คึกคักทั้งวัน! “หมอนยางพารา” ได้รับความนิยมจำหน่ายในงานราคาพิเศษ-ชูเกษตรอินทรีย์

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ มีการจัด “งานวันยางพาราเเละกาชาดบึงกาฬ 2561” เป็นวันที่ 3 โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก ตั้งเเต่ช่วงเช้ามีเด็กและเยาวชนจากโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดบึงกาฬได้เข้ามาศึกษาเเละร่วมกิจกรรมภายในงานจำนวนมาก ขณะที่ประชาชนโดยส่วนใหญ่เป็นชาวสวนยางในจังหวัดบึงกาฬเเละจังหวัดใกล้เคียง เดินทางมาร่วมงานตลอดทั้งวัน โดยให้ความสนใจกับนิทรรศการที่ให้ความรู้เกี่ยวกับหลักวิชาการ หลักทฤษฎี นวัตกรรมใหม่ ในการปลูกยางพารา เพื่อลดต้นทุน แก้ปัญหาราคายางตกต่ำ

นอกจากนี้ยังให้ความสนใจเเละเข้ามาศึกษาดูงานจากชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางพาราจังหวัดบึงกาฬ จำกัด ซึ่งประสบความสำเร็จจากการรวมกลุ่มผลิตหมอนยางพารา

โดยมี นายนิพนธ์ คนขยัน นายกฯอบจ.บึงกาฬ ในฐานะที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางพาราจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า ผลตอบรับของหมอนยางพาราขณะนี้ค่อนข้างดีมีผู้เข้ามาสนใจเยอะมาก โดยครั้งนี้ชุมนุมสหกรณ์ได้เตรียมนำหมอนยางพารามาจำหน่ายทั้งสิ้น 10,000 ใบ ในราคาพิเศษซึ่งราคานี้ทางประเทศจีนบอกว่าถ้าขายเขาเหมาหมด อีกทั้งยังเป็นหมอนคุณภาพดีผลิตจากยางพารา 100 เปอร์เซ็นต์ โดยทางสหกรณ์มองว่าอยากให้คนไทยได้นอนหมอนดีมีคุณภาพ ราคาสมเหตุสมผล หากมีใครสนใจสามารถติดต่อรับซื้อกับชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางพาราจังหวัดบึงกาฬได้โดยตรง

นายนิพนธ์กล่าวถึงประเด็นการจัดให้ยางพาราเป็นหนึ่งในสินค้าควบคุมว่า ต้องดูว่าควบคุมเรื่องอะไร หากเป็นเรื่องการขายก็ควบคุมได้เลย ไม่ห่วง

“เขาจะคุมใคร เพราะเราทำเอง ขายเอง ใช้เองอยู่แล้ว เราเป็นสหกรณ์จะมาคุมอย่างไร อย่างต่างประเทศที่มาใช้บริการบ้านเรามากกว่า เขาขายหมอนยางพาราใบหนึ่งราว 3,500 บาท ซึ่งเป็นหมอนขนาดเดียวกันกับเรา แต่ขายในราคานั้น ไปคุมเขาสิ ในงานยางพาราฯนี้เราขายใบละ 360 บาทเท่านั้น แต่หลังจบงานนี้ขาย 400 บาท แบบนี้คุมยาก หากจะคุมน่าจะคุมตลาดนักท่องเที่ยวมากกว่า รวมถึงเราไม่ขาดทุนด้วย เพราะใช้ยางของเราเอง แม้จะเพิ่มมูลค่าได้ไม่มาก แต่เราต้องการให้เกษตรใช้สินค้าที่ดีมีคุณภาพ เช่น หมอนยางพารา”

ด้านนางสาวสิรินวรีร์ ภาษีสวัสดิ์ พนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ ที่ดูแลจำหน่ายหมอนยางพารา กล่าวว่า สำหรับหมอนยางพารา กำลังได้รับความสนใจของตลาด วันแรกเปิดตัวขายในงานยางพารา ราคาพิเศษ 360 บาท จากปกติราคา 500 บาท ซึ่งขายดีมากเพียงวันเดียวยอดขายสูงกว่า 2,000 ใบ และตลอดการจัดงาน 2 วันที่ผ่านมาจำหน่ายไปเเล้วกว่า 3,000 ใบ ส่วนคุณลักษณะพิเศษของหมอน จะเป็นหมอนที่นุ่มนอนหลับสบาย คืนสภาพเร็ว ถ้าเปรียบเทียบกับหมอนทั่วไปจะมีคุณภาพมากกว่า ที่สำคัญยังมีความสะอาด ปลอดภัย เป็นหมอนปลอดเชื้อ ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื่อแบคทีเรีย คาดว่าในอนาคตจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตลาดต้องการสูง และจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางอีกทาง ในเรื่องราคายาตกต่ำ

