คว่ำสิทธิทำแท้งสู่วิบากกรรมยุคดิจิทัล

คอลัมน์ : Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

วันที่ 24 มิถุนายน 2565 เป็นอีกวันที่ต้องจดจำในประวัติศาสตร์เรื่องสิทธิสตรีเหนือร่างกายตัวเอง หลังจากศาลสูงสหรัฐประกาศคว่ำคำตัดสินเมื่อ 50 ปีก่อนที่เคยรับรองสิทธิของผู้หญิงในการทำแท้งว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ

การตัดสินครั้งนี้เปิดทางให้แต่ละรัฐมีสิทธิในการกำหนดกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งของตัวเอง

พูดอีกอย่างก็คือ การตัดสินของศาลครั้งนี้เป็นการโยนสิทธิของสตรีให้กลับไปอยู่ในอุ้งมือของผู้มีอำนาจรัฐอีกครั้ง ดังนั้น หากโชคร้ายดันไปอยู่ในรัฐอนุรักษนิยมที่ต่อต้านการทำแท้ง ทุกการกระทำที่เกี่ยวกับการทำแท้งจะกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายทันที ซึ่งนอกจากผู้หญิงที่เป็นคนทำแท้งจะโดนข้อหาแล้ว ทุกคนที่เกี่ยวข้องก็อาจโดนหางเลขไปด้วย

เนื่องจากโลกเปลี่ยนไปมากจากเมื่อ 50 ปีก่อน ผลของการตัดสินครั้งนี้ยังส่งผลกระทบต่อหลายวงการที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต โดยเฉพาะวงการเทคโนโลยีทุกวันนี้จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ทุกครั้งที่เราค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต เราได้ทิ้งร่องรอย digital footprint ไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถใช้เป็นหลักฐานมัดตัวเราและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ในภายหลัง

ดังนั้น แพลตฟอร์มออนไลน์จึงกลายเป็นทั้งผู้ส่งเสริมสิทธิสตรีในการเข้าถึงข้อมูลและบริการที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสอดส่องพฤติกรรมของผู้ใช้งานไปด้วยในตัว ความกังวลต่อการรักษาความเป็นส่วนตัวผู้ใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์

กลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อหลายฝ่ายแสดงความกังวลว่าเจ้าหน้าที่อาจขอข้อมูลจากแพลตฟอร์มเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นประวัติการค้นหา พิกัดการเดินทาง ธุรกรรมการเงิน ไปจนถึงข้อความที่ส่งหากันผ่านเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นหลักฐานเอาผิดต่อไป

เอลิซาเบท สมิท จาก Center for Reproductive Rights ออกมาเตือนผู้ใช้งานเพิ่มความระมัดระวังเวลาใช้งานดิจิทัล แพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในรัฐที่การทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ก่อนหน้านี้ ส.ส.จากพรรคเดโมแครตเคยส่งจดหมายเปิดผนึกไปยัง Google แสดงความกังวลว่านโยบายเกี่ยวกับการโฆษณาและการเก็บข้อมูลของบริษัท อาจกลายเป็นเครื่องมือสำคัญให้พวกหัวอนุรักษ์สุดโต่งใช้ในการไล่ล่าผู้หญิงที่ต้องการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์

ทันทีที่ศาลสูงมีคำตัดสินออกมาในวันที่ 24 มิถุนายน ก็มีวุฒิสมาชิกกลุ่มหนึ่งที่ส่งจดหมายกดดันไปยังคณะกรรมาธิการว่าด้วยการค้าแห่งสหพันธรัฐ (Federal Trade Commission : FTC) ให้เรียก Google และ Apple มาสอบสวนกรณีที่การขายโฆษณาของบริษัทอาจเป็นภัยต่อผู้ที่ต้องการทำแท้งในอนาคต โดยในจดหมายดังกล่าวระบุว่า

การขายข้อมูลผู้ใช้งานไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในอนาคตผู้บังคับใช้กฎหมายสามารถออกหมายค้น เพื่อขอข้อมูลการเดินทางและพิกัดการเคลื่อนไหวของผู้ต้องสงสัยทุกคนที่เคยไปเยือนคลินิกทำแท้งต่าง ๆ ทางกลุ่มจึงขอเรียกร้องให้ FTC สอบสวนบทบาทของ Apple และ Google ในการทำให้บริการโฆษณาออนไลน์กลายเป็นระบบสอดแนมขนาดใหญ่ ที่อาจยิ่งส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้มีการเก็บและขายข้อมูลของผู้ใช้งานมากขึ้น

