ต้นทุนค่าไฟพุ่ง ทุบเหมืองขุดบิตคอยน์เดี้ยง แห่เทขาย BTC บังคับปิดสวิตช์เครื่อง

เหมือง

ขาลงบิตคอยน์เขย่าขวัญนักลงทุนเหมืองขุดแห่เทขายเครื่อง-ปรับแผนจ้าละหวั่น “กูรู” ชี้ปัจจัยลบรุมเร้า ต้นทุน “ค่าไฟ” ป่วนซ้ำถึงจุด บังคับปิดสวิตช์เครื่อง เทียบความคุ้มค่าเครื่องรุ่นใหม่-เก่า คุ้มไม่คุ้ม

วันที่ 26 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า จากสถานการณ์ราคาบิตคอยน์ทั่วโลกเข้าสู่ภาวะขาลงต่อเนื่อง ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการทำเหมืองขุดบิตคอยน์ด้วยเช่นกัน โดยพบว่าตลอดเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีการเทขายบิตคอยน์ (BTC) จากนักขุดจำนวนมากกว่า 25,000 BTC นำไปสู่การเทขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่สะสมไว้ รวมไปถึงจ่อขายฮาร์ดแวร์ หรือ “เครื่องขุด” อย่างต่อเนื่อง

นอกจากราคา BTC ที่ลดลงมาตลอดครึ่งแรกของปี 2565 อีกเหตุผลสำคัญมาจากราคาพลังงานโดยเฉพาะ “ค่าไฟ” ซึ่งถือเป็นต้นทุนสำคัญปรับตัวสูงขึ้นมากทำให้อาจไม่คุ้มกับการลงทุนขุดอีกต่อไป

ปัจจัยลบรุมเร้า

นายคอลลิน ฮาร์เปอร์ นักวิเคราะห์ด้านการทำเหมืองบิตคอยน์ ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์เกี่ยวกับความกดดันของนักขุดบิตคอยน์ใน ฟอร์ปส์ ออนไลน์ และ บิตคอยน์แมกกาซีน (23 มิ.ย.2565) โดยชี้ให้เห็นว่า
นักขุดบิตคอยน์ กำลังเผชิญแรงกดดันมหาศาลจากราคาบิตคอยน์ที่ลดลงและต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ผลักดันให้ต้องเทขายบิตคอยน์ที่เก็บสะสมไว้ออกมา ทั้งยังลดอัตราแรงขุด (Hash rate) และทยอยขายเครื่องขุดเพื่อบริหารจัดการต้นทุนใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

“ปี 2564 ที่ผ่านมา ยังเป็นขาขึ้น หรือเรียกว่าตลาดกระทิง โดยนักขุดทำรายได้สูงมาก รวมแล้ว 16.75 พันล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่าปีก่อนหน้าที่ทำได้เพียง 5 พันล้านเหรียญ และ 5.47 พันล้านเหรียญในปี 2561 เป็นแรงจูงใจให้มีการขยายการลงทุนเพื่อทำเหมืองขนาดใหญ่ โดยนักขุดจำนวนมากใช้การกู้ยืมเพื่อซื้อฮาร์ดแวร์สำหรับขุด (ASIC) ทำให้ราคาเครื่องขุดปรับขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ด้วย”

เครื่องขุดแบบ ASIC
เครื่องขุดแบบ ASIC

เครื่องขุดแบบ ASIC

เช่นเมื่อปีที่ผ่านมา บริษัท Marathon ใช้เงินลงทุน 870 ล้านเหรียญ ซื้อเครื่อง Bittman ant miner S19 จำนวน 112,000 เครื่อง และเมื่อตลาดเข้าสู่ขาลง หรือตลาดหมี ราคาบิตคอยน์ลดลงต่อเนื่อง นักขุดยังคงต้องชำระหนี้ คำสั่งซื้อเครื่องขุดล่วงหน้า และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น หลายคนจึงหันไปขายบิต
คอยน์ที่ถือครองอยู่เดิมเพื่อให้มีสภาพคล่อง โดยข้อมูลจากการวิจัยของ Arcane ระบุว่าในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา นักขุดได้ขายบิตคอยน์ปริมาณพุ่งแบบก้าวกระโดด เรียกว่า ขายทุกอย่างที่ได้จากเครื่องขุด

ตลาดหมีเขย่าขวัญนักขุด

เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลจาก Arcane ร่วมกับข้อมูล on-chain จาก Coin Metrics ATLAS ยังทำให้เห็นว่ามีนักขุดเทขายบิตคอยน์รวมกันไปแล้ว 25k BTC ตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. (ที่ประมาณ 640 ล้านเหรียญสหรัฐจากราคา BTC เฉลี่ยเดือน มิ.ย. ที่ 25,600 เหรียญสหรัฐ) เนื่องจากบิตคอยน์สามารถผลิตได้ 27,000 BTC/เดือน นั่นหมายความว่าอุตสาหกรรมการขุดได้ขายออกไปแล้วเกือบจะเทียบเท่ากับการผลิตในหนึ่งเดือน

การทยอยขายสินทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมาจึงเป็นการผสมผสานระหว่างเหรียญที่ได้มาใหม่ และทุนสำรอง BTC ที่ได้เก็บรักษาไว้ในช่วงตลาดขาขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีนักขุดอีกไม่น้อยทยอยเลิกการขุดแล้ว ทำให้ราคาเครื่องขุด Antminer S19 ที่เคยอยู่ที่ประมาณ 2,000 เหรียญในสิ้นปี 2020 และเพิ่มขึ้นในช่วงตลาดขาขึ้น ในปี 2021 ไปทำราคาสูงสุดที่ประมาณ 7,100 เหรียญสหรัฐ หล่นลงมาอยู่ที่ 3,100 เหรียญสหรัฐ ในขณะนี้ และมีแนวโน้มว่าจะต่ำลงได้อีก

ยื้อต่อไม่ไหวก็ต้องปล่อย

ด้านนายแซ็กค์ วอเอล นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมเหมืองคริปโตเคอร์เรนซีจาก Coindesk และบิตคอยน์ แมกกาซีน เผยแพร่บทความบน nasdaq.com ชี้ให้เห็นว่า นอกจากราคาบิตคอยน์จะสัมพันธ์กับราคาเครื่องขุดแล้ว “อุดมการณ์” ก็มีส่วนสำคัญต่อราคาที่ลดลง

“แรงจูงใจของนักขุดในขายบิตคอยน์และฮาร์ดแวร์ แปรผันตามสภาพตลาด คือเมื่อราคาบิตคอยน์ร่วงลงนักขุดที่วางแผนการบริหารไม่ดีต้องเลือกที่จะถอดปลั๊กเครื่องและขายฮาร์ดแวร์ออกสู่ตลาด อย่างไรก็ตาม เครื่องขุดบิตคอยน์มีฐานะเป็น “เครื่องพิมพ์เงิน” ทำให้เจ้าของไม่เต็มใจที่จะขาย

โดยเฉพาะเจ้าของที่เชื่อมั่นในบิตคอยน์อย่างแรงกล้าจะไม่ขายทันที จะดื้อรั้น และพยายามแบกรับต้นทุนหรือกู้ยืมเพื่อยื้อไว้ในกรณีที่บิตคอยน์ราคาร่วงลงชั่วคราว แต่ถึงจุดที่บิตคอยน์ร่วงลงต่อเนื่องแบบที่นักขุดได้พบเห็นตลอดหลายสัปดาห์นี้ “อุดมการณ์” และความเชื่อมั่นที่แรงกล้าก็ไม่สามารถสู้ต้นทุนบริหารจัดการที่สูงขึ้นมากได้ จึงต้องปิดเครื่องหรือขายเครื่องออกไปอยู่ดี”

เครื่องรุ่นเก่าแบกค่าไฟอ่วม

รายงานข่าวเปิดเผยด้วยว่า Bitdeer แพลตฟอร์มการขุดบิตคอยน์แบบคลาวด์จากสิงคโปร์ ได้เปรียบเทียบความคุ้มค่าของเครื่องขุด เมื่อนำอัตราการขุด มาเทียบกับราคาบิตคอยน์ และค่าไฟจะอยู่ที่ 0.075 เหรียญ หรือ 2.62 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง ( ณวันที่ 13 มิ.ย. ) เพื่อชี้ให้เห็นว่าเครื่องขุดรุ่นใดบ้างที่ขาดทุน และถึงจุดที่ต้อง “ปิดเครื่อง” หรือ “Shutdown price”

โดยข้อมูลชี้ให้เห็นว่ามีแค่เครื่องขุดบิตคอยน์รุ่นใหม่ที่ใช้ระบบน้ำหล่อเย็น อาทิ ซีรี Antminer S19 ของบริษัท Bittman รุ่น XP หรือรุ่น Pro เท่านั้นที่ยังให้ผลตอบแทนสูงกว่าค่าไฟ ซึ่งจุดบังคับปิด อยู่ลึกที่สุด คือ เมื่อบิตคอยน์ร่วงถึง 11,942-16,411 เหรียญ จึงจะโดนบังคับให้ปิดเครื่อง

สถานการณ์ดังกล่าวไม่มากก็น้อยน่าจะส่งผลกับหลายบริษัทในบ้านเราที่เคยประกาศแผนการลงทุนเหมืองขุดบิตคอยน์ด้วย

หากเครื่องขุดที่ซื้อเป็นของ Bittman ก็น่าสนใจว่าเป็นเครื่องรุ่นไหน หากไม่ใช่สองรุ่นข้างต้นก็อาจหนักเอาเรื่อง เมื่อพิจารณาเรตค่าไฟฟ้าบ้านเราที่อยู่ในอัตรา 49-4.3 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง สูงกว่าค่าไฟฟ้าตามเรตสิงคโปร์ที่ Bitdeer อ้างถึงเกือบเท่าตัว

น่าจับตาว่าจะเกิดเหตุการณ์ “บังคับปิด” เครื่องขุด เพราะไม่คุ้มหรือไม่ หรือการ “เทขาย” เครื่องขุดเพื่อเติมสภาพคล่องหลังจากตบเท้าลงทุนกันพรึ่บพรั่บในช่วงที่ราคาบิตคอยน์สูงกว่าราคาวันนี้กว่า 45% (ณ ม.ค. 65 ราคาบิตคอยน์อยู่ที่ราว 39,000 เหรียญ/BTC ปัจจุบันลงมาที่ 21,000 เหรียญ/BTC)


แหล่งที่มา : Bitcoin Miners Face Pressure To Sell OffHoldings Amid Plunging Profitability (forbes.com) As Bitcoin Price Falls, Is Now The Time To Buy Mining Rigs ? | Nasdaq