ไทยครองแชมป์ใช้เน็ตมือถือมากสุด เครือข่ายแออัดใน 5 ปี

เน็ตมือถือ

คนไทยใช้เน็ตมือถือโดยเฉลี่ย 45 จิกะไบต์ต่อเดือน สูงกว่าทั่วโลก อีริคสันชี้ 2027 คนไทยจะใช้ 5G มากกว่า 69% อาจเกิดความแออัดบนเครือข่าย แนะเร่งหาทางนำคลื่น 3.5 จิกะเฮิร์ซ มาพัฒนาใช้งาน

วันที่ 30 มิถุนายน 2565 อีริคสัน เผยแพร่รายงาน Ericsson Mobility Report ชี้ว่าในปี 2565 คาดว่ายอดผู้สมัครใช้งาน 5G ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียจะเพิ่มขึ้นสองเท่า จาก 15 ล้านบัญชี ณ สิ้นปี 2564 และภายในสิ้นปี 2565 จะมียอดสมัครใช้บริการ 5G ทั่วโลกมากแตะ 570 ล้านบัญชี ภายในปี 2570 และหนึ่งพันล้านบัญชีในระยะอันใกล้

อิกอร์ มอเรล
อิกอร์ มอเรล

โดยปริมาณการใช้ข้อมูลหรือถ่ายโอนข้อมูลบนมือถือต่อสมาร์ทโฟนยังคงเติบโตต่อเนื่อง เฉพาะในประเทศไทยมีการใช้งานเฉลี่ย 45 จิกกะไบต์ (GB) ต่อเดือน ภายในปี 2570 หรือเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 30% ขณะที่การเติบโตเฉลี่ยของทั่วโลกอยู่ที่ 40 จิกะไบต์ ต่อเดือนเท่านั้น

นายอิกอร์ มอเรล ประธานบริษัท อีริคสัน ประเทศไทย กล่าวว่า “ในตลาดอาเซียนโดยเฉพาะประเทศไทยมีการเติบโตชัดทั้งด้านจำนวนผู้ใช้ และปริมาณการใช้งาน 5G สูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาดโลก ด้วยไทยมีพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มที่เป็น Tech Savvy ระดับต้น ๆ ของโลก”

“อีริคสันดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน เห็นพฤติกรรมและแนวโน้มการเติบโตที่จะเกิดขึ้นจึงมีความพร้อมที่จะร่วมพัฒนาระบบนิเวศ 5G ของไทย ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี XR/AR การเล่นเกมบนคลาวด์ และช่วยเหลือองค์กรต่าง ๆ เร่งเปลี่ยนผ่านธุรกิจไปสู่ยุคดิจิทัล ด้วยการนำเสนอคลื่น 5G ทั้งย่านความถี่ต่ำกลาง และสูง ที่เป็นกุญแจสำคัญสำหรับมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า เต็มไปด้วยสมรรถนะของสัญญาณ ความครอบคลุม และความเร็วที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ใช้ 5G ในประเทศไทย”

สำหรับอัตราการเติบโตสูงของการ 5G ไทย จะมีปัญหาในแง่ของความแออัดของช่องการสื่อสาร (Mobile Data Traffic) โดยค่า CAGR ที่โต 23% จนถึงปี 2027 จะทำให้การใช้งานข้อมูลมือถือบนความถี่ 5G มีมากถึง 69% ในขณะที่การใช้งานมือถือบนคลื่น 5G ปัจจุบัน ยังใช้แค่ 19% เท่านั้น ซึ่งต้องใช้การพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานและระบบนิเวศปัจจุบันเพื่อเตรียมการรองรับอีกมาก ซึ่งอีริคสันจะเข้ามาช่วยพัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุนระบบนิเวศต่าง ๆ ของ 5G

เมื่อหันมาพิจารณาผู้ให้บริการโทรคมนาคมของไทย 3 ค่าย คือ เอไอเอส ดีแทค และทรู จากการคำนวณของรายงานเราจะเห็นว่าในช่วงปี 2027 ที่ 5G กลายเป็นกระแสหลัก เอไอเอส ยังคงเป็นรายใหญ่ของตลาด 5G ส่วนทรูและดีแทคเคลื่อนไหวของการถ่ายโอนข้อมูลมือถือใกล้เคียงกัน ดังนั้นหากทรูและดีแทครวมกัน อาจจะเห็นการเติบโตของการถ่ายโอนข้อมูลมือถือที่น่าสนใจในการพัฒนา 5G และคงใกล้เคียงกับ เอไอเอสมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นำมาซึ่งเติบโตของการใช้งานถ่ายโอนข้อมูลมือถือ นำมาซึ่งความหนาแน่นของการใช้งานบนเครือข่าย ดังนั้นต้องรีบมองหาความถี่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นั่นคือ คลื่น 3.5 จิกะเฮิร์ซ เพื่อนำมาพัฒนาต่อให้ได้

ปัญหาสำคัญที่จะเป็นอุปสรรคในการพัฒนาระบบนิเวศ 5G ของอีริคสัน ร่วมกับพาร์ตเนอร์ต่าง ๆ คือ ตัวเทคโนโลยีเองที่ยังต้องพัฒนา ปัญหาซัพพลายที่ยังไม่มีความแน่นอนจากปัญหาโลก และที่สำคัญคือ กฎระเบียบที่อาจขัดขวางการทำงานต้องทำให้ชัดเจน อีกส่วนที่สำคัญ คือ การพัฒนาคน ที่เป็นคอขวด เช่นในอเมริกา มีโครงสร้าง มีเทคโนโลยี แต่ไม่มีคนที่มีทักษะมาบริหารจัดการ

อิริคสัน มองว่า สำหรับ 5G อาจจะเริ่มถึงจุดอิ่มตัวช่วงปี 2027 แม้จะมีการใช้งานอยู่เรื่อย ๆ แต่หลังจากนั้น โครงข่าย 6G จะมาถึงและจะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงโลกเสมือนและโลกจริงอย่างไร้ร่องรอย นั่นก็เป็นสิ่งที่อิริคสันกำลังศึกษาและพัฒนาเช่นกัน

นอกจากนี้ 5G ไม่ได้แสดงให้เห็นการใช้งานด้านโมบายที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ 5G ทำให้การบริหารต้นทุน FWA (Fixed Wireless Access) ลดลงทำให้เอื้อต่อการเติบโตถึง 110 ล้านจุดเชื่อมต่อในปี 2027 ส่งผลให้การถ่ายโอนข้อมูลสะดวกขึ้นและจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวภายในปี 2570 แตะระดับ 230 ล้านจุด

ในส่วนของ Internet of Thing (IOT) ตามรายงานระบุว่าในปี 2564 บรอดแบนด์ IOT (4G/5G) แซงหน้า 2G และ 3G กลายเป็นเทคโนโลยีหลักที่ใช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่เชื่อมสัญญาณเซลลูลาร์แบบ IOT มากที่สุด หรือคิดเป็น 44% ของการเชื่อมต่อทั้งหมด เทคโนโลยีเชื่อมต่อ IOT (NB-IoT, Cat-M) เพิ่มขึ้นเกือบ 80% ช่วงปี 2564 โดยมีการเชื่อมต่อแตะ 330 ล้านจุด และคาดว่าจำนวนอุปกรณ์ IOT ที่เชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้จะแซงหน้าเทคโนโลยี 2G/3G ภายในปี 2566