หัวเว่ย เขย่าตลาด พีซี จัด APAC Smart Office 2022 ในไทย

พีซี

นับเป็นการตอกย้ำชีวิตปกติ หลังวิกฤตโควิดเริ่มคลี่คลายก็น่าจะได้ เมื่อมังกรจีน “หัวเว่ย” กลับมาจัดงานใหญ่อีกครั้ง โดยหนนี้เลือกประเทศไทยเป็นเวทีเปิดตัวไลน์อัพสินค้าใหม่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์พีซี ตั้งแต่แล็ปทอป, แท็บเลต, จอมอนิเตอร์, เราเตอร์ ไปจนถึงหูฟังไร้สาย ด้วยงาน HUAWEI APAC Smart Office Launch 2022 ที่ไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา

ย้ำ “ไทย-เอเชีย” ตลาดสำคัญ

โดยเชิญสื่อมวลชน และคู่ค้าจากหลายประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก อาทิ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, เมียนมา และออสเตรเลีย เป็นต้น รวมแล้วมากกว่าพันคนมาร่วมงาน ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับบ้านเรา เพราะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย และทำให้บรรยากาศการช็อปปิ้ง-ท่องเที่ยวคึกคักขึ้นด้วย (มีการแจกคิวอาร์โค้ดให้ดาวน์โหลดข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวต้องห้ามพลาดให้กับผู้ร่วมงาน)

“หลุย ลวี่” ประธาน หัวเว่ย ดีไวซ์ เอเชีย-แปซิฟิก หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป กล่าวว่า บริษัทยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และระบบนิเวศภายใต้คอนเซ็ปต์ 1+8+N เพื่อเชื่อมต่อผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภทเข้าด้วยกัน และให้ตอบโจทย์การใช้งานใน 5 สถานการณ์ คือทั้งสมาร์ทออฟฟิศ, สุขภาพ และการออกกำลังกาย, ความบันเทิง, สมาร์ทโฮม และการท่องเที่ยว (easy travel)

โดยอิงจากศักยภาพ 2 ด้านหลัก คือ การทำงานร่วมกันแบบข้ามอุปกรณ์ และการใช้งานร่วมกันในระดับอีโคซิสเต็ม ซึ่งกลุ่มสินค้าใหม่รอบนี้ขยายความสามารถของฟีเจอร์ “ลากเพื่อเชื่อมต่อ” (drag-to-connect) ไปสู่อุปกรณ์อื่น ๆ มากขึ้น พร้อมกับ HUAWEI Mobile App Engine ที่มีแอปพลิเคชั่นมือถือพร้อมให้ใช้ได้กว่า 15,000 แอป

“ริชาร์ด หยู” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป ย้ำว่า ตลาดเอเชีย-แปซิฟิก เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่สำคัญที่สุดของหัวเว่ยมาโดยตลอด และว่าปัจจุบันมูลค่าแบรนด์หัวเว่ยขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 9 ของโลกด้วยมูลค่า 71.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.6% จากปีที่ผ่านมา (อ้างอิงการจัดอันดับโดย Brand Finance)

โชว์ดีไซน์+เทคโนโลยี

สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่นำมาเปิดตัวรอบนี้ ได้แก่ แล็ปทอป 3 รุ่น คือ HUAWEI MateBook X Pro รุ่นเรือธง ราคา 79,990 บาท, HUAWEI MateBook 16s ราคา 56,990 บาท และ HUAWEI MateBook D Se-ries ราคา 33,990 บาท ทั้ง 3 รุ่นถ้าพรีออร์เดอร์ภายในวันที่ 5 ส.ค. มีของแถมรวมมูลค่าตั้งแต่หมื่นกว่าถึงเกือบสามหมื่นบาท

ในแล็ปทอปรุ่นเรือธงจะเน้นทั้งสเป็กและดีไซน์ควบคู่กัน เช่น ตัวเครื่องทำจากแมกนีเซียมอัลลอย น้ำหนัก 1.26 กก. มาพร้อมหน้าจอที่ดีที่สุดของหัวเว่ย Real Color Full View ขนาด 16 นิ้ว โปรเซสเซอร์อินเทล 12th Gen มีระบบ meeting master ฟีเจอร์เพื่อการประชุมออนไลน์ เช่น AI Camera ที่มีฟีเจอร์ FollowCam จับใบหน้าผู้พูดและขยับเฟรมตามตัวผู้พูดได้ หน้าจอ FullView 16 นิ้ว ความละเอียดสูง เป็นต้น

ถัดมาเป็นแท็บเลตระดับโปร HUAWEI MatePad Pro 11 หน้าจอ OLED 120Hz Real Colour FullView Display ขนาดจอ 11 นิ้วแต่น้ำหนักเบา ขอบจอบางเฉียบที่สุดเท่าที่หัวเว่ยเคยมีมา แสดงภาพคมชัดสมจริงแต่ถนอมสายตาแม้ใช้งานในที่แสงน้อย รองรับระบบปฏิบัติการ HarmonyOS 3.0 เปิดแอปพร้อมกันได้ 4 หน้าจอ แบตเตอรี่ขนาดใหญ่ 8300mAh

มี 2 รุ่น คือรุ่น WiFi (8 GB+128GB) ราคา 24,990 บาท และรุ่น LTE (8GB+256GB) ราคา 29,990 บาท

