ค้าปลีกมือถือ-ไอทีปรับกลยุทธ์ ร้านตู้สาหัสบิ๊กเนมเร่งปั๊มสาขา

ส่องตลาด “มือถือ-ไอที” แข่งขันเดือด “ค่ายมือถือ-แบรนด์-ค้าปลีก” เร่งปั๊มยอดอุตลุด “ร้านตู้” สาหัสทยอยปิดตัว “เจมาร์ท” ลงทุนใหม่ 300 ล้าน เพิ่มสาขาทั่วประเทศ แปลงโฉมร้าน-เว็บไซต์ ตอบโจทย์ลูกค้า “ดิจิทัล” ฟาก “ทีจีโฟน” โฟกัสบริการ เสริมทัพการขาย “แอดไวซ์” ดึงออนไลน์เพิ่มทางเลือกผู้บริโภค

นายดุสิต สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมตลาดโทรศัพท์มือถือปี 2560 ในแง่รายได้เติบโตขึ้น 6-7% เป็นจำนวนเครื่องราว 20 ล้านเครื่อง ลดลงจากปีก่อน เนื่องจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือไม่ได้มีแคมเปญแจกเครื่อง แต่ราคาเฉลี่ยต่อเครื่องขยับเพิ่มขึ้นจาก 6,800 บาท เป็น7,200 บาท โดยกลุ่มสินค้าที่ขายดีมีราคา 9,000-10,900 บาท เพราะแบรนด์ต่าง ๆ เน้นทำตลาดในเครื่องกลุ่มนี้

มือถือแข่งดุกระทบ “ร้านตู้”

สำหรับปีนี้คาดว่ากลุ่มสินค้าที่ขายดีจะมีราคา 10,000-15,000 บาท จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มักมีความต้องการซื้อสินค้าที่ดีขึ้นกว่าเดิม และประเมินว่าแบรนด์มือถือจะขยับไปแข่งขันกันในกลุ่มสินค้าราคาระดับดังกล่าวมากขึ้น ทำให้ตลาดรวมปี 2561 จะเติบโตได้อย่างน้อยในระดับเดียวกับปี 2560

“ในแง่จำนวนเครื่องอาจไม่โต แต่มูลค่ารวมโต เทคโนโลยีที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อน่าจะเป็นหน้าจอสัดส่วน 18:9 และแบตเตอรี่ที่ความจุเพิ่มขึ้น ส่วนเรื่องคุณภาพกล้องส่งผลกับตลาดกลุ่มบนมากกว่ากลุ่มอื่นในแง่การแข่งขันของแบรนด์มือถือต่าง ๆ จะเข้มข้นมาก มีแบรนด์ใหม่เข้ามาเพิ่มอีก ทำให้แบรนด์ที่ครองตลาดมานาน เช่น ซัมซุงได้รับผลกระทบ แต่ยังดีที่สินค้ากลุ่มไฮเอนด์ไปได้ดี และมีผู้เล่นไม่กี่ราย”

สำหรับเจมาร์ทตั้งเป้าการเติบโตในปี 2561 ที่ 10% โดยมาร์เก็ตแชร์ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากร้านตู้ที่เริ่มลดจำนวนลง เนื่องจากไม่มีกำลังทำแคมเปญกระตุ้นการขายได้เหมือนเชนสโตร์ ทั้งปีที่ผ่านมาเชนสโตร์แต่ละรายยังแข่งกันดุเดือดทั้งโปรโมชั่นแจกของ และลดราคา รวมทั้งโปรแกรมผ่อนชำระ 0% ซึ่งคาดว่าในปี 2561 นี้จะลดดีกรีการทำโปรโมชั่นลง หันมาโฟกัสผลกำไรมากขึ้น

“เจมาร์ท” แปลงโฉมร้าน-เว็บ

โดยแผนการดำเนินงานของเจมาร์ทในปีนี้ นอกจากขยายสาขาเพิ่มจาก 225 แห่ง เป็น 300 แห่ง ปรับปรุงร้านให้ดึงดูดขึ้น ยังเน้นแบรนด์สินค้าที่ทำกำไรโดดเด่น รวมถึงมีบริการดิจิทัลเพิ่มประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 300 ล้านบาท

“เราให้ความสำคัญกับการทำตลาดในกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีบัตรเครดิต และใช้โปรแกรมเงินผ่อน 18 เดือน กระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อ และเพื่อตอบสนองลูกค้าได้มากกว่าช่องทางออนไลน์ทั่วไปจึงเพิ่มเติมบริการต่าง ๆ ที่ไม่สามารถรับได้จากออนไลน์ เช่น บริการโอนถ่ายข้อมูลจากเครื่องเก่าสู่เครื่องใหม่ และให้ระยะเวลาการันตีเพิ่ม”

นอกจากนี้ยังปรับรูปแบบเว็บไซต์ jaymart.co.th เป็น jaymartstore.com และเพิ่มสิทธิพิเศษให้ลูกค้า เช่น ประกันการเปลี่ยนเครื่องภายใน 30 วัน และส่งสินค้าให้ภายใน 3 ชั่วโมง (ในกรุงเทพฯ)

ด้านนายไพโรจน์ ถาวรสภานันท์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีจี เซลลูล่าร์เวิลด์ จำกัด (ทีจีโฟน) กล่าวว่า ยอดขายในตลาดรวมสมาร์ทโฟนปีที่ผ่านมาอยู่ที่

20 ล้านเครื่อง มีมูลค่า 1.2 แสนล้านบาท เติบโตราว 15% เนื่องจากผู้บริโภคเน้นใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น จึงมองหาสมาร์ทโฟนที่หน้าจอใหญ่ขึ้น และมีประสิทธิภาพดีขึ้น ทำให้ราคาเฉลี่ยต่อเครื่องสูงขึ้น และคาดว่าในปีนี้ตลาดยังเติบโตได้อีกในเชิงมูลค่า แต่จำนวนเครื่องน่าจะถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ขณะที่ระยะเวลาในการเปลี่ยนเครื่องอยู่ที่ 1 ปีครึ่ง-2 ปี โดยโอเปอเรเตอร์ยังผลักดันมือถือเฮ้าส์แบรนด์ราคา 2,000-3,000 บาท ออกมาจูงใจผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้สมาร์ทโฟน ส่งผลให้ฟีเจอร์โฟนลดลง ซึ่งเครื่องที่ขายในร้านทีจีโฟนจะเป็นสมาร์ทโฟนกว่า 90%

“ทีจีโฟน” ลุย “ออมนิแชนเนล”

“โอเปอเรเตอร์ผลักดันเฮาส์แบรนด์ไม่ได้ส่งผลต่อทีจีโฟน เนื่องจากเป็นลูกค้าระดับล่างล่าง ไม่ใช่กลุ่มที่เราโฟกัส เราเน้นกลุ่มกลางถึงบน ราคา 8,500-9,000 บาท ปีที่ผ่านมาทำยอดขายได้ 1.4 ล้านเครื่อง มีรายได้เกือบหมื่นล้านบาท โตจากปีก่อนไม่เกิน 5% ซึ่งในแง่การแข่งขันยังดุเดือดเหมือนเดิมในเรื่องโปรโมชั่น ไม่ใช่แค่โอเปอเรเตอร์หรือเฉพาะในกลุ่มเชนสโตร์ แต่รวมถึงแบรนด์ต่าง ๆ แข่งหนักมาก ทำให้ร้านตู้อยู่ยากขึ้น และคาดว่าปีนี้จะยังแข่งเหมือนเดิม เช่น เชนสโตร์ ยังมีโปรโมชั่นแถมของ และผ่อน 0% เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม บริษัทจะหลีกเลี่ยงการแข่งโปรโมชั่นโดยหันไปสร้างความแตกต่างทั้งในแง่การตกแต่งร้าน และพัฒนาพนักงานขาย เนื่องจากการบริการเป็นกลยุทธ์หลักที่บริษัทให้ความสำคัญ เช่น มีการสอนเรื่องการใช้งาน, การเซตอัพเครื่อง พร้อมขยายสาขาเพิ่มจาก 195 แห่ง เป็น 200 กว่าแห่ง โดยจะเข้าไปในศูนย์สรรพสินค้า “บิ๊กซี” เพื่อเข้าถึงตลาดแมส และจะใช้กลยุทธ์ออมนิแชนเนล (Omni Channel) โดยเปิดตัวแอปพลิเคชั่นไว้เป็นช่องทางนำเสนอโปรโมชั่น และขายสินค้า

