมูลผ่าน 5G มาวิเคราะห์ด้วย “เอไอ” ทำให้สามารถแจ้งซ่อมบำรุงเครื่องจักรได้ก่อนที่จะเสีย เป็นต้น

ในธุรกิจค้าปลีกได้เข้าไปทำ unmanned shuttle cart หรือหุ่นยนต์ขนส่งสินค้า และกล้องวงจรปิดที่มีระบบเอไอตรวจสอบชั้นวางสินค้าได้ว่าของขาดหรือไม่ หรือแม้แต่การตรวจสอบการเดินของลูกค้าว่าเดินตรงไหนมากที่สุด โดยเริ่มทำไปแล้วในห้างโลตัสหลายสาขา

สำหรับด้านการเกษตรได้เข้าไปสนับสนุนธุรกิจในเครือ ซี.พี. นำเทคโนโลยี 5G เข้าไปในฟาร์มกุ้ง ฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ เพื่อพัฒนาคุณภาพและลดต้นทุน เก็บข้อมูลนำมาวิเคราะห์ด้วยเอไอ

“เราเริ่มทำในฟาร์มของ ซี.พี.ก่อน หากสำเร็จจะนำไปใช้จริงในฟาร์มลูกก่อนขยายต่อไป แต่ที่ทำมานานแล้ว คือ digital cow ใช้เซ็นเซอร์ตรวจจับวัวนมแล้วใช้เอไอวิเคราะห์ ทำให้รู้สภาพร่างกายว่าเมื่อไหร่จะพร้อมทำให้การผสมพันธุ์มีความแม่นยำ เกษตรกรไม่ต้องเสียเวลารอรอบผสมพันธุ์รอบใหม่ โดยติดตามสุขภาพวัวผ่านมือถือได้เลย”

จุดแข็งที่ทำให้เหนือกว่าคู่แข่ง

ผู้บริหาร “ทรู บิสซิเนส” กล่าวด้วยว่า กลุ่มทรูมีอีโคซิสเต็มที่ใหญ่มากจึงถือเป็น “จุดแข็ง” โดยเฉพาะ “ทรู มันนี่” แอปพลิเคชั่นด้านการชำระเงินที่มีมาก่อน แอปเป๋าตัง รวมถึงมี “ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป” เพื่อทำสิ่งใหม่ ๆ ให้ลูกค้าทั่วไปและกลุ่มองค์กร มีทรูไอดี และโซลูชั่นทรู เฮลท์ที่พร้อมให้บริการด้านสุขภาพ รวมถึงการมี “ทรู ดิจิทัล พาร์ค” ที่พร้อมบ่มเพาะสตาร์ตอัพ เป็นต้น

“เรากล้าพูดได้ว่าเรามีครบที่สุด และที่สำคัญคือ การพัฒนาคนโดยทรู อะคาเดมี ที่มีหลักสูตรระดับโลกเพื่อพัฒนาทักษะดิจิทัล โดยใช้ดาต้าจริงของลูกค้า ทำให้คนที่มีทักษะสำหรับองค์กรเราเองและองค์กรลูกค้า”