ทั้งนี้ เชื่อกันว่าเหยื่อที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ คนผิวสี ชนกลุ่มน้อย คนจน และผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้บริการที่มีจำนวนสูงขึ้นของบริการจ่ายยาออนไลน์เพื่อยุติการตั้งครรภ์ด้วยตนเอง หลังจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอนุมัติให้มีการส่งยาเพื่อยุติการตั้งครรภ์แบบดีลิเวอรี่ตั้งแต่ช่วงโควิด

ยิ่งพึ่งพาบริการออนไลน์มากขึ้น ก็ยิ่งทิ้งร่องรอยบนโลกดิจิทัลที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดูไม่สู้ดีนักในรัฐที่เข้มงวดเรื่องการทำแท้งอย่างมิสซูรีที่กำลังผลักดันให้เพิ่มมาตรการลงโทษทุกคน ทั้งที่อยู่ในรัฐและนอกรัฐที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง ทั้งหมอ คนพาไปส่ง หรือแม้กระทั่งเจ้าของเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำแท้ง

นอกจากนี้ รัฐยังอาจออกหมายค้นทางภูมิศาสตร์ (geofence warrant) เพื่อให้ผู้บังคับใช้กฎหมายสามารถค้นหาฐานข้อมูลเพื่อค้นหาอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ใช้งานทั้งหมดภายในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบสำนวนคดีได้ด้วย (Google ระบุในรายงานประจำปีว่า จำนวนการออกหมายค้นประเภทนี้ที่บริษัทได้รับเพิ่มขึ้นจาก 982 หมาย เป็น 11,554 หมาย ระหว่างปี 2018-2020)

การใช้ประวัติการค้นหาบนอินเทอร์เน็ต เคยถูกใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องเอาผิดสตรีที่ทำแท้งมาแล้วในปี 2018 ในรัฐมิสซูรี ที่โดยจำเลยโดนฟ้องข้อหาฆาตกรรมโดยเจตนาเเต่ไม่ได้ไตร่ตรองไว้ก่อน (second degree murder) หลังยุติการตั้งครรภ์ด้วยตนเองที่บ้าน โดยเจ้าหน้าที่นำประวัติการค้นหาวิธีการซื้อยาทำแท้งอย่าง Mifepristone และ Misoprostol ออนไลน์ของจำเลยมาเป็นหลักฐานประกอบในการดำเนินคดี

แม้ศาลจะยกฟ้องในที่สุด แต่คดีนี้ได้สร้างบรรทัดฐานเรื่องการนำ digital footprint มาใช้เอาผิดในทางกฎหมายได้ ทำให้กลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิสตรีก็ต้องหาทางรับมือเฉพาะหน้าด้วยการออกคู่มือให้ความรู้แก่ผู้ใช้งาน เพื่อช่วยกลบร่องรอยดิจิทัลให้ได้มากที่สุด เช่น แนะนำให้ปิดการใช้ personalized ads บน Google และโซเชียลมีเดียอื่น

ไปจนถึงการปิด location sharing และการเลือกใช้บราว์เซอร์อย่าง DuckDuckGo หรือ Firefox Focus ที่ไม่บันทึกข้อมูลการค้นหาและไม่อนุญาตให้บริษัทอื่นเข้าถึงข้อมูลการใช้งาน หรือไม่ก็เลือกใช้ VPNs ไปเลย นอกจากนี้ ยังแนะให้เลือก Signal หรือ WhatsApp ที่มีระบบ end-to-end encryption แทนที่การส่งข้อความใช้งานโซเชียลมีเดียทั่วไปด้วย

แม้เทคนิคเหล่านี้จะไม่สามารถปกปิดประวัติการใช้งานได้ 100% แต่อย่างน้อยก็ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำงานยากขึ้นในการเสาะหาร่องรอยดิจิทัลของผู้ใช้ อย่างไรก็ตาม การคว่ำสิทธิทำแท้งได้ส่งผลกระทบตามมาอีกหลายมิติ ไม่เฉพาะสตรีที่ถูกลิดรอนสิทธิไปเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นวิบากกรรมที่ผู้ให้บริการดิจิทัลต้องเผชิญปัญหาอีกหลายตลบ