เปิดตัว “ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ” เชื่อมไทย-สปป.ลาว-จีน เฟสแรกเปิดปี’63

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (18 มกราคม 2561) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดตัวโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ เนื้อที่ประมาณ 336 ไร่ พื้นที่ ต.เวียง อ.เชียงของ ใกล้กับสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว ข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 และด่านพรมแดนเชียงของ ติดถนนอาร์สามเอไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ โดยมีนายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมครบครัน สำหรับโครงการดังกล่าวคืบหน้าแล้วประมาณ 10% ปัจจุบันมีการปรับพื้นที่และสร้างสิ่งปลูกสร้างบางส่วนแล้ว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการนี้ กระทรวงคมนาคมได้สร้างขึ้นรองรับนโยบายการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าชายแดนระหว่างประเทศไทย-สปป.ลาว ไปจนถึงเมืองเชียงรุ้งและคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ระยะทางรวมประมาณ 1,100 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นการยกระดับมาตรฐานของการขนส่งสินค้าของไทย รวมทั้งรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจอาเซียนและการเติบโตของจีนฝั่งตะตก ซึ่งไม่มีทางออกสู่ทะเล นอกจากนี้ยังรองรับการเปลี่ยนการขนส่งสินค้าจากถนนสู่ระบบราง ตามแผนการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสาย อ.เด่นชัย จ.แพร่ ไปยัง จ.เชียงราย โดยมีปลายทางอยู่ที่ อ.เชียงของ อีกด้วย

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมเล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงได้ริเริ่มโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของให้ประชิดกับด่านพรมแดนในปัจจุบัน โดยจัดหาที่ดินให้กว้างขวาง เพื่อให้สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยจะมีหน่วยงาน CIQ คือ Custom (พิธีการทางศุลกากร) Immigration (พิธีการตรวจคนเข้าเมือง) และ Quarantine (การตรวจและกักพืชและสัตว์) ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าไปใช้บริการเพียงจุดเดียวหรือวันสต็อปเซอร์วิสได้ รวมทั้งยังมีเนื้อที่สำหรับร่วมพัฒนากับ สปป.ลาว ในอนาคต ในการให้พื้นที่ควบคุมร่วมกันในการตรวจปล่อยสินค้า ณ จุดเดียว ซึ่งจะทำให้ลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

นายอาคมกล่าวต่อว่า การก่อสร้างโครงการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 สร้างระบบเปลี่ยนถ่ายหัวลาก-หัวพ่วงรองรับรถบรรทุกทั้งไทยและจากต่างประเทศ มีจุดบริการอุกรณ์อำนวยความสะดวกครบครันด้านต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์ยกตู้คอนเทนเนอร์ ปลั๊กเสียบตู้แช่เย็นสินค้า คลังสินค้าศุลกากร คลังสินค้าทัณฑ์บน อาคารบรรจุสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ได้กว่า 270,000 ทีอียู ฯลฯ จะแล้วเสร็จในปี 2563

สำหรับระยะที่ 2 ก่อสร้างระบบรองรับระบบราง ควบคู่กับการพัฒนาพื้นที่ลานคอนเทนเนอร์ให้แล้วเสร็จในปี 2566 ซึ่งจะสอดคล้องกับโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟมาจาก อ.เด่นชัย ไปถึง อ.เชียงของ และการพัฒาท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ระยะที่ 3 พอดีอีกด้วย ทั้งนี้ทางกระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดโครงการเส้นทางรถไฟสายนี้ไปยังคณะรัฐมนตรีอีกครั้งในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อให้เส้นทางรถไฟในฝันนี้เป็นจริง โดยควบคู่กับโครงการศูนย์ฯ ดังกล่าวต่อไป

“โครงการศูนย์ฯ มีทั้งหมด 11 แห่งทั่วประเทศ สำหรับที่ อ.เชียงของ ถือเป็นแห่งแรกที่เริ่มก่อสร้างจริงแล้วโดยไม่ใช่โครงการนำร่องอีกต่อไป เพราะชายแดนด้านนี้มีความสำคัญด้านภูมิศาสตร์และโลจิสติกส์ของระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ในภูมิภาคที่สำคัญ ทำให้มีมูลค่าการค้าที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมในปี 2544 มีมูลค่าการค้ารวมเพียงแค่ 8,000 ล้านบาท และในปี 2560 เพิ่มสูงถึงกว่า 21,000 ล้านบาทแล้ว

ขณะที่รายงานข่าวจากด่านศุลกากรเชียงของแจ้งว่า ในปีงบประมาณ 2560 มีการนำเข้าสินค้าผ่านด่านศุลกากรเชียงของมูลค่า 6,329.073 ล้านบาท และส่งออกมูลค่า 15,418.426 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2561 ตั้งแต่เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน มีการนำเข้าแล้วมูลค่า 1,480.246 ล้านบาท และส่งออกมูลค่า 1,964.189 ล้านบาท สินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นผลไม้สด ผักสด เครื่องจักร-อุปกรณ์ ดอกไม้และไม้ประดับ ฯลฯ ส่วนสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภค ผลไม้สด ข้าว น้ำมันดีเซล วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ ทั้งนี้โครงการศูนย์ฯ จะรองรับสินค้าดังกล่าว โดยใช้งบประมาณโครงการทั้งหมดประมาณเบื้องต้น 2,265.0655 ล้านบาท สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้วันละประมาณ 6,652 ตัน รถยนต์บรรทุกวันละ 262 คัน