ชู FTA เจาะตลาดส่งออก “ผ้าทอไทลื้อ-ผ้ามัดย้อม” พะเยา

FTA

“พะเยา” หนึ่งในจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย อีกทั้งยังเป็นแหล่งวัฒนธรรม “ไทลื้อ” ซึ่งมีสินค้าเด่นของจังหวัด เช่น ผ้าทอไทลื้อ ที่มีลวดลายผ้าสื่อถึงเอกลักษณ์ แต่ช่องทางการจัดจำหน่ายยังไม่มากนัก

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และช่องทางการขายทั้งภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยใช้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA)

ผ้าไทลื้อออร์เดอร์พุ่ง 3 พันชุด

“เปลี่ยน ดีจิตร” ประธานกลุ่มทอผ้าไทลื้อบ้านทุ่งกล้วย เปิดเผยว่า กลุ่มทอผ้าไทลื้อบ้านทุ่งกล้วย อ.ภูซาง จ.พะเยา มีสมาชิกทั้งหมด 65 คน เป็นการรวมกลุ่มของแม่บ้านในหมู่บ้านทุ่งกล้วย เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมและศิลปะการทอผ้าลายน้ำไหลหรือไทลื้อ

ซึ่งดำเนินกิจกรรมการทอผ้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริมยามว่างจากการทำเกษตรกรรม

วิธีการทอผ้า ช่วงแรกใช้กี่พื้นเมืองในการทอผ้าเพราะสามารถทำขึ้นแบบได้ง่าย โดยเริ่มต้นจากทอผ้าฝ้ายดิบเครื่องนุ่งห่ม หลังจากนั้นได้พัฒนามาทอกี่กระตุกและเริ่มย้อมสีธรรมชาติ โดยใช้ฝ้ายที่มีในท้องถิ่น เริ่มจากการปลูกฝ้ายและเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นเส้นด้ายใช้ภูมิปัญญาของท้องถิ่นทั้งหมด

จุดเด่นของผ้าทอมือบ้านทุ่งกล้วยเน้นการใช้สีจากธรรมชาติ เช่น สีดำได้มาจากน้ำคั้นผลมะเกลือ สีแดงได้จากแมลงครั่ง สีเหลืองได้จากขมิ้น สีเขียวอ่อนจากใบอโวคาโด สีเทาจากดินโคลน และสีจากเปลือกไม้ต่าง ๆ เช่น สีน้ำตาลได้จากเปลือกต้นสน ประดู่ คราม ขนุน มะม่วง เป็นต้น

ส่วนลวดลายต่าง ๆ ได้จากการจินตนาการจากสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในท้องถิ่น หรือรูปสัตว์ เช่น แมลงปอ ผีเสื้อ ช้าง ม้า นก หรือดอกไม้ต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งลายธรรมชาติ เช่น ผ้าทอลายน้ำไหล ซึ่งเป็นลายโบราณ ปัจจุบันกลุ่มทอผ้าฯ

มีผลิตภัณฑ์หลายหลายรูปแบบ อาทิ ผ้าถุง หรือผ้าซิ่น ผ้าพันคอ ผ้าขาวม้า ถุงย่าม เสื้อ ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 180-2,000 บาท

สำหรับช่องทางการจำหน่ายมีทั้งขายหน้าร้าน ออกบูทสินค้าตามงานเทศกาล ๆ และงานสั่งผลิตตามออร์เดอร์ เมื่อปี 2564 มีออร์เดอร์สั่งเข้ามารวม 3,000 กว่าชุด สร้างรายได้ให้กับสมาชิกเป็นจำนวนมาก มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท

สินค้าที่ทอจะต้องมีคุณภาพ ลูกค้าซื้อไปแล้วไม่ผิดหวัง สินค้าขายดีที่สุดเป็นผ้าขาวม้า เพราะว่าราคาไม่แพงและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย อาทิ ทำผ้าปูโต๊ะ, ผ้าคลุมไหล่, ผ้าปูนั่ง เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นสินค้า OTOP 5 ดาว

ปั้นผ้ามัดย้อมชิโบริขึ้นห้าง

“ธัญญา อินต๊ะมอย” ประธานกลุ่มผ้ามัดย้อมแม่อิงชิโบริ และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผ้ามัดย้อมชิโบริธรรมชาติแม่อิง กล่าวว่า เมื่อปี 2562 เกิดน้ำท่วมใหญ่ในหมู่บ้านจึงได้รวมตัวกันทำอาชีพเสริม โดยเลือกทำผ้ามัดย้อมชิโบริ ซึ่งเป็นศาสตร์การทำผ้ามัดย้อมแบบญี่ปุ่น

