“เจ เวนเจอร์ส” พลิกเกม โตนอกเครือ ต่อจิ๊กซอว์ “เจฟิน เชน”

ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์
ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์

“เจ เวนเจอร์ส” นิยมตนเองว่าเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีในเครือเจมาร์ท และเป็นบริษัทไทยรายแรก ๆ ที่บุกเบิกการใช้ “เงินดิจิทัล” ก่อนใครเมื่อ 5-6 ปีก่อน ตั้งแต่ “คริปโตเคอร์เรนซี” ยังแทบไม่เป็นที่รู้จัก จนมาเฟื่องฟูสุด ๆ ปีที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ที่บริษัทต่าง ๆ จ่อคิวเสนอขายโทเค็นดิจิทัล (ICO) เต็มตลาดก่อนที่จะซาไป เมื่อราคาเหรียญคริปโตร่วงยกแผงจากสารพัดปัจจัยลบ

แต่ “เจ เวนเจอร์ส” ยังคงเดินหน้าสร้างอีโคซิสเต็มต่อด้วยการสร้าง “เจฟิน เชน” และอัพเกรดฟังก์ชั่นต่าง ๆ พร้อมกับรีแบรนด์แอปพลิเคชั่น “J.ID” เป็น “Join” ไม่เฉพาะกับธุรกิจในเครือเจมาร์ท แต่เปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการรายอื่นด้วย

ย้อนอดีตมองอนาคต

“ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด เล่าว่า เมื่อปี 2017 คุณอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา (เจ้าของกลุ่มเจมาร์ท) ชวนมาทำ “ฟินเทค” ซึ่งตอนนั้นบ้านเรายังไม่มีเหรียญต่าง ๆ ตนจึงได้วาดภาพ “กระเป๋า” (วอลเลต) อธิบายว่าต้องสร้างกระเป๋าขึ้นมา โดยมีช่องทางเข้า คือ นำเงินมาฝากได้ และช่องทางออก คือ การใช้เงิน

สิ่งที่ต้องถามต่อ คือ เมื่อออกเหรียญมาแล้วจะใช้ “กระเป๋าเงิน” อะไรเก็บเหรียญและอยู่บนเชนไหน

“ผมวาดภาพกระเป๋าเพื่อจะบอกว่า ทุกบริษัทที่จะทรานส์ฟอร์มตนเองจะต้องมีกระเป๋านี้ เพราะถ้าไม่มีกลไกตรงกลางก็ทำอะไรไม่ได้”

ในปี 2018 บริษัทจึงออกเหรียญ “เจฟิน” (JFIN) เป็นโทเค็น และสร้างกระเป๋าชื่อ “เจ.ไอดี” (J.ID) บนบล็อกเชนอีเทอเรียม

“คำถามพวกนี้คืออดีตจนถึงปัจจุบัน วันนั้นผมออกอยู่บนเชนอีเทอเรียม กระเป๋าชื่อ “เจ.ไอดี” วันนี้กลายร่างมาเป็น “จอย” (Join) และเป็นอนาคตที่เราจะทำให้เกิดขึ้นจริง”

“เจ.ไอดี” เป็นเวอร์ชั่นเก่าจะโบราณ ๆ หน่อย วันนี้มีหน้าตาใหม่ใช้งานง่ายขึ้น และทำอะไรได้มากกว่าการเป็นกระเป๋าเงินที่พิสูจน์ตัวตน (KYC) ได้

“เรายังสร้างเจฟิน เชน เป็นอินฟราสตรักเจอร์ โดยจอยมาอยู่บนนั้นและให้คนอื่น ๆ มาใช้ เพราะในโลกบล็อกเชนใครก็เข้ามาพัฒนาได้ หน้าที่เราคือเชิญพาร์ตเนอร์มาร่วมกันพัฒนาเพื่อสร้างเจฟิน เชนให้เป็นอินฟราสตรักเจอร์ใหม่”

ต่อจิ๊กซอว์ “เจฟิน เชน”

“ทุกเรื่องจะต่อภาพไปเรื่อย ๆ การดิสรัปต์ไม่ใช่ทำแค่หนึ่งโซลูชั่นแล้วจบ แต่ต้องทำหลาย ๆ อัน การนำบล็อกเชนมาใช้ในภาคธุรกิจจะเกิดขึ้นจริงในฝั่งธุรกิจหรือคอมเมิร์ซได้แน่ ๆ หลายพาร์ตเนอร์อยากมาใช้ แต่ความท้าทายคือ เมื่อไรจะเข้ามาใช้เจฟิน เชน จะต้องมีโทเค็นและมีวอลเลต”

นั่นเป็นเหตุผลที่บริษัทเปิดตัว “จอย” ถัดจาก “เจฟิน เชน”

“ความท้าทายถัดมา คือ คนที่เป็นเจ้าของกิจการที่จะออกคอยน์ วันนี้จะเจอกับกระเป๋าเงินชื่อ เมต้ามาสก์ (Metamask) ซึ่งไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ถือเป็นเพนพอยต์สำหรับองค์กรต่าง ๆ เพราะเขาต้องการรู้ว่าลูกค้าเขาคือใคร ซึ่งจอยตอบโจทย์เหล่านี้ได้ “ถ้าคุณมาร่วมกับเรา เรามีฟีเจอร์พวกนี้การยืนยันตัวตนเพียงครั้งเดียวจะใช้ได้หมด”

ดังนั้น “จอย” คือ “เมต้ามาสก์ เวอร์ชั่น เอ็นเตอร์ไพรส์” ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนโอนเงินดิจิทัลที่รู้ว่าใครเป็นใคร