อีกผลิตภัณฑ์ที่ถือเป็นไฮไลต์ คือ หูฟังไร้สาย HUAWEI FreeBuds Pro2 (แถมตอนโชว์นำมาเทียบประสิทธิภาพกับไอพอดโปรของคู่แข่งอีกต่างหาก) หูฟังรุ่นนี้มาพร้อมลำโพงคู่ที่พัฒนาร่วมกับแบรนด์เครื่องเสียงดัง Devialet รองรับย่านความถี่เสียง 14Hz-48kHz ปรับจูนเสียงอัตโนมัติเมื่อเพิ่มหรือลดเสียง ตัดเสียงรบกวนได้สูงถึง 47dB เป็นต้น ราคา 6,499 บาท

สุดท้ายคือจอมอนิเตอร์ MateViewSE และเราเตอร์ WiFi AX3 Pro

โชว์เคสความร่วมมือ

อีกไฮไลต์ที่น่าสนใจในงานนี้ นอกเหนือจากการโชว์ขีดความสามารถของผลิตภัณฑ์ด้วยสเป็กล้ำ ๆ และดีไซน์ทันสมัยแล้วโดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์แท็บเลตรุ่นใหม่ คือ การโชว์เคสความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่นำ MatePad Pro รุ่นใหม่ไปให้อาจารย์และนักศึกษาทดลองนำไปใช้สร้างผลงานศิลปะ มีการนำผลงานมาโชว์บนเวทีด้วยเพื่อโชว์ว่าสามารถใช้สร้างสรรค์ผลงานได้สะดวก และสวยงาม

ไม่ใช่แค่นั้นยังมีเซอร์ไพรส์เล็ก ๆ ด้วยการเชิญดีไซน์เนอร์เจ้าของแบรนด์รองเท้าชื่อดัง “จิมมี่ ชู” มาขึ้นเวทีเพื่อบอกเล่าประสบการณ์ในการใช้ผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยในการออกแบบแทนกระดาษดินสอแบบเดิม ๆ ทั้งวาดเสร็จยังส่งต่อจากแท็บเลตไปยังแล็ปทอป, สมาร์ทโฟน ได้ด้วยฟีเจอร์ฟังก์ชั่นใหม่

“ลากเพื่อการเชื่อมต่อ” ด้วยผลิตภัณฑ์ และการสร้างอีโคซิสเต็มของตนเองขึ้นมาภายใต้กลยุทธ์1+8+N (ใช้สมาร์ทโฟนเชื่อมต่อและควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งแล็ปทอป, แท็บเลต, หูฟัง, จอมอนิเตอร์ และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เชื่อมกันผ่านไอโอที) โดยหัวเว่ยได้สร้างแอปพลิเคชั่นแกลเลอรี่ของตนเองขึ้นมาแทน “กูเกิล” ตั้งแต่ได้รับหางเลขจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน

ปัจจุบัน หัวเว่ย แอปแกลเลอรี่ ติดท็อปทรีของโลกด้วยจำนวนผู้ใช้งานรายเดือนกว่า 580 ล้านคน โดยภายในปี 2021 ปีเดียวมีการดาวน์โหลดถึง 432 ล้านคน มีนักพัฒนาแอปกว่า 5.7 ล้านคน

ทุ่ม R&D ตอบโจทย์ชีวิต 5 แกน

ในฐานะบริษัทด้านเทคโนโลยีจึงให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา โดยปีที่ผ่านมาเพิ่มการลงทุนเป็น 142,700 ล้านหยวน (กว่า 7 แสนล้านบาท) หรือคิดเป็น 22.4% ของรายได้รวมของบริษัท มีอัตราส่วนค่าใช้จ่าย R&D แตะระดับสูงสุดในรอบสิบปี และเป็นอันดับสองในรายงานคะแนนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรปประจำปี 2564 ด้วย

ควบคู่ไปกับการสร้างแบรนด์ การขยายช่องทางการขาย และการบริการ ทำให้มีแฟลกชิปสโตร์ (experience stores) กว่า 5,500 แห่ง และช่องขายกว่า 3 แสนจุดทั่วโลก (point of sales)

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้จะทำไม่ได้เลยถ้ารายได้และยอดขายไม่เอื้อ

“เฉิน เจียงเฟย” รองผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาบริษัทเผชิญความท้าทายหลายด้าน ไม่ใช่แค่โควิด แต่ยังได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนด้วย

จึงถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สามารถจัดงานใหญ่ระดับรีจินอลอีเวนต์ที่มีผู้คนมาร่วมงานจำนวนมากที่ประเทศไทย และเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ก็จะได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยความสามารถของผลิตภัณฑ์ภายใต้อีโคซิสเต็มที่ตอบสนองวิถีชีวิต และการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปแบบไร้รอยต่อ (seamless AI life)

ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก บริษัทเน้นการมุ่งไปยังการนำเสนอสินค้าที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ มากที่สุดสู่บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มสมาร์ทออฟฟิศ โดยใช้กลยุทธ์ห่วงโซ่อุปทานในยุคโลกาภิวัตน์และการกระจายความเสี่ยง รวมถึงการมีระบบจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ จึงเชื่อว่าจะรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ได้

ในแง่มุมของการแข่งขันมองว่า “การแข่งขันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งของธุรกิจ เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยีที่เน้นตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง กระตุ้นให้เราปรับปรุงและนำผลิตภัณฑ์และการบริการที่ดีขึ้นด้วย”