จีรนันท์ วงษ์มงคล “ตราด” เชื่อมโอกาสธุรกิจในกัมพูชา

จีรนันท์ วงษ์มงคล
สัมภาษณ์พิเศษ

“ตราด” หนึ่งในจังหวัดภาคตะวันออกที่มีเมืองชายแดนเชื่อมต่อกับ จ.เกาะกง กัมพูชา ดังนั้น โอกาสด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวมีมากน้อยเพียงใด “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “จีรนันท์ วงษ์มงคล” อดีตอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ประจำกรุงพนมเปญ ในฐานะผู้แทนการค้า สำนักงานตัวแทนส่งเสริมการค้า จังหวัดเสียมราฐ และประธานสมาคมนักธุรกิจไทยในกัมพูชา

กัมพูชาโตก้าวกระโดด

ย้อนหลังไป 20 ปี กัมพูชาเติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะนโยบายการเปิดประเทศรับการลงทุนต่างชาติ ทำให้เศรษฐกิจพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากเงินลงทุน เงินกู้ และเงินช่วยเหลือ มีการสร้างระบบขนส่งเชื่อมต่อหลายสาย และรัฐบาลกัมพูชาสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติ โดยให้สิทธิประโยชน์เป็นเจ้าของที่ดิน โดยเปลี่ยนแปลงถือสัญชาติกัมพูชา ส่วนนักลงทุนจีนมีข้อเสนอแลกเปลี่ยนนำคนจีนเข้ามาอยู่อาศัย โดยลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่

โดยเฉพาะโรงแรมที่มีกาสิโนได้รับใบอนุญาตเกือบ 1,000 ไลเซนส์ ราคาที่ดินทุกเมืองสูงขึ้น โดยเฉพาะสีหนุวิลล์ที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซื้อขายแปลงละ 5-10 ล้านดอลลาร์ อาจจะขึ้นถึง 50-100 ล้านดอลลาร์ ที่ดินใกล้ทะเลถูกซื้อหมด

นอกจากนี้ นักลงทุนได้รับสิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) ความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) และล่าสุดตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 ได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ RCEP ปัจจุบันกัมพูชายกระดับจากประเทศยากจน เป็นประเทศพัฒนาปานกลางระดับต่ำ

ประชาชนมีรายได้มากกว่า 1,500 ดอลลาร์/ปี ปัจจุบันมีความต้องการแรงงานสูง เพราะมีนักลงทุนเข้าไปมาก ค่าแรงขั้นต่ำภาคบังคับในโรงงานเดือนละ 200 ดอลลาร์ และค่าแรงฝีมือไม่สูงมากเดือนละ 300-700 ดอลลาร์ แรงงานมีฝีมือ 1,500-2,000 ดอลลาร์ พนักงานสำนักงาน 6,000-9,000 ดอลลาร์ ธนาคารขยายตัวมากถึง 50 กว่าแห่ง 70% เป็นของต่างประเทศ เช่น จีน อินเดีย มาเลเซีย ส่วนไทยมี 5-6 ธนาคาร และธนาคารได้ขยายสาขาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

แนะตั้ง รง.ผลิตชิ้นส่วนป้อนไทย

หลายคนมองกัมพูชาเป็นตลาดเล็ก ๆ แต่จริง ๆ แล้วกัมพูชาเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย มีมูลค่าการค้า 10,000 ล้านดอลลาร์/ปี จึงน่าเข้าไปลงทุนทำการค้า (Trading) ไม่ต้องเข้าไปลงทุน เพราะต้นทุนสูง ทั้งค่าไฟฟ้าแพงกว่าไทย 3 เท่า ค่าเช่าที่ดินสูงทำสัญญาสัมปทานนานถึง 35 ปี ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในโรงงานแพงและต้องแย่งชิงกัน และแรงงานยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าคนไทย ควรเป็นรูปแบบโรงงานผลิตชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ และส่งกลับมาป้อนโรงงานของไทยเพื่อส่งออกไปทางชายแดน จ.ตราด เชื่อมต่อเกาะกง ซึ่งมีท่าเทียบเรือน้ำลึกที่อยู่ใกล้เพียง 30-50 กิโลเมตรจะสะดวกมาก

จุดแข็งที่ดึงดูดนักลงทุนคือ กัมพูชารวยมาก คนกัมพูชา 80% มาใช้บริการโรงพยาบาลชั้นนำของไทย ช่วงโควิดคนที่มีกำลังซื้อสูงเช่าเหมาลำเครื่องบินมาเที่ยวไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง สหรัฐ ทำให้สายการบินในกัมพูชาเติบโตสูงสุดในอาเซียน ทุกวันนี้สายการบินไทย เวียตเจ็ทบินวันละ 2 ไฟลต์เต็ม และจะขยายเป็น 4 ไฟลต์เร็ว ๆ นี้

