ฤๅ Bitcoin City จะดับฝันเอลซัลวาดอร์

ISRAEL-CURRENCY-BITCOIN-CRYPTOCURRENCY
Photo by JACK GUEZ / AFP
คอลัมน์ : Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ปรากฏการณ์เงินคริปโตร่วงอย่างหนักในตอนนี้ ทำให้หลายคนอดเป็นห่วงเอลซัลวาดอร์ประเทศแรกในโลกที่ประกาศรับรองการใช้ bitcoin ในระบบการเงินอย่างถูกกฎหมายว่าจะเอาตัวรอดจากวิกฤตนี้อย่างไร

เอลซัลวาดอร์ประกาศรับรองการใช้ bitcoin อย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมปีก่อน โดยรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีนายิบ บูเคเล ทุ่มงบฯไปแล้ว 100 ล้านเหรียญในการซื้อ bitcoin เพื่อนำมาใช้ในประเทศ

วิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีหนุ่มนายนี้ คือ ต้องการให้ bitcoin กลายเป็นสกุลเงินหลักในการทำธุรกรรมประจำวันของประชาชนทั่วไปโดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นนักลงทุนเท่านั้น

ผู้ที่น่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ที่สุด คือ แรงงานที่ส่งเงินจากต่างประเทศกลับมาให้ครอบครัวราว 4,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี หรือคิดเป็น 20% ของ GDP เพราะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมค่าโอน

วันนี้ใครมีโอกาสไปเยือนประเทศเล็ก ๆ ในอเมริกาใต้แห่งนี้ คงตื่นเต้นที่สามารถใช้ bitcoin ได้อย่างอิสระเสรี ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเครื่องประดับกระจุกกระจิกหรือทาโก้จากร้านข้างทาง ไปจนถึงการเดินช็อปปิ้งแบรนด์ดังในห้าง

เพราะกฎหมาย bitcoin ของเอลซัลวาดอร์อนุญาตให้ bitcoin เป็นเงินที่สามารถใช้ทำธุรกรรมได้เหมือนสกุลเงินหลักอย่าง ดอลลาร์

แต่ในขณะที่นักลงทุนทั่วโลกแสดงอาการแพนิกอย่างหนักกับราคา bitcoin ที่ร่วงลงมาแล้วกว่าครึ่ง รัฐบาลเอลซัลวาดอร์กลับดูไม่ยี่หระ โดยรัฐมนตรีต่าง ๆ พากันตบเท้าออกมาปกป้องการตัดสินใจ และ “วิสัยทัศน์” ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น รมว.คลังที่บอกว่าปัญหาค่าเงิน bitcoin ถือเป็นความเสี่ยงทางการเงินที่ “จิ๊บจ๊อย” มาก

ส่วน รมว.กระทรวงการท่องเที่ยว ก็อ้างว่าประชาชนยังสนับสนุนการตัดสินใจของประธานาธิบดีนายิบ บูเคเล อย่างเต็มที่ เพราะ “เรารู้ว่าทุกการตัดสินใจของท่านประธานาธิบดีเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง”

นักข่าว BBC ลงพื้นที่ไปเมืองประมงเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่เชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของการใช้ bitcoin ของเอลซัลวาดอร์เพื่อสำรวจตลาด bitcoin ท้องถิ่น เมือง El Zonte แห่งนี้ กลายเป็นสนามทดลองการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีเงิน bitcoin เป็นตัวขับเคลื่อนแห่งแรกของประเทศ (และของโลก)

ในปี 2019 ที่จู่ ๆ ก็มีผู้ใจดีที่ไม่ประสงค์ออกนามบริจาคเงิน bitcoin มาให้ชาวเมืองใช้กันฟรี ๆ ภายใต้เงื่อนไขว่า ห้ามนำ bitcoin ไปแลกเป็นเงินดอลลาร์ นับจากนั้นมาชาวเมือง El Zonte ก็ได้บริจาค bitcoin จากผู้ใจดีมาเรื่อยจนคิดเป็นมูลค่ากว่า 350,000 ดอลลาร์

ต้องถือว่าเมืองประมงเล็ก ๆ แห่งนี้เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมาก เพราะในขณะที่ประเทศอื่นยังเน้นการใช้ bitcoin เพื่อทำธุรกรรมออนไลน์เป็นหลัก คนในเมือง El Zonte สามารถใช้ bitcoin ได้ทั่วไปจนมีคนขนานนามเมืองชายทะเลแห่งนี้ว่าเป็น Bitcoin Beach