ทั้งนี้พนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬฯ ระบุว่า โดยผลตอบรับผลตอบรับที่ดีมาก โดยมีทั้งคนในจังหวัดบึงกาฬ ตลอดจนคนจังหวัดอื่นๆ เข้ามาสอบถาม ตลอดจนเลือกซื้อกลับไปใช้งานเนื่องจากหมอนยางพารามีคุณภาพดีเเละราคาถูกกว่าท้องตลาด นอกจากนี้ยังมีผู้สนใจติดต่อขอเป็นตัวเเทนนำหมอนยางพาราไปจำหน่ายติดต่อเข้ามาอีกหลายราย นอกจากนี้ยังมีผู้เข้ามาให้คำเเนะนำเช่น อยากให้มีการเพิ่มเติมให้หมอนมีกลิ่นหอมหลายแบบบมากขึ้น เนื่องจากหมอนยางพาราในขณะนี้เป็นกลิ่นธรรมชาติ

สำหรับหมอนยางพาราทำจากน้ำยางพารา 100 เปอร์เซ็นต์ ใช้น้ำยางพาราดิบ ประมาณ 2.5 กิโลกรัม ต่อใบ ซึ่งเป็นหมอนที่มีความนุ่มหลับสบาย ระบายอากาศดี คืนสภาพเร็ว ปลอดฝุ่น ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค สามารถซักทำความสะอาดง่าย มีอายุการใช้งานนานกว่า 10 ปี ซึ่งผลิตภัณฑ์หมอนยางพารา จะเป็นทางรอดอีกทาง ที่ช่วยเหลือเกษตรกรรวมถึงชาวสวนยาง เพราะการนำยางพารามาแปรรูปใช้ในประเทศ รวมถึงใช้ในนวัตกรรมใหม่ จะส่งผลดีต่อราคายางพาราในอนาคต โดยการผลิตหมอนยางพาราครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือขององค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ และ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสวนยาง ได้ผลักดันจัดตั้งโรงงานผลิตหมอนจากยางพาราขึ้น ในพื้นที่ ต.ท่าสะอาด อ.เซกา จ.บึงกาฬ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.00 น. ที่เวทีเสวนาปราชญ์ชาวบ้าน มีการจัดเสวนาเรื่อง “ปลูกสมุนไพรในสวนยาง ตัวอย่างความสำเร็จ หมู่บ้านดงบัง” โดย นายสมัย คูณสุข เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรอินทรีย์ ส่งขายให้รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ จ.ปราจีนบุรี โดยบรรกาศเป็นไปอย่างคึกคักประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมฟังการเสวนาจนเต็มทุกที่นั่ง

นายสมัยเล่าว่า เดิมหมู่บ้านดงบังค่อนข้างมีการปลูกยางพาราน้อย และชาวบ้านส่วนมากนิยมทำสวน ทำนาและปลูกไผ่ตง ซึ่งต่อมาประสบปัญหาไผ่ตงล้มตาย ตลอดจนเปลี่ยนมาปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ต่อมาประสบปัญหาราคาตกอีก จึงมีการปลูกสมุนไพรเป็นรายได้เสริม โดยมีข้อจำกัดคือห้ามใช้สารเคมี ซึ่งเป็นการร่วมมือกับรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ที่เน้นให้ปลูกกินก่อน เหลือกินแล้วจึงแปรรูป ตลอดจนนำไปขาย

นายสมัยกล่าวเสริมว่า ครั้งแรกมีการรวมกลุ่มกันกว่า 300 คน เพื่อปลูกสมุนไพร แต่พอเจอข้อจำกัดว่าต้องไม่ใช้สารเคมีในการเพาะปลูก หลงเหลือเพียง 12 คนเท่านั้น

“ยิ่งทำยิ่งจนคือการทำพืชเชิงเดี่ยว และสารเคมีทำให้สุขภาพแย่ลง คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ 12 คนที่เหลือกล้าหันหลังให้กับสารเคมี 20 ปี หลังจากที่เริ่มปลูกสมุนไพรนั้น จากอาชีพเสริมกลายเป็นรายได้หลัก แต่สิ่งที่ได้มากกว่าเม็ดเงินคือสุขภาพ หากสุขภาพไม่ดี เงินที่ได้มาเราจะได้ใช้ไหม” และว่า อยากให้เกษตรกรทดลองปลูกสมุนไพรในพื้นที่ที่ว่างอยู่ อย่างในสวนยาง ปลูกแซมเข้าไป อาทิ เสลดพังพอน ฟ้าทะลายโจน เพชรสังฆาต หญ้าปักกิ่ง หญ้ารีแพร์ (หญ้าเจ้าชู้) ใบชะพลู

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเสวนาเทคนิคปลูก “สละแซมสวนยางแบบ GIP” โดย คุณกฤติเดช อยู่รอด อ.เมือง จ.จันทบุรี และเสวนา“เพาะเห็ดแครง” อาชีพสุดฮิตในสวนยาง โดย คุณบรรลุ บุญรอด อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี และกิจกรรมพิเศษ อีซูซุ มอบโชค รวมถึง โตโยต้า พาลุ้นโชคด้วย รวมถึงกิจกรรมอบรมอาชีพในวันนี้มีการอบรมทำ ข้าวเหนียวถั่วดำน้ำกะทิ ข้าวเหนียวเปียกลำไย และ ข้าวเหนียวมูน 4 หน้า (หน้าสังขยา กระฉีก ปลา กุ้ง) โดย อ.พะเยาว์ กฤษแก้ว

