มากกว่า “ที่นอนและหมอนยาง” แปรรูปยางพารา ทางออกวิกฤตราคาตกต่ำ

เป็นวังวนไม่รู้จบกับปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และผันผวน โดยเฉพาะยางพารา ที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ หรือ คอมโมดิตี้(Commodities) ที่นอกจากจะขึ้นอยู่กับหลักดีมานด์ ซัพพลายแล้ว ยังมีปัจจัยตลาดซื้อขายล่วงหน้า ทำให้วันนี้ราคายางพาราตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน แต่ที่แน่นอน คือ เกษตรกรชาวสวนยางไม่มีหนทางต่อรองได้เลย

เรื่องนี้ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายต่างเร่งหาทางออก โดยปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลได้เดินหน้าส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐ 9 หน่วยงาน ใช้ยางในประเทศ 2.5 หมื่นตัน หวังลดปริมาณยางเพื่อให้ราคาขยับสูงขึ้น ขณะที่นักวิชาการบางส่วนเร่งให้ความรู้เกษตรกรเรื่องการแปรรูป เพราะเป็นอีกหนทางที่จะช่วยให้เกิดความยั่งยืน

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ เกษตรกร เริ่มขยับหันมาแปรรูปมากขึ้น “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมบางผลิตภัณฑ์ที่นำมาโชว์ในงานวันสถาปนาการยางแห่งประเทศไทยก้าวสู่ปีที่ 3 มานำเสนอ

ต่อยอดเอกลักษณ์ชุมชน

“จำเนียร นนทะวงษ์” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจแนวคิดใหม่ในอาเซียน จ.ศรีสะเกษ ผู้ผลิตไส้รองเท้าที่ใช้ไม้ตะกูบดผสมยางพารา กล่าวว่า ได้ไอเดียมาจากรองเท้ายี่ห้อดังที่ขายราคาคู่ละ 3-4 พันบาท แต่ดัดแปลงจากการใช้ไม้ก๊อกมาเป็นไม้ตะกูที่มีปลูกในพื้นที่ โดยมีคุณสมบัติคล้ายกันเรื่องความเบา ขั้นตอนของการผลิต คือ จะใช้ยางแผ่นหรือยางเครปที่รับซื้อในจังหวัดศรีสะเกษ มาผสมกับไม้ตะกูบด โดยแบ่งเป็นสัดส่วนยางพารา 80% ไม้ตะกู 20% และมีส่วนผสมของสารเคมีเล็กน้อย

จากนั้นนำไปประกอบกับชิ้นส่วนอื่นๆ ที่กระจายงานให้กลุ่มซึ่งมีสมาชิกประมาณ 400-500 คน จาก 6 จังหวัด อาทิ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี สุรินทร์ โดยแบ่งหน้าที่กันทั้งสายการผลิต ตั้งแต่พื้นรองเท้า ทอผ้าลวดลายอีสาน เย็บผ้า ทุกอย่างเป็นแฮนด์เมด ดังนั้นตลาดจึงยังแข่งขันไม่สูง

จำเนียร บอกว่า คุณสมบัติไส้รองเท้าที่ใช้ไม้ตะกูบดผสมกับยางพารา คือ ความทนทาน และมีความนุ่ม เมื่อนำมาประกอบเป็นรองเท้า จำหน่ายราคาคู่ละ 199 บาท ปัจจุบันมีกำลังการผลิตวันละ 300 คู่ อาจเพิ่มเป็นวันละ 1,000 คู่ โดยรองเท้าคู่หนึ่งใช้ยาง 2 ขีด สำหรับปัญหาราคายาง หากราคาขึ้นก็จะกระทบนิดหน่อย แต่สามารถซื้อได้ เพราะนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าอยู่แล้ว

ตลาดคือกลุ่มวัยรุ่นทั่วประเทศ รวมถึงการส่งออกไปกัมพูชามาแล้วครั้งหนึ่งขายดีมาก และตั้งจะไปมาเลเซีย ล่าสุดจีนมาติดต่อ ตอนนี้เราใช้ชื่อแบรนด์ OTOP แต่เราจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใหม่ ใช้แบรนด์ KMY handmade @ Thailand”

ชูคุณภาพสู้หมอนยางจีน

“วีรอนันต์ เกิดสุข” ผู้จัดการ หจก.วี.อาร์.เค และเจ้าของแบรนด์กระบี่ลาเท็กซ์ บริษัทแปรรูปยางแห่งแรกในกระบี่ กล่าวว่า เรียนจบจากภาควิชาเทคโนโลยียาง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีการเรียนการสอนตั้งแต่การแปรรูปยาง รวมถึงการเขียนสูตร และออกแบบผลิตภัณฑ์ จากนั้นทำงานที่บริษัทแปรรูปยางสั่งสมประสบการณ์ จนมีกิจการเล็ก ๆ ของตัวเอง ผลิตหมอนยางพารา ชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องจักร และอื่น ๆ ตามออร์เดอร์

