บูม “เวลเนสฮับ” ภาคเหนือ ดันเศรษฐกิจโต 3 หมื่นล้าน

เวลเนสฮับ

หลังจากกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเร่งรัดดำเนินการพัฒนาประเทศไทยให้เป็น “ศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพในระดับโลก” เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้เติบโตหลังสถานการณ์โควิด

โดยขับเคลื่อนอุตสาหกรรม “Wellness” มุ่งเรือธงให้เป็น “เศรษฐกิจใหม่” กระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ และส่งออกผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพไปยังตลาดโลก ด้วยกลไกการพัฒนาเชิงพื้นที่ “ระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสประเทศไทย” ให้เป็นพื้นที่นวัตกรรมที่มีศักยภาพสูงในการผลิตและบริการผลิตภัณฑ์เวลเนส

ทั้งนี้ รัฐบาลได้อนุมัติให้ดำเนินการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน เป็นระเบียงแรก ซึ่ง “กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ” (สบส.) กระทรวงสาธารณสุขจะเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีในเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้

ล่าสุดมีการผลักดัน “ระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสภาคเหนือ” โดยกฎบัตรไทย-สมาคมการผังเมืองไทย ฟันเฟืองสำคัญที่กำลังเร่งขับเคลื่อนให้ทุกองคาพยพมุ่งสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้เติบโตแตะ 3 หมื่นล้านบาทภายในระยะเวลา 3 ปี

นายฐาปนา บุณยประวิตร เลขานุการกฎบัตรไทย และนายกสมาคมการผังเมืองไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสภาคเหนือ จะบูรณาการทรัพยากรด้านต่าง ๆ

เพื่อยกระดับให้พื้นที่ภาคเหนือเป็นเขตระเบียงนวัตกรรมเวลเนสที่สมบูรณ์ โดยใช้ฐานการวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือ อาทิ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยมหิดล

เป็นเครือข่ายในการเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจการท่องเที่ยว อาทิ กลุ่มโรงแรม กลุ่มสถานบริการสุขภาพ และการพัฒนาเครือข่ายซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมเวลเนส

โดยเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ถือเป็นการเริ่มต้นในการประกาศเจตนารมณ์และความพร้อมต่อสาธารณะ ในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสของภาคเหนือ พร้อมทั้งการระดมความคิดและรับฟังข้อเสนอแนะจากหน่วยงานและองค์กรด้านสุขภาพในพื้นที่

จัดทำเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการศูนย์กลางทางการแพทย์ และคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)

เพื่อขออนุมัติการดำเนินการพัฒนาต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้เขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนส เป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องขับเคลื่อนด้วยกฎหมายพิเศษ ซึ่งจะดึงดูดให้เกิดการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม

นายฐาปนากล่าวต่อว่า หากมองในภาพใหญ่ของระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสประเทศไทย ซึ่ง สบส.และคณะทำงานกฎบัตรไทย-สมาคมการผังเมืองไทย ได้คัดเลือกไว้จำนวน 7 ระเบียง

คาดว่าจะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจราว 1 แสนล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี สำหรับระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสภาคเหนือ คาดว่าภายในระยะเวลา 3 ปีจะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้เติบโตได้ราว 30,000 ล้านบาท

แม่ฟ้าหลวงฮับสุขภาพลุ่มน้ำโขง

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า การขับเคลื่อน Health & Wellness เป็นโอกาสทางธุรกิจของประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยคือ Top 5 ด้านนี้ และตลาดมีอัตราการเติบโตสูงมาก

ขณะเดียวกัน รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนชัดเจนในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเวลเนส โดยสิ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมคือ การกำหนดมาตรฐานการดำเนินการ กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งจะเปิดโอกาสให้กับนักลงทุน หรือ SMEs ได้สร้างอาชีพใหม่สำหรับโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ถือเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์และการบริการสุขภาพแบบบูรณาการ (Integrative Health Services and Medical Hub) มีความพร้อมทั้งด้านบริการทางการแพทย์และบริการสุขภาพ

กล่าวได้ว่าปัจจุบันศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นศูนย์กลางการแพทย์แห่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่สามารถรองรับตลาดในอนุภูมิภาคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ถือเป็นศูนย์การแพทย์ขนาดใหญ่ มีมาตรฐานสูง เป็นโรงพยาบาลรัฐบาล ที่เป็นทางเลือกในการรักษา และค่าใช้จ่ายไม่สูง นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในเรื่อง Wellness

โดยมีศูนย์บริการสุขภาพแบบครบวงจรภาคเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (MFU Wellness Center) มุ่งเรื่องการดูแลสุขภาพและการมีสุขภาพที่แข็งแรง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและการบำบัดโรคต่าง ๆ

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัยกล่าวต่อว่า ศูนย์บริการสุขภาพหรือ Wellness Center ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้ป่วย คัดกรองโรค เพราะเรื่องของ Promotion และ Prevention สำคัญที่สุด มากกว่าการรักษา

ดังนั้น เมื่อมองถึงโอกาสของ Wellness จึงมีมากและต้องเตรียมพร้อม โดยเฉพาะมาตรฐานการดำเนินการ การพัฒนาคน ซึ่งประเด็นนี้รวมถึงความเชี่ยวชาญ จิตบริการ ความรู้ทางธุรกิจ โดยในส่วนของสถาบันการศึกษาต้องปรับเปลี่ยนแนวคิด มุ่งสู่การพัฒนาคนและหลักสูตรเฉพาะ

นอกจากนี้ มาตรการส่งเสริมภาครัฐและกฎเกณฑ์ที่ต้องเอื้อต่อธุรกิจ รวมทั้งการส่งเสริมความเชี่ยวชาญด้าน Wellness & Health Care Business อย่างไรก็ตาม Wellness ถือเป็นเศรษฐกิจใหม่ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของภาคเหนือให้เติบโตและสร้างรายได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต

ดันกฎหมายเฉพาะบูมเวลเนส

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสประเทศไทย คือโอกาสทางธุรกิจของประเทศไทย ที่ต้องผลักดันให้เกิดกฎหมายเฉพาะเหมือนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ซึ่งจำเป็นต้องมีกลไกกฎหมายพิเศษเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม โดยระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสภาคเหนือจะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาควิชาการ สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการในพื้นที่ กฎบัตรไทย ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนและผลักดัน

ซึ่งศักยภาพของภาคเหนือทั้งตอนบนและตอนล่างมีความพร้อมในการสร้างเศรษฐกิจ Wellness ทั้งความพร้อมในด้านผลิตภัณฑ์ อาทิ ชา สมุนไพร กาแฟ สถานที่ท่องเที่ยว อาหารที่หลากหลาย และบริการทางการแพทย์ที่ครบวงจร

ดังนั้น รูปธรรมจะเกิดขึ้นได้ นอกจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนแล้ว การทำระบบกฎหมายพิเศษมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเมื่อมีการทำแผนปฏิบัติการระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสภาคเหนืออย่างชัดเจนแล้ว ทางกรมจะนำแผนเข้าสู่คณะกรรมการ Medical Hub ภายในเดือนกันยายน 2565 เพื่อผลักดันเข้าสู่คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาต่อไป