5 หน่วยงาน นำร่องเชื่อมโยงข้อมูล จุดพลุ “เทเลเมดิซีน”

หมอ แพทย์ การรักษา

บูรณาการ 5 หน่วยงานบิ๊ก นำร่องเชื่อมโยงข้อมูลสู่ “บิ๊กดาต้า” ดัน “เทเลเมดิซีน” ยกระดับสาธารณสุขปฐมภูมิ แก้โจทย์ “ความมั่นคงทางสุขภาพ”

วันที่ 4 สิงหาคม 2565 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข จัดประชุมหารือ “ก้าวต่อไปของการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข Big Rock1 : Health Security” โดยชี้ว่าแนวทางและความสำคัญในประเด็นปฏิรูป คือ การยกระดับสาธารณสุขขั้นปฐมภูมิ เชื่อมโยงข้อมูลด้วยเทคโนโลยีโทรคมนาคม “เทเลเมดิซีน” (Telemedicine) และปรับปรุงกฏระเบียบ เพื่อ “ความมั่นคงทางสุขภาพ”

โดยมีการร่วมมือหน่วยงานระดับบิ๊ก ได้แก่ 1.กระทรวงสาธารณสุข 2.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 3.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 4.กรุงเทพมหานคร และ 5.สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของการปฏิรูปที่ต้องการขับเคลื่อน และต่อยอดนโยบายการดำเนินงานในระยะกลาง เพื่อให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม สำหรับการจัดประชุมปรึกษาหารือในครั้งนี้ ยังคงกำหนดประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น

ได้แก่ 1.การปฏิรูปและสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพปฐมภูมิในกรุงเทพมหานคร 2.การพัฒนา Digital Health/Health Information Systems 3.การสร้างความเข้มแข็งของ NRA (National Regulatory Authority) โดยเฉพาะการจัดให้มีรูปแบบการบริหารจัดการองค์กรแบบใหม่ ดังที่เกิดช่วงโควิด-19 คือ มียาและวัคซีน แต่ติดข้อกฎหมายไม่สามารถนำมาใช้ได้ การปรับให้ทันท่วงทีจึงสำคัญยิ่ง

ย้ำการร่วมมือเพื่อเชื่อมโยงข้อมูล คือการปฏิรูปสาธารณสุขที่สำคัญ

ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงระบบสาธารณสุขของประเทศ ต้องการความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการจัดระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่มีภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาร่วมมือกันแก้ปัญหา แม้ด้านการจัดการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพยังมีข้อจำกัด แต่ได้มีการร่วมมือกันพัฒนาด้านสารสนเทศจากหลายฝ่าย

“การจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ คือ ส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เมื่อประชาชนเข้าถึงระบบการรักษากับหมอครอบครัวได้สะดวกรวดเร็ว ก็จะสามารถหยุดความรุนแรงของโรค และลดโรคแทรกซ้อน การทำให้ประชาชนแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย ลดความสูญเสียรายได้ของครอบครัว ภาพรวมรายได้ทางเศรษฐกิจ และประหยัดงบประมาณการรักษาพยาบาลของประเทศได้”

การเพิ่มศักยภาพการบริการด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพและการนำเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการ และการนำนวัตกรรม เช่น ระบบเทเลเมดิซีน, แอปพลิเคชั่น สมาร์ท อสม. และอื่น ๆ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา จะช่วยให้มีการสร้างความเข้มแข็งของระบบข้อมูลสุขภาพ การส่งเสริมนวัตกรรมการดูแลสุขภาพผ่านระบบสุขภาพดิจิทัล และการสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านสุขภาพแห่งชาติ (National Digital Health Platform) และการพัฒนากําลังคนในด้านนี้

ด้านศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า จากความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวง อว. ได้มีการสนับสนุนการนำนวัตกรรมทั้งทางด้านสังคมและเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ และการเชื่อมโยงข้อมูลของส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

“การปฏิรูปประเทศนั้นมีหลายด้าน ทั้งด้านการทหาร ด้านเศรษฐกิจ หรือด้านการเมือง แต่ด้านสุขภาพเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด”

ศ.พิเศษ ดร.เอนกกล่าวเสริมด้วยว่า กระทรวง อว. ในฐานะหน่วยวิชาการ วิจัยและพัฒนา เราพร้อมให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย ด้านวิชาการ การพัฒนานวัตกรรมทั้งด้านดิจิทัล “เทเลเมดิซีน” ให้ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจากโรงพยาบาล UHOSNET และงบประมาณเพื่อส่งเสริมการทำงานหน่วยบริการปฐมภูมิและการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ภายใต้ประเด็นการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบฐานข้อมูลสุขภาพของประเทศให้มีประสิทธิภาพ

พัฒนาคลาวด์-โทรคมนาคม เชื่อมโยงข้อมูลเป็น Big Data เสริมระบบสาธารณสุข

ด้านนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กระทรวงดีอีเอส เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนงานปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขในช่วงหลายปีผ่านมา โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และกำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลให้เป็น Big Data เพื่อการพัฒนางานดิจิทัลสุขภาพของประเทศ