โดยตั้งเป็นกลุ่มอาชีพ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานต่าง ๆ ของอำเภอภูกามยาว อาทิ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพะเยา, สำนักงานเกษตรจังหวัด, สำนักงานการศึกษานอกโรงเรียน เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้เป็นสินค้าชุมชน ปัจจุบันมีสมาชิก 61 คน เริ่มแรกผลิตผ้ามัดย้อมจากการใช้สีสังเคราะห์

และสีเคมี ต่อมาพัฒนาและต่อยอดมาใช้สีจากธรรมชาติ โดยมีมหาวิทยาลัยพะเยามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์

แม้ประเทศอื่น ๆ จะมีการทำผ้ามัดย้อมเหมือนกัน แต่ทำด้วยคราม สินค้าที่มีโทนสีน้ำเงิน ฟ้า เขียว แต่ผ้ามัดย้อมของตำบลแม่อิง อำเภอภูกามยาว ผลิตภัณฑ์ค่อนข้างหลากสี โดยวัตถุดิบหลักในการผลิตสีผ้ามัดย้อม เช่น ดอกดาวเรือง แก่นไม้ฝาง ใบอโวคาโด เปลือกยูคาลิปตัส ใบสัก หินลูกรังแดง เป็นต้น

“นอกจากนี้ ชาวบ้านยังทำเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการนำเศษผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บนำมาทำเป็นพวงกุญแจ เป็นการทำครบวงจร ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ดูทันสมัย เพราะมีหลายหน่วยงานมาช่วยดีไซน์ออกแบบและส่งมาให้ชาวนาบ้านแม่อิงใช้ฝีมือในการตัดเย็บ”

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายอาทิ กระเป๋า ผ้าถุง หมวก พวงกุญแจ รองเท้า เป็นสินค้าที่ระลึกและเป็นสินค้าเด่นของอำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา ได้รับเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพะเยา สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

ปัจจุบันช่องทางการจำหน่ายหลักคือหน้าร้าน และออกบูทตามงานต่าง ๆ นอกจากนี้ได้มีการเจรจากับห้างเซ็นทรัลเวิลด์ในการนำสินค้าไปจำหน่ายบนห้าง ส่วนตลาดส่งออกตอนนี้ยังไม่มี เพราะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ค่าขนส่งค่อนข้างแพง

ใช้ FTA ดันผ้าทอมือตีตลาดโลก

นางสาวบุณิกา แจ่มใส รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กลุ่มทอผ้าไทลื้อบ้านทุ่งกล้วยและกลุ่มผ้ามัดย้อมชิโบริสีธรรมชาติแม่อิงเป็นผู้ผลิตผ้าขึ้นชื่อของจังหวัดพะเยา และเป็นสินค้าที่มีศักยภาพ สามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน

ซึ่งกรมมองเห็นศักยภาพจึงได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จาก FTA การขยายช่องทางจำหน่ายไปยังต่างประเทศ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด รวมถึงการเพิ่มมูลค่า เน้นกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“ที่ผ่านมา กรมได้มีการผลักดันและติดอาวุธให้กับวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการโดยการใช้ประโยชน์จาก FTA ตอนนี้มีการเปิดตลาดแล้ว 18 ประเทศ มีการลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% เปิดช่องทางการขายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

และต่อไปในอนาคตจะมีการจำหน่ายสินค้าทั้งตลาดภายในประเทศ และต่างประเทศ เมื่อมีการพัฒนาให้ได้มาตรฐาน และมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ”

นางสาวบุณิกากล่าวว่า ช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) ของปี 2565 ภาพรวมธุรกิจ “กลุ่มผ้าฝ้ายทอมือ” ภายในประเทศไทยทั้งหมดมีรายได้รวมจากการส่งออกไปต่างประเทศ มูลค่าประมาณ 182 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 667 ล้านบาท (เทียบ 37 บาทเท่ากับ 1 ดอลลาร์))

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 มีอัตราการเติบโตสูงขึ้น 35% โดยกลุ่มประเทศที่มีการส่งออก ได้แก่ เมียนมา บังกลาเทศ เวียดนาม ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง เป็นตลาดสำคัญ