การตลาดแบ่งปัน

AIS
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ดิษนีย์ นาคเจริญ

ถ้าวิกฤตโควิดจะมีข้อดีอยู่บ้างก็คงเป็นตัวเร่งให้ผู้คนหันมาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ยิ่งมีโครงการ “คนละครึ่ง” ที่ต้องใช้ผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” สำหรับผู้บริโภคทั่วไป และ “ถุงเงิน” ในกรณีร้านค้ายิ่งเป็นตัวเร่งอย่างดี ที่เคยอิดออดไม่อยากใช้ก็จะพยายามเรียนรู้ทำให้การใช้งานเติบโตก้าวกระโดด

ทุกวันนี้คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชั่นแล้ว โดยส่วนตัวเริ่มมีปัญหากับการซื้อของในร้านที่รับแต่เงินสด เพราะแทบไม่พกเงินสดติดตัวอีกแล้ว

“เป๋าตัง และถุงเงิน” ของแบงก์กรุงไทย จึงน่าจะเป็นแอปพลิเคชั่นที่เข้าถึงคนไทยได้มากที่สุด ด้วยฐานคนใช้กว่า 52 ล้านราย มากกว่า “ไลน์-LINE” ถ้าดูจากตัวเลขที่ไลน์เปิดเผยเมื่อสิ้นปีที่แล้วว่า มีคนใช้ทะลุ 50 ล้านราย

“คนละครึ่ง” แจ้งเกิด “เป๋าตัง” และ “ถุงเงิน” แต่จะทำให้มีการใช้ต่อเนื่องได้อย่างไร เป็นโจทย์สำคัญ

ความร่วมมือกับ “เอไอเอส” ในโครงการ “พอยท์เพย์” เป็นหนึ่งในนั้น

พอยท์เพย์ เกิดจากความตั้งใจของทั้งคู่ที่ต้องการต่อยอดโครงการ “คนละครึ่ง”เพื่อแบ่งเบาภาระคนไทย ท่ามกลางวิกฤตของแพง ทั้งคู่จึงนำสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างมีมาเชื่อมโยงกัน

“เอไอเอส” มีแอปพลิเคชั่น My AIS และโปรแกรมสะสมคะแนน AIS Point ฝั่ง “กรุงไทย” มีเป๋าตัง และถุงเงิน โดย “เอไอเอส” เปิดกว้างให้ลูกค้ากว่า 45 ล้านรายเข้าร่วมได้หมด ในเบื้องต้นใช้ได้ทันที 20 กว่าล้านเลขหมาย กลุ่มนี้มี “AIS Points” อยู่แล้ว (25 บาท = 1 คะแนน) จริง ๆ ลูกค้ามือถือทั้งรายเดือนและเต็มเงิน รวมถึงเอไอเอสไฟเบอร์จะมีคะแนนสะสมจากการใช้งานอยู่แล้ว แต่จะนำมาใช้ได้ต้องลงทะเบียนใน My AIS

ฟาก “กรุงไทย” มีร้านค้าที่ใช้แพลตฟอร์ม “ถุงเงิน” 1.6 ล้านร้านค้า ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ หาบเร่ แผงลอย ร้านรถเข็นทั้งหลาย เน้นกลุ่มสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน เริ่มจากกลุ่มที่ขายอาหาร-เครื่องดื่มที่มีประมาณ 8 แสนราย ก่อนขยายไปยังร้านขายของชำ

อะไรคือ สิ่งที่ลูกค้า และร้านค้าจะได้

ลูกค้าเอไอเอสที่มีคะแนนสะสมนำคะแนนที่มีมาใช้แทนเงินสดเพื่อซื้อสินค้ากับร้านค้า “ถุงเงิน” ได้ (เหมือนที่เคยใช้คนละครึ่ง) 2 คะแนนเท่ากับ 1 บาท จากเดิมที่ใช้คะแนนแลกรับส่วนลดและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ได้อยู่่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชนร้านค้า และบริการในห้างสรรพสินค้า, คอมมิวนิตี้มอลล์ต่าง ๆ เช่น โรงภาพยนตร์, ซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น

ฝั่งร้านค้าถุงเงินก็ชัดเจนว่าจะมีโอกาสขายสินค้าได้มากขึ้น

“ปรัธนา ลีลพนัง” แม่ทัพการตลาด เอไอเอส บอกว่า ที่ผ่านมาสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เคยกระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองจะกระจายไปได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น เพราะร้านค้าถุงเงินกระจายอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

“เอไอเอส พอยท์ มีคะแนนสะสมอยู่ในระบบกว่า 2,600 ล้านคะแนน หลังทำโครงการนี้มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว มีการใช้ไปแล้วกว่า 100 ล้านคะแนน (หรือคิดเป็นมูลค่า 50 ล้านบาท) ซึ่งตนมองว่ามีโอกาสเพิ่มขึ้นได้อีกมาก คาดว่าในสิ้นปียอดการใช้จ่ายน่าจะเพิ่มขึ้นได้ 2-3 เท่า และในอนาคตยังมองไปถึงการดึงพันธมิตรในธุรกิจอื่น ๆ เช่น บัตรเครดิต ซึ่งมีคะแนนสะสมจำนวนมากเข้ามาร่วมโครงการด้วย”

“ธวัชชัย ชีวานนท์” ผู้บริหารแบงก์กรุงไทยบอกว่า ร้านค้าถุงเงินที่เข้าร่วมในโครงการนี้มีกว่า 4 แสนราย แต่ตั้งเป้าในสิ้นปีไว้ที่ 1 ล้านร้านค้า

“ปัญหาและอุปสรรคอย่างเดียวที่เราเห็นคือ คนยังไม่ค่อยรู้จัก เพราะในแง่การใช้งานทั้งลูกค้าและร้านค้าคุ้นเคยกับการใช้เป๋าตังและถุงเงินอยู่่แล้ว สิ่งที่เราจะต้องทำร่วมกันต่อไปคือทำให้ร้านค้าและลูกค้ารู้”


คิดคำนวณคร่าว ๆ ลูกค้าเอไอเอสที่มีการใช้บริการ 500 บาท/เดือน จะมีคะแนนสะสม 20 แต้ม ถ้านำมาแลกเป็นเงินสดในโครงการพอยท์เพย์ จะเท่ากับ 10 บาท ในแง่มูลค่าอาจไม่มากแต่จะมากจะน้อย ก็ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกเพิ่มขึ้น ทั้งยังเพิ่ม “โอกาส” ให้กับร้านค้ารายย่อยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก