3 จังหวัด หวังโอนสนามบินต่างชาติคึกคัก

โอนสนามบิน

นักธุรกิจภูธรขานรับ ครม.ไฟเขียวโอน 3 สนามบิน “อุดรธานี-บุรีรัมย์-กระบี่” ให้ ทอท.ดูแล เชื่อชาวต่างชาติบินเข้ามามากขึ้น ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ

หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 เห็นชอบให้ บมจ.ท่าอากาศยานไทย ดูแลบริหารจัดการ 3 ท่าอากาศยานแทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) โดย ทอท.บอกว่า

มีงบประมาณพัฒนา ประมาณ 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ท่าอากาศยานอุดรธานี 3,523 ล้านบาท บุรีรัมย์ 460 ล้านบาท และกระบี่ 5,216-6,487 ล้านบาท (ตัวแปรอยู่ที่แผนก่อสร้างท่าอากาศยานพังงา)

นางสาวรัตภชา ธีรภัทรกิจ เจ้าของโรงแรมเจริญสินเพลส บุรีรัมย์ และรองประธานหอการค้า จ.บุรีรัมย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มติ ครม.ที่ออกมาถือเป็นสิ่งที่ชาวบุรีรัมย์และนักท่องเที่ยวต่างเรียกร้องมานาน

หากพัฒนาแล้วเสร็จ จะทำให้เศรษฐกิจในจังหวัดเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดมากกว่า 50% ขณะเดียวกันผู้ประกอบการธุรกิจภายในจังหวัด โดยเฉพาะโรงแรมต่างยินดีและตื่นตัวกันมาก เพราะในอนาคตนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

น่าจะมีการลงทุนเพิ่มแต่ยังไม่เห็นความเคลื่อนไหวที่ชัดเจน ส่วนทางจังหวัดก็ได้พูดคุยถึงการสร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่ไว้บ้างแล้ว คาดว่าในอนาคตทั้งธุรกิจและเศรษฐกิจจะคึกคักอย่างแน่นอน

นายไมตรี โรจนสินวิไล กรรมการบริหารทวีกิจซุปเปอร์เซ็นเตอร์ จ.บุรีรัมย์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การโอนย้ายไปให้ AOT เป็นสิ่งที่ดี สามารถรองรับเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศได้รวดเร็วขึ้น

ในด้านการค้าหากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น น่าจะช่วยสร้างความคึกคักสร้างกำลังซื้อได้มากขึ้น อีกทั้งตัวสนามแข่งรถหลายแมตช์เป็นกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่เดินทางมาเข้าชมสามารถเดินทางเข้ามาได้สะดวกขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันสนามบินอยู่ระหว่างขยายอาคารผู้โดยสาร และขยายรันเวย์

นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ผู้ประกอบการโรงแรมบริเวณหาดอ่าวนางและที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวอ่าวนาง จ.กระบี่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เป็นเรื่องดีเพราะภาคการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ร่วมผลักดันกันมานานหลายปี

ซึ่งหลังจากนี้ภาคการท่องเที่ยวจะมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน ขณะนี้ผู้ประการธุรกิจการท่องเที่ยวในจังหวัดกระบี่เตรียมวางแผนที่จะออกไปทำตลาดต่างประเทศ ในกลุ่มลูกค้าเดิมทางยุโรปและสแกนดิเนเวีย

ตลอดจนผู้ประกอบการธุรกิจการบินในต่างประเทศได้รับการยืนยันว่า พร้อมที่จะบินตรงมายังจังหวัดกระบี่ หากท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่มีความพร้อม และมีความเป็นมาตรฐานสากล สามารถรองรับเที่ยวบินจากต่างประเทศได้

“เชื่อว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามายังจังหวัดกระบี่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ที่ผ่านมีนักท่องเที่ยวยกเลิกการเดินทางมายังจังหวัดกระบี่ เพราะท่าอากาศยานไม่มีความเป็นมาตรฐาน ทำให้สายการบินชั้นนำไม่เข้ามาใช้บริการ ในอนาคตจะมีสายการบิน และโรงแรมชั้นนำจะมาลงทุนในจังหวัดกระบี่อย่างแน่นอน”

นายสุรศักดิ์ สุระวรรณวิจิตร นายกสมาคมส่งเสริมพ่อค้าจีน จ.อุดรธานี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากมีความชัดเจนในการพัฒนาสนามบินเชื่อว่านักลงทุนมีความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนแน่นอน และโอกาสในการพัฒนาในอีก 3-5 ปีในการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้ดีกว่า เพราะ ทอท.มีเครือข่ายมาก

“ปัจจุบันสนามบินอุดรธานี มีการพัฒนาช้า และแออัดมาก”

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

สำหรับสนามบินจังหวัดอุดรธานี ตอนนี้มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการย้ายจากกรมท่าอากาศยานเข้าไปอยู่ในความดูแลของ AOT เพราะจังหวัดอุดรธานีเคยเสนอการพัฒนาสนามบินต่อรัฐบาลเมื่อครั้ง ครม.สัญจร และได้รับอนุมัติงบประมาณ 3,000 กว่าล้านบาทเพื่อขยายรองรับผู้โดยสาร

โดยจะใช้งบประมาณปี 2566 แต่เมื่อย้ายให้ AOT งบประมาณถูกตัดไป ฉะนั้น AOT ต้องเข้ามาสานต่อและเร่งโครงการที่วางไว้ให้เร็วที่สุด ตลอดจนเข้ามาพูดคุยปรึกษากับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน


เพื่อรับฟังความคิดเห็นและดำเนินการต่อ เพราะไม่ว่าใครเข้ามาบริหารสนามบินอุดรธานีต้องพัฒนาให้สามารถรองรับได้ทั้งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าต่าง ๆ รองรับการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางอากาศ ซึ่งปัจจุบันยอดผู้โดยสารถือว่าเต็มอัตรา และมีความแออัดมาก