ต่อมาเวลา 16.00 น. ที่ลานแข่งขันยางพารา มีพิธีมอบรางวัลแข่งขันกรีดยางชิงแชมป์ระดับจังหวัด ประจำวันที่ 19 มกราคม เพื่อคัดผู้เข้ารอบ 5 คน ไปชิงแชมป์ระดับประเทศในวันที่ 23 มกราคม โดยมี นายพิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ที่มีคะแนนสูงสุดและได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันกรีดยางฯ รับเงินรางวัล 4,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร ได้แก่ น.ส.ภีรดา สาขา อ.ส่องดาว จ.สกลนคร, รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 รับเงินรางวัล 3,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร ได้แก่ นายสมร ศรีดี อ.ปากคาด จ.บึงกาฬ ซึ่งมีดีกรีเป็นแชมป์กรีดยางระดับประเทศเมื่อปี 2558, รางวัลรองชนะเลิศอับดับที่ 2 รับเงินรางวัล 2,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร ได้แก่ นายเทพคงคา สาขา อ.ส่องดาว จ.สกลนคร และรางวัลชมเชย 2 รางวัล รับเงินรางวัลละ 1,000 บาท พร้อมประกาศนียบัตร ได้แก่ นางวงค์เดือน จันทะหงษ์ อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร และน.ส.สนธยา ไชยจักร จาก อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ

โดยคณะกรรมการตัดสินภายใต้หลักเกณฑ์ คือ 1.การลับมีดกรีดยางอย่างถูกวิธี มี 8 ขั้นตอน 2.ความบางของมีดและลักษณะเดือยมีดโค้งมน ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร อยู่ในรูปทรงสวยงาม 3.ความคมของมีด เมื่อกรรมการทดสอบกับต้นยางจริง

นายพิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า วันนี้ก็เป็นอีกวันหนึ่งที่มีการแข่งขันกรีดยาง เพื่อพัฒนาเกษตรกรที่กรีดยาง เพราะจ.บึงกาฬมีพื้นที่ปลูกยางพารามากที่สุด ส่วนใหญ่เจ้าของสวนยางเป็นคนกรีดเอง เพื่อให้ได้ปริมาณน้ำยางที่ดี และรักษาคุณภาพของต้นยาง ตลอดจนเพื่อรักษารายได้ และคุณภาพที่คงที่ โดยเราจะเชิญผู้ที่กรีดยาง ไม่ว่าในพื้นที่จ.บึงกาฬ หรือจังหวัดใกล้เคียง รวมไปถึงภาคใต้ ภาคอีสานที่มีการปลูกยาง และเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว มาเข้าร่วมการแข่งขัน โดยในการแข่งขันกรีดยางพาราประจำวันจะคัดเลือกผู้ที่มีคะแนนดี มีคุณภาพ และได้รับรางวัล วันละ 5 คน เพื่อเข้ารอบไปแข่งขัน ‘การกรีดยางนานาชาติ’ ที่ต้องเรียกแบบนี้เพราะจะมีการเชิญเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว และเวียดนาม มาเข้าร่วมการแข่งขันด้วย ในวันสุดท้ายของงานวันยางพาราฯ (23 มกราคม) สำหรับงานในวันนี้น่าภูมิใจมาก ที่ผู้ชนะเลิศของวันนี้เคยได้รับรางวัลมาแล้ว และเป็นภรรยาของแชมป์เมื่อปีที่ผ่านมา ได้ให้ความสนใจเข้ามาร่วมแข่งขันอีกครั้งจนได้เป็นแชมป์ประจำวัน และยังมีแชมป์กรีดยางประจำปี 2558 มาร่วมด้วย เพราะตามกฎการแข่งขันคือ คนที่เป็นแชมป์ 2 ปีซ้อน จะต้องเว้นวรรคการเข้าร่วมแข่งขัน เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรรุ่นใหม่ขึ้นมาได้แสดงศักยภาพ และร่วมกรีดยางอย่างมีคุณภาพ

“จากการที่ได้ดูผลงานของผู้ได้รับรางวัลในวันนี้ เป็นผลงานที่สุดยอดมาก และในส่วนของการจัดงานวันนี้ผมคิดว่าเป็นความประสบความสำเร็จสำหรับเกษตรกรที่กรีดยางพาราในขนาดนี้ และได้ผลผลิตออกมาเป็นน้ำยางที่มีคุณภาพ ตลอดจนเป็นต้นยางที่สามารถยืนอยู่ได้ตามอายุของการกรีดยางได้เป็นอย่างดี” นายพิสุทธิ์ กล่าว