“ต้องยอมรับว่าระบบดิจิทัลและข้อมูลสุขภาพมีความสำคัญมากในการยกระดับการบริการด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเบิกจ่าย การวินิจฉัยรักษา ตลอดจนการเชื่อมต่อบริการปฐมภูมิสู่ทุติยภูมิและตติยภูมิ การบริหารจัดการข้อมูลเพื่อรองรับสถานการณ์โรคระบาดที่ผ่านมา

จากประเด็นความสำคัญดังกล่าว กระทรวงดีอีเอสได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข พัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ (Health Information Exchange) เพื่อเพิ่มคุณภาพการบริการแก่ประชาชน ผ่านระบบ Health Link ซึ่งมีระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ที่ได้รับมาตรฐานสากล”

นอกจากนี้ได้มีการพัฒนาระบบคลาวด์ทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้เชื่อมต่อและแบ่งปันข้อมูลสุขภาพของประชาชน โดยรับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ดำเนินการงานดังกล่าว

“การบูรณาการข้อมูลสุขภาพของประเทศเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลและสุขภาพดิจิทัลสู่ Big Data ในครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนางานบริการสุขภาพอื่น ๆ ของประชาชนให้สามารถเข้าถึงการบริการและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพในอนาคต” นายชัยวุฒิกล่าวทิ้งท้าย

ด้านศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ได้จัดตั้งกองทุนการบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation) เรียกโดยย่อว่า USO เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของ กสทช. ที่จะต้องให้มีการกระจายการให้บริการโทรคมนาคมในฐานะโครงสร้างขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง

โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลเข้ามามีบทบาทสำคัญ และเป็นตัวกำหนดในการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพของประชาชน กสทช.จึงได้ผลักดัน Telemedicine ช่วยส่งเสริมการบริการด้านสาธารณสุข ซึ่งการนำเทคโนโลยีโทรคมนาคมมาใช้งานในด้านนี้นั้น ฝ่าย กสทช.มีความพร้อมอยู่แล้ว สามารถนำมาช่วยส่งเสริมให้ “เทเลเมดิซีน” เกิดได้ทั้งส่วนของภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรเกิดก่อน

“จากอดีตผู้ป่วยเมื่อเข้ารับการรักษาจนถึงการส่งกลับบ้านไม่มีการดูแลอย่างต่อเนื่อง ผมมองว่าเราควรทรานส์ฟอร์มกระบวนการดูแลผู้ป่วยตรงนี้ โดยใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคมมาช่วย ตั้งแต่การเข้ารับรักษาที่ขั้นปฐมภูมิ การส่งต่อ รพ.จังหวัด รพ.ศูนย์ จนถึงการส่งกลับบ้านที่มี อสม.ประจำอยู่ หากใช้โทรคมนาคมช่วยเชื่อมต่อ นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วยแล้ว จะทำให้เกิดข้อมูลดิจิทัลที่เป็นประโยชน์ในการเปลี่ยนแปลงประเทศด้วย”

เสริมกำลังคนเพื่อใช้เทคโนโลยี ยกระดับสาธารณสุขปฐมภูมิ

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการปฏิรูประบบสาธารณสุข เนื่องจากได้ผ่านบทเรียนที่สำคัญอย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 มา

“ระบบสาธารณสุขปฐมภูมิเป็นเรื่องสำคัญมากต่อระบบสาธารณสุขในเมืองใหญ่ เพราะเป็นหน่วยเชื่อมต่อการบริการสุขภาพพื้นฐานสู่การบริการระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ หากการเข้ารับการรักษาที่ปฐมภูมิมีปัญหา คน กทม.จำนวนมากจะมารอการรักษาที่โรงพยาบาลทำให้เกิดความแออัด”

ทั้งนี้การดูแลแบบ อสม.เองก็ไม่มีประสิทธิภาพเท่าต่างจังหวัด โดยกรุงเทพฯมี อสส. แต่ด้วยจำนวนอาสาสมัครน้อยและสูงอายุ หากใช้เทคโนโลยีมาช่วยเสริมจะต้องมีอาสาสมัครที่เท่าทันเทคโนโลยี เพื่อสอนคนอื่นให้ใช้งานเป็น เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการสาธารณสุขผ่านเทคโนโลยีเทเลเมดิซีนได้ง่ายขึ้น


กรุงเทพมหานครกำลังขับเคลื่อนพื้นที่นำร่องการปฏิรูประบบสาธารณสุขตามข้อเสนอของคณะปฏิรูป โดยมีพื้นที่นำร่อง 2 แห่ง คือ ดุสิตโมเดล ซึ่งได้เปิดทดลองใช้ไปแล้ว และราชพิพัฒน์ Sandbox ซึ่งกำลังจะเปิดในวันที่ 26 สิงหาคม 2565 และจะนำสู่การขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ การบริการจัดการระดับเขต System Manager Model เป็นส่วนที่มีความสำคัญและเตรียมมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ศึกษาแนวทางการดำเนินงานต่อไป เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในเชิงระบบ