“วิดีโอ” ดันดาต้าโตทะลุเดือด “อีริคสัน” ปักธง 5G มาแน่

ความนิยมในการใช้งานโซเชียลมีเดียมาคู่กับสมาร์ทโฟน และการเพิ่มขึ้นของการใช้งานแพ็กเกจดาต้า ทำให้ค่ายมือถือทั้งหลายต้องลงทุนพัฒนาขีดความสามารถของโครงข่ายให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย จากเทคโนโลยี 3G-4G ปัจจุบันมาสู่ 5G ในอนาคตอันใกล้

ในฐานะผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคม “อีริคสัน” จัดทำรายงาน Ericsson Mobility Report เดือน พ.ย.ที่ผ่านมาระบุว่า ภายในปี 2566 ประเทศไทยจะมีผู้สมัครใช้สมาร์ทโฟนถึง 100 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 87% ของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด ที่คาดว่าจะมีถึง 115 ล้านราย เพิ่มจากปี 2560 ที่มีอยู่ 95 ล้านราย

“นาดีน อัลเลน” ประธาน บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยี LTE หรือ 4G ได้เป็นเทคโนโลยีหลักของโลกในปัจจุบัน โดยมีผู้ใช้มากถึง 2,500 ล้านคน จากจำนวน

ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่มีอยู่ 7,800 ล้านคนทั่วโลก และ 5,000 ล้านคน ใช้โมบายบรอดแบนด์ และคาดว่าภายในปี 2566 จะมีผู้ใช้ LTE ถึง 5,500 ล้านคน หรือครอบคลุม 85% ของประชากร โดย LTE และ 5G จะเข้ามาแทนระบบ GSM อีก 3 ปี 5G ใช้งานแพร่หลาย

โดยเทคโนโลยี 5G แบบ nonstandalone ที่ต่อยอดขึ้นจากโครงข่าย LTE จะเริ่มต้นใช้ภายในปลายปี 2560 ส่วนเทคโนโลยีแบบ standalone มาตรฐานจะออกในช่วงกลางปี 2561 และคาดว่าจะเริ่มใช้งานในปี 2562 และในปี 2563 จะใช้อย่างแพร่หลาย โดยภูมิภาคที่มีแนวโน้มในการใช้งาน 5G มากที่สุด ได้แก่ เอเชียตะวันออก, ยุโรปตะวันตก, อเมริกาเหนือ คาดว่าภายในปี 2566 จะมีการใช้เทคโนโลยี 5G ครอบคลุมกว่า 20% ของประชากรโลก หรือกว่า 1,000 ล้านคน

สำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้ใช้ประมาณ 650 ล้านคน และคาดด้วยว่าการมาของเทคโนโลยี 5G จะช่วยให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) มีรายได้เพิ่มขึ้น 36% ภายในปี 2569 หรือประมาณ 619,000 ล้านเหรียญ โดยเทคโนโลยีที่รองรับ Internet of Things (IOT) จะมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก

“วิดีโอ” เพิ่มการใช้ข้อมูล 8 เท่าในอเมริกาเหนือ การใช้งานดาต้าของสมาร์ทโฟนหนึ่งเครื่องโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 7 GB/เดือน และภายในปี 2018 ปริมาณการใช้ดาต้าทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 8 เท่า เป็น 110 exabyte/เดือน จากปัจจุบันที่มีการใช้งาน 14 exabyte/เดือน ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น 9 เท่า หรือประมาณ 12 exabyte/เดือน โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดการใช้ข้อมูลเพิ่มขึ้น 75% มาจากคอนเทนต์ประเภทวิดีโอ เนื่องจากวิดีโอมีความละเอียดสูงขึ้น และมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากขึ้น

5G ดันรายได้ดาต้าพุ่งพรวด

การมาถึงของ 5G ช่วยเพิ่มโอกาสในการเพิ่มรายได้ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในไทย โดยมีคาดการณ์ว่า ภายในปี 2566 จะเพิ่มรายได้ถึง 22% หรือ 2,600 ล้านเหรียญ รายได้ส่วนนี้จะมาจากภาคธุรกิจ เช่น โรงงาน, สาธารณูปโภค, พลังงาน, ความปลอดภัยสาธารณะ, เฮลท์แคร์ จากเดิมที่รายได้ส่วนใหญ่มาจากผู้ใช้ทั่วไป และคาดว่าปริมาณผู้สมัครใช้บริการ LTE/5G จะเติบโตเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจากปี 2560 ถึงปี 2566 ทำให้สัดส่วนผู้สมัครใช้บริการ LTE/5G มีมากกว่า 60% ของผู้สมัครใช้บริการโทรศัพท์มือถือทั้งหมด โดยมีตัวขับเคลื่อนหลักมาจาก “สมาร์ทโฟน” และการใช้สมาร์ทโฟนในไทยจะมีเกินกว่า 100 ล้านเครื่องในปี 2563

ผลการวิจัยข้อมูลจาก App Annie ของอีริคสันยังพบว่า ปริมาณผู้สมัครใช้บริการแพ็กเกจข้อมูลในประเทศไทยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีผู้สมัครใช้บริการข้อมูลมากกว่า 5 GB/เดือน เพิ่มขึ้นจาก 49% เป็น 66% เนื่องจากการแข่งขันในตลาด และความต้องการของผู้ใช้ที่เพิ่มมากขึ้น

“โอเปอเรเตอร์มีความท้าทายเพิ่มขึ้น เนื่องจากลงทุนไปทั้งหมด แต่เก็บได้แค่ค่าบริการรายเดือน เเต่ธุรกิจออนท็อปอย่าง OTT เช่น ยูทูบ กลับมีรายได้มากกว่าผู้ให้บริการ ดังนั้น 5G จะทำให้เกิดบิสซิเนสโมเดลใหม่ ๆ ทำให้โอเปอเรเตอร์อยู่รอดได้”

ผู้บริหาร “อีริคสัน” กล่าวอีกว่า เทคโนโลยี 5G อาจไม่ต้องลงทุนด้านฮาร์ดแวร์ เนื่องจากสามารถลงทุนด้านซอฟต์แวร์ หรือนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไปปรับใช้ เช่น คลาวด์, software-defined network จึงช่วยลดต้นทุนได้ แต่อาจติดปัญหาเรื่องคลื่นความถี่ เพราะเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำเป็นต้องจัดสรรคลื่นเพิ่ม จึงต้องรอดูว่า กสทช.จะวางแผนการจัดสรรคลื่นอย่างไร

“ปัจจุบันโอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 ราย เตรียมรับมือ 5G อยู่แล้ว โดยเริ่มมองว่าจะมีการเปลี่ยนเครือข่ายอย่างไร และต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งเราเองก็พร้อมสนับสนุนเต็มที่ในฐานะผู้ผลิตอุปกรณ์โครงข่ายรายแรกที่นำเทคโนโลยี 5G เข้ามาทดสอบในประเทศไทยที่ความเร็วระดับ 5.7 Gbps”