ตราดเชื่อมการค้า-ท่องเที่ยว

“เขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง” ทางจีนได้รับสัมปทานพัฒนาท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ 2 แห่งคือ โครงการดาราซากอร์ (Dara Sakor) มูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งท่าเทียบเรือน้ำลึก สนามบินนานาชาติ โรงแรม รีสอร์ต อยู่ห่างชายแดน จ.ตราดเพียง 90-100 กิโลเมตร รวมทั้งท่าเรือน้ำลึกของเอกชนที่ได้สัมปทานอีก 1 แห่ง ห่างชายแดนไทย 30-50 กิโลเมตร อนาคตการขนส่งทางน้ำสำคัญมากขึ้น

จ.ตราดเป็นเมืองชายแดนเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว ต้องมองให้ไทยและกัมพูชาเป็นตลาดเดียวกัน รวมถึงเวียดนาม ตามเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลตอนใต้เชื่อมโยงจากไทย-กัมพูชา-เวียดนาม การส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ นักท่องเที่ยวที่เดินทางจากพัทยา ผ่านตราด ไปกัมปอต หรือสีหนุวิลล์ เพื่อเดินทางต่อไปเสียมราฐ หรือพนมเปญ ควรมีจุดแวะพักจ.ตราด เที่ยวเกาะช้าง หรือเกาะอื่น ๆ และเส้นทางกลับกัน จากสีหนุวิลล์ มาเกาะกง จ.ตราด ควรแวะเที่ยวเกาะใน จ.ตราด ก่อนถึงปลายทางพัทยา

ตราดมีศักยภาพทั้งทางบก ทางน้ำ มีโอกาสดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติจากสีหนุวิลล์ หรือคนกัมพูชาที่มีกำลังซื้อสูงมาเที่ยว จ.ตราดได้ เพราะมีกิจกรรมทางน้ำ ที่พักสะดวกราคาไม่แพงมาก โจทย์คือ จ.ตราดทำอย่างไรให้ไม่ใช่แค่ทางผ่าน และต้องเตรียมตัวตั้งรับทั้งท่าเทียบเรือสำราญ เส้นทางถนนที่ได้มาตรฐาน หากมีความสะดวก ความพร้อมผู้ประกอบการจะมาลงทุนเอง

ชงตราดขยายเขตศก.ทั้งจังหวัด

การพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชา โดยประกาศเกาะกง สีหนุวิลล์ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งจังหวัด ทำให้มีการลงทุนมหาศาลของจีน จ.ตราดมีวัตถุดิบด้านเกษตรกรรมและมีศักยภาพข้อได้เปรียบการขนส่งทางน้ำที่ท่าเรือน้ำลึกเกาะกง

ดังนั้น ตราดควรประกาศขยายเขตเศรษฐกิจพิเศษให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด เพื่อดึงดูดให้เป็นฐานการผลิต โดยมีการเสนอให้สิทธิประโยชน์นักลงทุนต่างชาติเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น และขนส่งสินค้าออกทางเกาะกงใกล้กว่าไปท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี หากมีการส่งสริมการลงทุนใน จ.ตราดหรือจังหวัดอื่น ๆ และนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศสมาชิกกลุ่ม ASEAN กลุ่ม RCEP ต้นทุนถูกลง การส่งออกขยายตลาดกว้างขึ้น โดยเฉพาะตลาด RCEP คือASEAN PLUS ประชากรมากกว่า 50% ของประชากรโลก และอนาคตรวมอินเดียด้วยขนาดจะเพิ่มเป็น 3 ใน 4 ของประชากรโลก

ถ้าศึกษาพฤติกรรมคนกัมพูชามีความคล้ายคลึงกับคนไทยมาก กลุ่มลูกค้าในกัมพูชายุคนี้เป็นคนรุ่นใหม่ อายุ 35-45 ปี โดย 50-60% บริโภคสินค้า ไลฟ์สไตล์ ขายผ่านสมาร์ทโฟน และชำระเงินผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด ห้างสรรพสินค้าเป็นเพียงตู้โชว์สินค้า ต้องทำพีอาร์ผ่านทางเฟซบุ๊ก มีแอปต่าง ๆ เช่น Tik Tok คนกัมพูชาเข้าถึงจำนวนมาก ทีวีสำคัญเพราะคนกัมพูชา 90% ชอบดูทีวี ส่วนบิลบอร์ดสินค้าระดับราคาแพงใช้กันมาก เงินน้อยใช้รถตุ๊กตุ๊กค่าใช้จ่ายถูก

คือสิ่งที่เราต้องปรับตัว เทรนด์ฮิตสุดตอนนี้ ตามคอนเซ็ปต์คนกัมพูชาต้องกิน “หมูกระทะ” ตอนนี้เห็นภาพร้านหมูกระทะในกัมพูชาเต็มเมือง