อยุธยา น้ำยังท่วม 8 อำเภอ เตือนประชาชนเฝ้าระวังฝนตกหนัก 5-10 ก.ย.

กอปภ.อยุธยา เผยสถานการณ์น้ำลดระดับเล็กน้อย พื้นที่คงกระทบ 8 อำเภอ เตือนประชาชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก เฝ้าระวังฝนตกหนัก 5-10 ก.ย.นี้

เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับรายงานจาก ผอ.โครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา แจ้งสถานการณ์น้ำวันที่ 5 กันยายน 2565 ปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา สถานี C13 ที่ 1,537 ลบ.ม./วิ เมื่อวาน 1,624 ลบ.ม./วิ ปริมาณน้ำไหลผ่านลดลง 87 ลบ.ม./วิ ระดับน้ำที่จุดวัดน้ำ C35 บ้านป้อม พระนครศรีอยุธยา ระดับตลิ่ง 4.35 ม. ระดับน้ำ 3.99 ม. ลดลงจากเมื่อวาน 16 ซม.

สำหรับปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่สถานี S.28 อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี 268 ลบ.ม./วิ เมื่อวาน 267 ลบ.ม./วิ ปริมาณน้ำไหลผ่านเพิ่มขึ้น 1 ลบ.ม./วิ ระดับน้ำที่เขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ ระบาย 416 ลบ.ม/วิ ระดับตลิ่ง 8 ม. ระดับน้ำ 5.04 ม. เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 2 ซม. และที่จุดวัดน้ำสะพานปรีดี-ธำรง อ.พระนครศรีอยุธยา ระดับตลิ่ง 4.70 ม. ระดับน้ำ 3.20 ม. ลดลงจากเมื่อวาน 9 ซม.

ทั้งนี้ ปภ.พระนครศรีอยุธยา สรุปรายงาน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ 16 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมใต้ถุนบ้าน จำนวน 8 อำเภอ 97 ตำบล 509 หมู่บ้าน 4 ชุมชน 19,211 ครัวเรือน รวมพื้นที่การเกษตร 7,801.75 ไร่ ไม้ผล/ไม้ยืนต้น 7 ไร่

ดังนี้ อำเภอเสนา รวม 7 ตำบล 47 หมู่บ้าน 3 ชุมชน 3,193 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 43 ไร่ อำเภอบางบาล รวม 16 ตำบล 91 หมู่บ้าน 4,229 ครัวเรือน และพื้นที่การเกษตร 804 ไร่ อำเภอบางไทร รวม 23 ตำบล 108 หมู่บ้าน 2,827 ครัวเรือน และพื้นที่การเกษตร 1,946 ไร่ อำเภอนครหลวง รวม 7 ตำบล 17 หมู่บ้าน 32 ครัวเรือน และพื้นที่การเกษตร 5,008.75 ไร่ ไม้ผล/ไม้ยืนต้น 7 ไร่

อำเภอผักไห่ รวม 11 ตำบล 76 หมู่บ้าน 2,984 ครัวเรือน อำเภอบางปะหัน รวม 7 ตำบล 18 หมู่บ้าน 333 ครัวเรือน อำเภอพระนครศรีอยุธยา รวม 14 ตำบล 69 หมู่บ้าน 1 ชุมชน 1,887 ครัวเรือน อำเภอบางปะอิน รวม 12 ตำบล 83 หมู่บ้าน 3,726 ครัวเรือน ล่าสุด อำเภอท่าเรือ สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชน และหน่วยงานต่าง ๆ เฝ้าระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนตกสะสมที่จะทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขามีปริมาณมากขึ้น ในบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล รวมถึงการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา 1,500-1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ได้ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ อย่างใกล้ชิดในช่วงวันที่ 5-10 ก.ย. 65 จากร่องมรสุมจะมีกำลังแรงขึ้นและเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สำหรับสถานการณ์ดังกล่าว ประชาชนเริ่มได้รับผลกระทบบางพื้นที่แล้ว เนื่องจากน้ำมีปริมาณที่สูงขึ้น แต่ถนนหนทางยังสัญจรไป-มาได้ ประชาชนยังดำเนินวิถีชีวิตของบ้านริมแม่น้ำ ใต้ถุนสูง มีเรือทุกบ้าน พร้อมมีไม้กระดานวางเพื่อเดินเข้าบ้าน โดยทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้สั่งการให้ทุกหน่วยที่มีส่วนเกี่ยวข้องตรวจสอบและเฝ้าระวังพื้นที่สำคัญ แบ่งเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เขตพระราชฐาน โบราณสถาน และวัดที่สำคัญ พื้นที่เขตเศรษฐกิจ นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่าง ๆ และพื้นที่ชุมชนหนาแน่น เขตเทศบาลนคร เทศบาลเมือง
ทั้งนี้ ได้ตั้งวอร์รูมและติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ ได้ประสานติดตั้งเครื่องสูบน้ำออกจากพื้นที่การเกษตรแล้วกว่า 6 ล้านคิว ทำให้สามารถรักษาที่นาได้ 1 หมื่นกว่าไร่ โดยได้รับการสนับสนุนติดตั้งเครื่องสูบจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 2 สุพรรณบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา และหน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่ ระดมเครื่องสูบมาสนับสนุนกว่า 50 เครื่อง นอกจากนี้ ยังได้ให้ความช่วยเหลือมอบถุงยังชีพจำนวนกว่า 5,848 ถุง