สำหรับหมอนยางพารานั้นจะส่งออกจีนทั้งหมด กำลังการผลิตอยู่ที่ 2,000-3,000 ใบ/เดือน ใช้ยางเดือนละประมาณ 5 ตัน ส่วนอุปกรณ์ชนิดอื่นจะเป็นการรับจ้างผลิต OEM โดยสินค้าที่จำหน่ายในจังหวัดกระบี่จะใช้แบรนด์กระบี่ลาเท็กซ์ ขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกจะใช้แบรนด์ของลูกค้า โดยจุดเด่นคือ การใช้ยางพาราแท้ 100% ทำให้มีความทนทาน ไม่มีกลิ่นเหม็น สามารถซักได้ ไม่ยุ่ย โดยสูตรผลิตภัณฑ์เรามีใบรับรองจากมหาวิทยาลัยมหิดล

จากความนิยมหมอนยางทำให้เริ่มมีสินค้าเกรดจีนไม่ใช่ยางแท้เข้ามาตีตลาด จนเกิดปัญหาความเชื่อมั่น อย่างไรก็ตามเจ้าของกระบี่ลาเท็กซ์ได้อธิบายความแตกต่าง เพราะหมอนที่ไม่ได้ทำจากยางแท้ 100% มีการผสมสารเคมี แม้คุณสมบัติจะทำให้ผลิตภัณฑ์เข้ารูปสวยงาม แต่ไม่ทนทาน มีกลิ่นเหม็น ไม่เด้งกลับ อายุการใช้งานน้อย ขณะที่คุณสมบัติของยางพารา 100% นั้นเหนือกว่ามาก ทำให้ลูกค้ายังเชื่อมั่นทำสัญญาซื้อขายกันอยู่

เติมดีไซน์-ฟังก์ชั่นล้ำเพิ่มมูลค่า

“ธีรพล อัตรทิวา” ดีไซเนอร์และไดเร็กเตอร์ ผู้ผลิตกระเป๋าจากยางพาราแบรนด์ least studio กล่าวว่า ในฐานะสถาปนิกมีแนวคิดจะทำแผ่นรองกรีดจากยางพารา โดยให้เอกชนทำวิจัยพัฒนาต่อเนื่องจนสำเร็จ คุณสมบัติเด่น คือ แข็งแรง ทนทาน กรีดไม่ขาด นุ่ม บางเบา และ ทนความร้อนได้ จากนั้นนำมาพัฒนาเป็นไลฟ์สไตล์โปรดักต์ต่าง ๆ ได้แก่ กระเป๋า ของใช้งาน คอลเล็กชั่นแรก คือ คัตติ้ง แมทช์ (cutting match) ล่าสุดรับรางวัลดีมาร์ค อวอร์ด ของกระทรวงพาณิชย์

“ผมมองว่าวัสดุยางพาราเป็นข้อโดดเด่นอย่างหนึ่ง แต่ถ้าข้อโดดเด่นนี้ไม่ถูกประกอบกับการดีไซน์ และฟังก์ชั่นที่ดี ก็จะไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค”

ปัจจุบันสินค้าของ least studio โดยเฉพาะกระเป๋า ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี สแกนดิเนเวีย เนื่องจากชาวต่างชาติจะชอบเรื่องของแนวคิด และ วัสดุ โดยตลาดส่งออกทำเองทั้งหมด กำลังการผลิตอยู่ที่ 2,000-5,000 ใบ/เดือน ราคาสินค้าอยู่ระหว่าง 400-5,000 บาท ทั้งนี้มีแพลนในการขยายรูปแบบของโปรดักต์ต่าง ๆ ให้หลากหลาย ปลายปีหน้าอาจจะทำของใช้ในบ้าน โดยเป็นการมิกซ์กับวัสดุอื่นๆ เช่น เซรามิก ไม้ เป็นต้น

“ตลาดตอนนี้เราทำ 2 ส่วน ทั้งออนไลน์ ที่จะให้ข้อมูลของวัสดุ และไลฟ์สไตล์ และออฟไลน์ ซึ่งมีวางจำหน่ายในเครือสยาม เช่น สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และซีเล็กช็อปต่าง ๆ รวมถึงการออกจำหน่ายในอีเวนต์ต่าง ๆ”

ลูกปัดยางพารา

ด้านประธานกลุ่มพัฒนาชุมชนเอื้ออาทรบางเสาธง จ.สมุทรปราการ “นริศราวรรณ กุนอก” ผู้ผลิตเครื่องประดับดินสอพองผสมยางพารา กล่าวว่า เริ่มแรกผลิตดอกไม้ประดิษฐ์จากดิน แต่ยังมีข้อด้อย คือ เมื่อโดนน้ำจะละลาย จึงมองหาวัสดุอื่นที่จะใช้แทนกาว จนกระทั่งเมื่อ 2 ปีก่อนมาใช้ยางพารา แต่ก็ยังเกิดปัญหาเรื่องกลิ่น จึงนำสีธรรมชาติมาใช้แทนสีน้ำมัน เช่น ใบเตยแทนสีเขียว อัญชันแทนสีม่วง เป็นต้น ซึ่งสามารถแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นยางได้อย่างดี อีกทั้งยังช่วยเพิ่มในเรื่องของความเงาแทนแล็กเกอร์ด้วย เพื่อประโยชน์ของกลุ่มขณะนี้ได้จดทรัพย์สินทางปัญญา