เจ้าของร้านรวงบริเวณชายหาดบอก BBC ว่า มียอดขายเพิ่มขึ้นราว 30% หลัก ๆ มาจากนักท่องเที่ยวประเภท “bitcoin tourists” ที่แห่มาเที่ยวเมืองนี้ตามคำแนะนำของยูทูบเบอร์ที่โปรโมตคริปโต

แต่จากการสำรวจของนักข่าวพบว่ามีร้านที่รับเงิน bitcoin ราว 50% แต่ยิ่งขยับห่างจากเมืองออกมาจำนวนร้านที่รับ bitcoin ก็ยิ่งน้อยลงเหลือเพียงแค่ 25% แสดงว่าผู้คนส่วนใหญ่ยังคงใช้ “เงินสด” เป็นหลัก

เพื่อดึงให้คนหันมาใช้ bitcoin มากขึ้น รัฐบาลทุ่มงบฯ 200 ล้านดอลลาร์พัฒนาแอป bitcoin wallet ชื่อ “Chivo” โดยใครที่ดาวน์โหลดแอปนี้จะได้ bitcoin มูลค่า 30 ดอลลาร์ไปทันทีฟรี ๆ ทำให้ยอดดาวน์โหลดทั้งสิ้นกว่า 4 ล้านครั้ง (เอลซัลวาดอร์มีประชากร 6.5 ล้านคน) แต่พอหมดโปรฯยอดการใช้งานก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ความผันผวนอย่างรุนแรงในตลาดคริปโตทำให้ IMF ต้องออกโรงเตือนเอลซัลวาดอร์ว่าอย่าใช้ bitcoin เป็นเงินหลักเลย ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ท้องถิ่นอย่าง Tatiana Marroquin ก็ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะนำงบประมาณแผ่นดินมาเสี่ยง

ในขณะที่ประเทศยังมีเงินไม่มากพอจะช่วยเหลือประชากรกลุ่มเปราะบางด้วยซ้ำ นอกจากนี้ การลงทุนในคริปโตของรัฐบาลยังขาดความโปร่งใสเพราะไม่มีใครรู้ว่ารัฐเอาเงินก้อนไหนมาซื้อ bitcoin

และในขณะที่ประเทศอื่นที่ก่อนหน้านี้มีแผนจะเจริญรอยตามเอลซัลวาดอร์ พากันพับโครงการกันเป็นแถวหลังตลาดคริปโตร่วงหนักมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ประธานาธิบดีนายิบ บูเคเล ยังคงเดินหน้าผลักดัน bitcoin ต่อไปด้วยการผุดโครงการ “Bitcoin City” ที่จะสร้างขึ้นบริเวณตีนภูเขาไฟเพื่อดึงพลังงานความร้อนใต้พิภพมาหล่อเลี้ยงเหมืองผลิต bitcoin ขนาดใหญ่

ประธานาธิบดีนายิบ บูเคเล ตั้งเป้าว่าจะระดมทุน 1 พันล้านดอลลาร์จากการขายพันธบัตร “ภูเขาไฟ” หรือ “Volcano Bonds” เพื่อเอามาสร้างมหานคร bitcoin แห่งนี้

แต่หากดูความเคลื่อนไหวของราคา bitcoin ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อนาคตของโครงการนี้รวมถึงอนาคตของการผลักดันให้ bitcoin เป็นเงินหลักของประธานาธิบดีนายิบ บูเคเล คงไม่ค่อยราบรื่นนัก

เอียน ฮาร์เน็ต Chief Investment Officer ของ Absolute Strategy Research คาดว่าราคาของ bitcoin น่าจะหล่นมาอยู่ที่ประมาณ 13,000 ดอลลาร์ หรือลดลง 80% จากปีก่อนที่ราคาอยู่ที่เหรียญละ 69,000 ดอลลาร์

เขาบอก CNBC ว่า ตัวเลขนี้อ้างอิงเทรนด์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2018 ที่ราคา bitcoin ลดจาก 20,000 เหลือ 3,000 ดอลลาร์ในปี 2017 หรือคิดเป็น 80% เช่นกัน

แม้รัฐบาลเอลซัลวาดอร์จะบอกว่า การที่ราคา bitcoin ร่วงไปแล้ว 50% เป็นเรื่องจิ๊บ ๆ แต่ถ้าวันไหนมันหล่นไป 80% จะยังทำตัวชิล ๆ ได้อีกหรือไม่คงต้องรอดูกัน