คนไทย 70% เครียดขึ้นจากวิกฤตค่าครองชีพ รายได้สวนทางรายจ่าย

ภาพจาก pixabay

“มาร์เก็ตบัซซ” เผยสถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงขึ้น เพิ่มความเปราะบางต่อภาวะการเงินของครัวเรือนไทย 75% กระทบเชิงลบต่อสุขภาพจิต และสร้างความเครียดให้ผู้บริโภคในวงกว้างถึง 70%

วันที่ 28 มิถุนายน 2565 รายงานผลการวิจัยโดยมาร์เก็ตบัซซ ในกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 1,000 คน พบว่า 75% มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นทุกวัน และส่งผลกระทบอย่างมากต่อสถานะทางการเงินส่วนบุคคล โดย 70% ยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวได้บั่นทอนสุขภาพจิตด้วย

โดยผลการสำรวจยังพบอีกว่า ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ร่วมกับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการใช้ชีวิตของคนไทย โดย 52% ประสบปัญหารายได้ลดลง ทำให้สภาพคล่องทางการเงินลดลง เทียบกับปีที่แล้ว

โดยเฉพาะในกลุ่มฐานรากได้รับความเดือดร้อนต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จากโควิด-19 หรือกลุ่มคนวัยทำงานที่มีความเสี่ยงจากรายได้ต่อเดือนไม่คงที่ เช่น เจ้าของกิจการขนาดเล็ก, ผู้ที่ทำงานอิสระ หรือฟรีแลนซ์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ค่าครองชีพที่สูงยังสร้างปัญหาให้กับครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ, ผู้บริโภคในภาคอีสาน หรือผู้ที่กำลังว่างงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเปราะบางอยู่แล้ว

จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว คนไทยมีค่าใช้จ่าย 70% เมื่อเทียบกับรายได้ทั้งหมดต่อเดือน และมีเงินออม 30% อย่างไรก็ตาม ประชากรในภาคอีสาน และภาคใต้ มีแนวโน้มประสบปัญหาทางการเงินมากกว่าผู้บริโภคในภาคอื่น ๆ เนื่องจากค่าใช้จ่ายต่อเดือนสูงถึง 80% ของรายได้ และเมื่อพิจารณาสัดส่วนค่าใช้จ่าย พบว่า

คนไทยส่วนใหญ่ใช้เงินไปกับค่าอาหาร และของใช้ภายในบ้าน มากที่สุดถึง 1 ใน 4 ของรายจ่ายทั้งหมด รองลงมาเป็นค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า, ค่าน้ำ, ค่า WiFi / อินเทอร์เน็ต (13%), ค่าช็อปปิ้งของใช้ส่วนตัว หรือการดูแลสุขภาพ ความสวยความงาม (9%) ค่าผ่อนบ้าน, ค่าเช่าบ้าน หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่พักอาศัย (9%) เป็นต้น

ผลการวิจัยโดยมาร์เก็ตบัซซ เปิดเผยอีกว่า 62% จากกลุ่มตัวอย่างมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการสินค้า หรือบริการมีราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน, สาธารณูปโภค หรือการเดินทาง เช่น ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน เป็นต้น

จากผลสำรวจพบว่าคนไทยมีการวางแผนรับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดย 67% ตั้งใจงด หรือลดค่าใช้จ่ายสำหรับสินค้าหรือบริการที่ไม่มีความจำเป็น, 50% ปรับพฤติกรรมในการบริโภค/อุปโภค เช่น ลดการรับประทานอาหารที่มีราคาแพง, ลดการใช้ของต่าง ๆ ให้น้อยลง, 43% พยายามซื้อสินค้าหรือบริการที่ให้ข้อเสนอที่ดีที่สุด เช่น คูปอง, แสตมป์, ส่วนลด เป็นต้น

นายแกรนท์ บาร์โทลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มาร์เก็ตบัซซ กล่าวว่า ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคไม่เพียงแต่กังวลเรื่องรายได้ที่ลดลงเท่านั้น ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นก็เป็นสิ่งที่น่ากังวลด้วย โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ค่าอาหาร, ค่าสาธารณูปโภค และค่าน้ำมัน เป็นต้น

ผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นอีกว่าปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพจิต โดย 70% ยอมรับว่ากำลังประสบกับภาวะเครียด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่อายุ 35-44 ปี, ผู้หญิง, ประชากรในภาคอีสาน, ภาคใต้ หรือเจ้าของกิจการขนาดเล็ก

“การที่คนต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น  ท้ายที่สุดแล้วจะส่งผลต่อสภาพจิตใจ คนส่วนใหญ่กว่า 70% อ้างว่าได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว ทำให้เกิดภาวะเครียดขึ้นจึงวางแผนรับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นโดยงดการจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่วิธีการดังกล่าวก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ในระยะยาว หากปัญหาเรื่องราคายังไม่ได้รับการแก้ไข หรือคลี่คลายในอนาคต”

ดังนั้น คนไทยส่วนใหญ่จึงมีมาตรการรัดเข็มขัดการใช้จ่ายในครัวเรือน เพื่อหลีกเลี่ยงการก่อหนี้ หรือภาวะหนี้ในครัวเรือน เนื่องจากรายได้น้อยลงสวนทางกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น


อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคไม่สามารถปรับตัวกับการที่รายได้ลดลง ประกอบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่คนเหล่านั้นจะรู้สึกกดดันในการดำเนินชีวิต และส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต ซึ่งอาจเกิดปัญหาทางสังคมอื่น ๆ ตามมาก็เป็นได้