“ส้มไทย”หืดจับ พื้นที่ปลูกทั้งปท.ลดฮวบ สุโขทัยใจสู้ดันแปลงใหญ่ “ส้มสีทอง”ดันท่องเที่ยว

พื้นที่ปลูกส้มลดต่อเนื่อง เกษตรกรสู้ไม่ไหวเหตุต้นทุน-โรคระบาด-ราคาดิ่ง ปิดฉากส้มบางมดกำแพงเพชร 8 ปี พื้นที่ปลูกลดฮวบ 30,000 ไร่ เหลือ 3,000 ไร่ ขณะที่ส้มเขียวหวานจังหวัดเลยเจอปัญหาเดียวกัน หันปลูกเงาะ ทุเรียน ด้านจังหวัดสุโขทัยยังใจสู้ เกษตรกรผนึกแปลงใหญ่ ใจชื้นราคาส้มดีขึ้น เฉลี่ยทุกเบอร์ 15 บาท/กก. จับมือท่องเที่ยวสร้างสกายวอล์กชมสวนส้มเชิงเขา

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุพื้นที่ปลูกส้มทั้งประเทศ 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2555, 2556 และ 2557 มีพื้นที่ปลูกลดลงต่อเนื่อง ได้แก่ 102,726 ไร่, 91,051 ไร่ และ 86,895 ไร่ ตามลำดับ

โดยพื้นที่ปลูก 5 อันดับแรกปี 2557 ได้แก่ 1.เชียงใหม่ 27,824 ไร่ 2.สุโขทัย 26,296 ไร่ 3.แพร่ 12,422 ไร่ 4.กำแพงเพชร 4,226 ไร่ และ 5.เชียงราย 3,797 ไร่

กำแพงเพชรดิ้นปลูกอ้อยแทนส้ม

นายสถิตย์ ภูทิพย์ เกษตรจังหวัดกำแพงเพชร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อประมาณ 7-8 ปีที่ผ่านมา จังหวัดกำแพงเพชรมีพื้นที่ปลูกส้มประมาณ 20,000-30,000 ไร่ เนื่องจากในช่วงนั้นมีเกษตรกรรายใหญ่ที่มีทุนมาจาก จ.นนทบุรี สุพรรณบุรี เข้ามาปลูกส้มพันธุ์บางมดในพื้นที่ และได้ผลผลิตดี

ราคาผลผลิตค่อนข้างสูง หลังจากนั้นประมาณ 2-3 ปี เกษตรกรเริ่มหันมาปลูกส้มกันจำนวนมาก ทำให้มีผลผลิตล้นตลาด ส่งผลให้ราคาส้มต่ำลง ประกอบกับเกษตรกรประสบปัญหาโรคแคงเกอร์ (canker) ส่งผลให้เกิดผลร่วงก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต

ขณะที่ต้นทุนการปลูกส้มค่อนข้างสูง หากไม่บำรุง ใส่ปุ๋ย หรือสารเคมี ก็จะไม่ให้ผลผลิต เกษตรกรส่วนหนึ่งแบกรับต้นทุนไม่ไหว รวมถึงราคาไม่ได้จูงใจมากนัก เนื่องจากเป็นส้มพันธุ์บางมด ซึ่งราคาตลาดไม่สูง และสู้ทุนจากข้างนอกพื้นที่ไม่ได้ อีกทั้งต้องใช้เวลาปลูกกว่า 3-4 ปี จึงจะให้ผลผลิต โดยผลผลิตจะออกช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ซึ่งผลผลิตอยู่ที่ 2 ตัน/ไร่ ที่สำคัญการรับซื้อจากหน้าสวนจะขายคละไซซ์ ไม่มีแยกเกรด ทำให้เกษตรกรเลิกปลูกส้ม และหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน เช่น อ้อย ซึ่งภายในจังหวัดมีโรงงานน้ำตาล 3 แห่ง จึงมีความต้องการอ้อยจำนวนมาก และปัจจุบันก็ยังไม่เพียงพอ

โดยปี 2560 จังหวัดกำแพงเพชรมีพื้นที่ปลูกส้มเหลือเพียง 3,095 ไร่ ซึ่งจะปลูกใน 8 อำเภอ ได้แก่ อ.คลองขลุง 1,503 ไร่ อ.บึงสามัคคี 825 ไร่ อ.ขาณุวรลักษบุรี 310 ไร่ อ.ทรายทองวัฒนา 253 ไร่ อ.พรานกระต่าย 150 ไร่ อ.เมืองกำแพงเพชร 30 ไร่ อ.ไทรงาม 20 ไร่ และ อ.คลองลาน 4 ไร่

โดยเกษตรกรที่ปลูกหากเป็นคนในพื้นที่จะปลูกประปราย ตลาดหลักยังคงเป็นภายในจังหวัดเท่านั้น สำหรับคนนอกพื้นที่ที่เข้ามาปลูกมีจำนวนไม่มาก แต่ปลูกในปริมาณมาก พื้นที่เยอะ เช่น อ.คลองขลุง บางรายปลูกเป็นร้อยไร่ ซึ่งจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ จะเป็นลักษณะของการออร์เดอร์ไว้แล้ว ส่วนใหญ่จะส่งไปตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท หรือในกรุงเทพฯ แต่ยังไม่มีการส่งออกไปต่างประเทศ

“ส้มไม่ใช่พืชเศรษฐกิจของกำแพงเพชรแล้ว มีเกษตรกรเพียงไม่กี่รายที่ทำแล้วได้ผลดี เนื่องจากมีทุน และมีการติดต่อพ่อค้ามารับซื้อถึงสวน ซึ่งมีจำนวนน้อยรายมาก ขณะที่รายเล็กก็อยู่ไม่ได้ เพราะขณะนี้ราคาหน้าสวนไม่ถึง 30 บาท/กก. ส่วนราคาตลาดประมาณ 35 บาท/กก. ต้นทุนการปลูกสูง และตลาดไม่ชัดเจน ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคตพื้นที่ปลูกจะลดลงเรื่อย ๆ และอนาคตก็อาจจะไม่มีส้มกำแพงเพชรแล้ว” นายสถิตย์กล่าว

ส้มเสริมเที่ยว – สถานการณ์ส้มไทยยังทรง ๆ หลายพื้นที่เลิกปลูก แต่จังหวัดสุโขทัยยังคงฮึดสู้ ล่าสุดมีการจัดสร้างสกายวอล์กเดินชมสวนส้มเคล้าธรรมชาติ ที่ อ.ศรีสัชนาลัยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างมาก

สุโขทัยหนุนแปลงใหญ่

นายเนตร สมบัติ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดสุโขทัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันสุโขทัยมีพื้นที่ปลูกส้มประมาณ 35,000 ไร่ เป็นพื้นที่ให้ผลประมาณ 26,000 ไร่ ปลูกมากที่อำเภอศรีสัชนาลัย เป็นพื้นที่เชิงเขาติดต่อกับอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ส่วนมากเป็นส้มพันธุ์สีทองที่มาจากจังหวัดน่าน ขณะที่บางสวนปลูกส้มบางมดแต่มีน้อย สำหรับส้มส่วนใหญ่ปลูกบนเชิงเขาทำให้มีปัญหาเรื่องระบบน้ำไม่เต็มที่ ผลผลิตมีขนาดไม่ใหญ่มาก แต่เมื่อชาวบ้านไม่เลิกปลูกเราจึงต้องประคอง และส่งเสริมหลัก ๆ 2 เรื่อง คือ 1.สนับสนุนเรื่องส้มแปลงใหญ่ ขณะนี้มีเกษตรกรเข้าร่วม 50 ราย รวมแล้ว 800 กว่าไร่ เป็นผืนนำร่อง เพื่อพัฒนาให้เกิดการสร้างกลุ่มตั้งเป็นวิสาหกิจ และสหกรณ์ในอนาคต 2.ส่งเสริมคุณภาพ ให้ผลผลิตปลอดภัย ปลอดสารพิษ โดยการใช้สารเคมีในอัตราและเวลาที่กำหนด เพื่อไม่ให้มีสารตกค้าง ล่าสุดเกษตรกรได้รับ GAP แล้ว 30 ราย เช่น กลุ่มแม่สินพัฒนา ต.แม่สิน อ.ศรีสัชนาลัย

สำหรับรายที่ได้ GAP ได้นำร่องใช้การท่องเที่ยวเข้ามาเสริม สร้างสกายวอล์กเป็นทางเดินยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ให้นักท่องเที่ยวเดินชมสวนส้ม พร้อมสัมผัสบรรยากาศของขุนเขา ตรงนี้เป็นนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดเรื่องท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาวที่บรรยากาศดี นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้ชมธรรมชาติแล้ว ยังชิมผลสดจากต้น โดยปีที่ผ่านมาได้ความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างมาก ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดสุโขทัยได้เตรียมสนับสนุนงบประมาณในการซื้อเครื่องคั้น เครื่องฟรีซ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชิมนอกจากผลสดจากต้น

“ส้มสีทอง ตระกูลนี้สีผิวสวย ส่วนเรื่องคุณภาพกำลังพัฒนา การตลาดปีนี้ถือว่าดีขึ้นจากที่ผ่านมา ราคาเฉลี่ยทุกขนาดไม่ต่ำกว่า 15 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ในอดีตราคาไม่ถึง 10 บาท ส่วนจะส่งเสริมให้ปลูกมากขึ้นหรือไม่ คงไม่สนับสนุนมากกว่านี้ เพราะถ้ามากไปจะเกิดปัญหาเรื่องตลาดตามมาแน่นอน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการทำ MOU ร่วมกับห้างค้าปลีกกับบิ๊กซี โลตัส และท็อปส์ ในการจำหน่ายส้มเบอร์ใหญ่ ขณะที่เบอร์ 2 เบอร์ 3 บริษัทมาลีรับซื้อไปทำเป็นน้ำส้มศรีสัชนาลัย”

เกษตรกรหันปลูกเงาะ-ทุเรียน

ด้านนางเกศษิณ ลำมะยศ เกษตรจังหวัดเลย กล่าวว่า พื้นที่ปลูกส้มในจังหวัดเลยน้อยลงเช่นกัน โดยปี 2560 มีพื้นที่ปลูกส้มเขียวหวาน 588 ไร่ แต่เป็นพื้นที่ที่เก็บเกี่ยวได้เพียง 120 ไร่ เกษตรกร 217 ราย ซึ่งเนื้อที่ลดลงจากปี 2559 และ 2558 ที่มีพื้นที่ 628 และ 735 ไร่ตามลำดับ โดยเฉลี่ยเกษตรกร 1 ราย มีพื้นที่ปลูกส้มประมาณ 2-3 ไร่ เนื่องจากเกษตรกรประสบปัญหาเรื่องโรคแมลง และมีการใช้สารเคมีค่อนข้างเยอะ รวมถึงแม้ราคาจะสูง แต่ก็ยังไม่คุ้มค่ากับต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรบางรายหันเหไปปลูกเงาะ ทุเรียน กล้วย แก้วมังกร และเสาวรสแทน

ปัจจุบันสำนักงานเกษตรจังหวัดเลย ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรกรทุกอำเภอ รวมถึงมีศูนย์เครือข่าย ซึ่งจังหวัดพยายามเข้าไปดูแลในเรื่องการลดความเสี่ยงจากการปลูกพืช การลดต้นทุนการผลิต ให้ความรู้เรื่องโรค แมลง ศัตรูพืชที่กำลังระบาด นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งกลุ่มศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนขึ้นทุกอำเภอ อำเภอละ 2 กลุ่ม โดยเข้าไปสอนให้เกษตรกรรู้ว่าไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี อีกทั้งมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย

ขณะเดียวกัน พยายามส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ เน้นเกษตรอินทรีย์ ปลูกพืชตามความเหมาะสมของพื้นที่หรือโซนนิ่ง รวมถึงแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชแบบผสมผสาน และสามารถแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้