จ่อเปิด “โอท็อปเอาต์เลต” ตั้งเป้า 1 พันล้าน

โครงการศูนย์โอท็อปเอาต์เลต และศูนย์พัฒนาบรรจุภัณฑ์กลาง คืบหน้ากว่า 50% เตรียมเปิดให้บริการ Q4 ปี 2561 หวังเชื่อมตลาด AEC-จีน บุกคุนหมิงสาขาแรก สินค้า 300 รายการ ผลตอบรับเยี่ยม รูปแบบถูกใจ CLMV เตรียมลุยตลาดออฟไลน์-ออนไลน์ ปั้นแบรนด์ไทยโอท็อปเอาต์เลต สร้างความเชื่อมั่นสินค้าไทยคุณภาพ คาดรายได้ 1 พันล้านบาทต่อปี

นายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ ประธาน บริษัท โอทอป อินเตอร์เทรดเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างศูนย์โอท็อปเอาต์เลต และศูนย์พัฒนาบรรจุภัณฑ์กลาง ตั้งอยู่ที่กิโลเมตร 44 ติดถนนสายเอเชีย หน้าโครงการพุทธอุทยานมหาราช (หลวงปู่ทวดองค์ใหญ่) ต.บ้านใหม่ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า ขณะนี้คืบหน้าไปกว่า 50% แล้ว คาดว่าใช้เวลาอีก 7-8 เดือน จึงจะแล้วเสร็จ และน่าจะเปิดให้บริการได้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 ทั้งนี้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างกว่า 108 ล้านบาท รวมถึงเครื่องจักร การขนส่ง และโลจิสติกส์ อีกทั้งมีห้องประชุมสัมมนา

โดยรูปแบบศูนย์โอท็อปเอาต์เลตเป็นลักษณะคอมมิวนิตี้มอลล์ โชว์รูมสินค้า และวันสต็อปเซอร์วิสของสินค้าโอท็อป เอสเอ็มอี เกษตร และผลิตภัณฑ์แปรรูป รวมถึงเป็นเทรดเซ็นเตอร์ของสินค้า ภายในจะมีสินค้าหลายพันรายการ ครอบคลุมทุกกลุ่ม เช่น สมุนไพร อาหาร เครื่องประดับ ตกแต่ง ผ้า เครื่องหนัง และเครื่องใช้ ซึ่งเทรดเดอร์ ที่ขณะนี้มีการจัดตั้งครบทั้ง 77 จังหวัดแล้ว แต่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประมาณ 50 จังหวัด จะเป็นคนประสานงานและคัดเลือกสินค้าส่งมายังโอท็อปเอาต์เลต รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยก็สามารถส่งสินค้าเข้ามาได้เช่นกัน ซึ่งการคัดเลือกสินค้านั้น จะเปิดกว้างให้โอกาสผู้ประกอบการ ทั้งคนที่เข้มแข็ง อ่อนแอ และกำลังเริ่มต้น โดยร่วมกับพัฒนาชุมชน พาณิชย์ และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด อบรม สัมมนาให้ความรู้ว่าตลาดสากลเป็นอย่างไร ต้องการสินค้าแบบไหน ต้องพัฒนาอย่างไร ตั้งราคาสินค้าอย่างไร และสินค้าที่มีมาตรฐานสากลมีบรรจุภัณฑ์อย่างไร

นายวัชรพงศ์กล่าวว่า ช่องทางการตลาดมีทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ เช่น ไปรษณีย์ไทย ลาซาด้า ทเวนตี้โฟร์ของเซเว่นอีเลฟเว่น โอท็อปช็อป ไทยแลนด์มอลล์.คอม และไทยเทรด.คอม เป็นต้น ซึ่งมุ่งเน้นการขยายออกไปต่างประเทศ โดยตั้งเป้ากลุ่มประเทศใน AEC และจีน เป็นหลัก เนื่องจากการแข่งขันในประเทศค่อนข้างสูง และตลาดต่างประเทศมีศักยภาพสูง โดยจะสร้างแบรนด์ “THAI OTOP OUTLET” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า เมื่อซื้อสินค้าจากที่นี่ จะเป็นสินค้าไทยที่มีคุณภาพ รวมถึงเพิ่มช่องทางการตลาดด้วยการออกอีเวนต์ งานแฟร์ในต่างประเทศ เพื่อประชาสัมพันธ์ไทยโอท็อปเอาต์เลตให้เป็นที่รู้จัก และดึงกลุ่มลูกค้าให้กลับเข้ามาดูสินค้าที่เอาต์เลตในไทยด้วย

คืบหน้า – ศูนย์โอท็อปเอาต์เลตแหง่ แรกที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ตั้งอยู่หน้าโครงการพุทธอุทยานมหาราช ต.บ้านใหม่ อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา ล่าสุดคืบหน้าไปกว่า 50% แล้ว คาดว่าจะเปิดให้บริการไตรมาส 4 ปี 2561

โดยล่าสุด เดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ได้เปิดไทยโอท็อปเอาต์เลตที่คุนหมิง ประเทศจีน และออกงานแสดงสินค้าในจีน เป็นการทำตลาดแบบเชิงรุก เพื่อสำรวจและทดลองตลาด รวมถึงเก็บข้อมูลเพื่อนำมาพัฒนาโอท็อปเอาต์เลตให้ตรงกับความต้องการของตลาดที่แท้จริงด้วย เนื่องจากตลาดต่างประเทศได้เปิดกว้างสำหรับสินค้าไทย โดยได้นำสินค้าไปเปิดตัวประมาณ 300 รายการ ได้แก่ สินค้าประเภทของกิน ของใช้ เครื่องสำอาง และสมุนไพร ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างดี ซึ่งคาดว่าเมื่อเอาต์เลตในประเทศไทยแล้วเสร็จ ก็จะแมตช์กันพอดี โดยราคาที่นำไปจำหน่ายต่างประเทศจะสูงกว่าของไทยอย่างต่ำ 50% โดยขนส่งสินค้าผ่านทาง R3A

“วันนี้ประเทศจีนมีสินค้าโอท็อปด้วย ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ของจีนในการขจัดความยากจนของประชาชน โดยใช้รูปแบบและลักษณะเหมือนหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ของไทย แม้จะเพิ่งเริ่มเพียงไม่นาน แต่ก็น่ากลัว เพราะรัฐบาลสนับสนุนอย่างมาก และช่องทางการตลาดดีอยู่แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยกับจีนได้มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสนับสนุนกัน ในการให้นำสินค้าไทยไปวางจำหน่าย รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านก็มีโอท็อปเช่นเดียวกัน ทั้งนี้มองว่าเมื่อโอท็อปเอาต์เลตในไทยเสร็จแล้ว จะเห็นการก้าวกระโดดของสินค้าโอท็อปในต่างประเทศอย่างชัดเจน ตั้งเป้าในแต่ละปีจะมีรายได้รวมทั้งในและต่างประเทศกว่า 1,000 ล้านบาท”

นอกจากนี้ ได้เซ็นเอ็มโอยูร่วมกับผู้ประกอบการเมืองและประเทศต่าง ๆ บ้างแล้ว เช่น จีน และ สปป.ลาว ที่ผู้ประกอบการนั้นได้ให้ใช้สถานที่ฟรี รวมถึงการตกแต่งร้านฟรี เราเพียงแค่นำสินค้าไปวางจำหน่าย ขณะที่ประเทศเวียดนาม กัมพูชา ก็ให้ความสนใจอย่างมาก


สำหรับตลาดในประเทศบางแห่งเริ่มเปิดร้านเอาต์เลตเล็ก ๆ ในจังหวัดของตัวเองแล้วประมาณ 10 จังหวัด ทั้งที่เปิดเองและเป็นแฟรนไชส์ ได้แก่ หนองบัวลำภู พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี อุดรธานี นครสวรรค์ พิจิตร และกำลังจะเปิดที่สมุทรสาคร และหนองคาย รวมถึงเมื่อไปออกงานแสดงที่อิมแพ็คเมืองทองธานี มีผู้ประกอบการให้ความสนใจอย่างมาก ลงชื่อมากกว่า 100 ราย แต่ไม่สามารถขยายได้อย่างรวดเร็ว เพราะต้องสร้างระบบและโครงสร้างให้เข้มแข็งก่อน