“ปีนี้จะใช้เงินลงทุนด้านการตลาด และการพัฒนาระบบต่าง ๆ ประมาณ 70 ล้านบาท และตั้งเป้าการเติบโตในแง่รายได้ไว้ที่ 10-15% ซึ่งเชนสโตร์แต่ละรายมีมาร์จิ้นคล้ายกัน ดังนั้นการลดราคาและของแถมมาก ๆ ไม่ได้เหมือนแบรนด์หรือโอเปอเรเตอร์จึงต้องปรับปรุงบริการ ซึ่งการแข่งขันในตลาดจะไปตกอยู่ที่ร้านตู้ที่ไม่สามารถทำโปรโมชั่นได้”

“แอดไวซ์” ดึงออนไลน์เสริม

นายจักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ ประธานบริหารสายงานการขาย และการตลาด บริษัท แอดไวซ์ โฮลดิ้งส์ กรุ๊ป จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไอที กล่าวว่า ภาพรวมตลาดสินค้าไอทีปีที่ผ่านมายังคงทรงตัวจากสภาวะตลาดคอมพิวเตอร์พีซี และโน้ตบุ๊กอิ่มตัว ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจ ทั้งความสามารถของสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนไม่ต้องใช้โน้ตบุ๊ก ใช้งานโซเชียลมีเดียทำให้การเติบโตในกลุ่มสินค้าไอทีไปอยู่กับกลุ่มที่ต้องการใช้งานจริงหรือเฉพาะทาง เช่น เกมเมอร์ ในแง่จำนวนเครื่องจึงไม่เติบโต แต่มูลค่ารวมยังโต ขณะที่การแข่งขันยังรุนแรง เนื่องจากมีผู้เล่นจำนวนมาก โดยเฉพาะร้านค้าออนไลน์ส่งผลให้มีการแข่งขันด้านราคาสูงขึ้น

“ปีที่ผ่านมายอดขายของแอดไวซ์โตขึ้น 5-6% ที่โตมากคือในตลาดออนไลน์ แม้จะมีสัดส่วนรายได้แค่ 7-8% เนื่องจากเป็นเทรนด์ของตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค และแพลตฟอร์มการชำระเงินที่สะดวกขึ้น ซึ่งแอดไวซ์มีลูกค้าที่ติดตามข้อมูลบนหน้าเว็บก่อนจำนวนมาก ทั้งมีจุดแข็งเรื่องการส่งสินค้าถึงมือใน 3 ชั่วโมง ใน 5 จังหวัดใกล้กรุงเทพฯ ส่วนในต่างจังหวัดการันตี


การส่งในวันถัดไป หรือ next day ทั้งออกแบบระบบให้แฟรนไชส์ได้ประโยชน์จากออนไลน์ เราไม่ได้มองว่าอีคอมเมิร์ซทำให้ยอดขายหน้าร้านตกลง แต่เป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภค เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ซื้อ ออนไลน์ขึ้นอยู่กับหมวดหมู่สินค้า และชื่อเสียงของร้าน”