“สุดท้ายปัจจุบันคนมีกระเป๋าเงินจำนวนมากจึงอยากครีเอตอีโคซิสเต็มมาอยู่ในกระเป๋าเดียวกัน ร่วมกันสร้างอีโคซิสเต็มดังเช่นเครือเจมาร์ท กรุ๊ปทำสำเร็จมาแล้วระดับหนึ่ง ต่อไปอยากร่วมกับพาร์ตเนอร์ต่าง ๆ ที่ไม่ใช่แค่ฟีเจอร์ดิจิทัลวอลเลตที่มีมาตรฐาน แต่บนนี้ยังจะไม่ได้มีแค่เจฟิน คอยน์ แต่จะมีเหรียญอื่น ๆ ด้วย รวมถึงสเปเชียลดีลที่ทำกับร้านค้าต่าง ๆ ให้คนใช้กดแลกคูปองไปแลกของหรือส่วนลดต่าง ๆ ได้ มีคูปองเป็น NFT ไปรีดีมและโอนให้คนอื่น”

ผู้นำ “เอ็นเตอร์ไพรส์ วอลเลต”

“ธนวัฒน์” บอกว่า เป้าหมายของ “Join-จอย” คือการเป็นเว็บ 3.0 enterprise wallet เพื่อพาร์ตเนอร์และออกแบบให้เหมาะกับคนใช้ให้มากที่สุด เพื่อให้คนเข้ามาอยู่ในอีโคซิสเต็มนี้ให้มากที่สุด นอกเหนือไปจากเครือเจมาร์ทที่ทำสำเร็จมาแล้วในระดับหนึ่งตั้งแต่ยังเป็น “เจ-ไอที” แอปพลิเคชั่นที่มีคนใช้งานกว่า 8 แสนราย และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านราย

อย่างไรก็ตาม การที่จะชวนพันธมิตรให้เข้ามาร่วมกันสร้าง “อีโคซิสเต็ม” ด้วยกันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเปรียบได้กับการปรับไมนด์เซต เพราะทุกคนอยากออกเหรียญของตนเอง อยากมีเชนและมีกระป๋าเงินของตนเอง แต่การที่ประเทศไทยมีประชากร 70 สิบล้านคน การมีความร่วมมือระหว่างกันจึงดีกว่าต่างคนต่างทำ

คนที่มีอีโคซิสเต็มจะคิดว่าทุกคนมีพลังหมด แต่ไม่ใช่สร้างปุ๊บขึ้นปั๊บ สิ่งที่เราทำคือ สร้างรากฐานไปเรื่อย ๆ การชวนพาร์ตเนอร์ก็เป็นส่วนหนึ่ง สมัยก่อนไม่มี NFT ไม่มีดีไฟน์ จะมีอะไรใหม่ ๆ มาตลอด สิ่งที่เจ เวนเจอร์สทำคือทำเรื่องเทคโนโลยีบนอีโคซิสเต็มของเจมาร์ท

มองโอกาสขาลงตลาดคริปโต

แม้ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีในปัจจุบันจะเป็น “ขาลง” จึงอาจไม่ใช่จังหวะที่ดีนักสำหรับนักลงทุน แต่ในมุมของผู้ประกอบการ “ธนวัฒน์” มองว่าถือเป็นจังหวะที่ดีมากที่จะลงทุนทำอะไรใหม่ ๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

“ในภาพตลาดรวมจะเป็นตลาดหมี หรือแบร์มาร์เก็ต โดยทั้งโลกนะ ไม่ใช่เฉพาะคริปโตจะเป็นแบบนี้ไปจนถึงสิ้นปีแน่ ๆ ทุกคนก็คิดว่าปีหน้าจะดีขึ้นอาจเป็นว่าโควิดหาย คนเริ่มกลับมาเดินทางด้วย แต่ถ้าในคริปโตจะมีวัฏจักรบิตคอยน์เป็นตัวกำหนด คือ บิตคอยน์ฮาล์ฟวิ่ง โดยรอบนี้จะกลับมาปี 2024 ฉะนั้น ปลายปี 2023 คนจะเริ่มเก็งกำไร

ฉะนั้น เหรียญคริปโตนั่งไทม์แมชีนไปครึ่งหลังปี 2023 ราคาจะขึ้นเองอัตโนมัติ ถ้าคนทำธุรกิจ คุณก็ควรสร้างอะไรตอนนี้เพื่อทำให้เหรียญของคุณไปเกาะกับกระแสบิตคอยน์เวลาที่มันขึ้น ตอนเจฟินขึ้นไปในปี 2021 ผมก็คิดว่าเกี่ยวกับวัฏจักรบิตคอยน์ฮาล์ฟวิ่งตอนปี 2020”

โดย “เจฟิน” ตอนออกเหรียญมาใหม่ ๆ กำหนดราคาไว้ที่ 6 บาท และเคยขึ้นไปสูงสุดที่ 249 บาท แต่ปัจจุบัน (7 ก.ค.) ลงมาอยู่ที่ 24 บาทกว่า แม้จะลงมาเยอะแต่ถ้าเทียบกับจุดเริ่มต้นก็เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า

“เทียบวันแรกกับวันนี้ขึ้นมา 4 เท่า not bad แต่ตอนขึ้นไปมาก ๆ ต้องบอกว่าขึ้นโดยไร้สาระ มีคนปั๊มขึ้นไปแล้วนักลงทุนที่ไปดอยคือกลุ่มที่ไม่รู้พื้นฐานว่าคืออะไร แต่ถ้าคุณฟังสิ่งที่ผมพูดมาตลอดจะเข้าใจว่าเราทำอะไรบ้าง อย่างที่เจมาร์ททำ คือ ให้เบเนฟิตต่าง ๆ กับคนที่ใช้เจฟินมาแลกสินค้า ยิ่งมีการแลกก็จะเกิดเงินหมุนไปเรื่อย ๆ มันก็ไปของมัน”