U2T ปั้น กาดเตาอิฐ แลนด์มาร์กเชียงใหม่ เปิดตัว 24-25 ก.ย. สี่แยก ถ.ราชพฤกษ์

มช.เปิดกาดเตาอิฐ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผนึกเทศบาลตำบลหนองควาย และโครงการภราดร กรีน ผลักดัน “โครงการมหาลัยสู่ชุมชน U2T for BCG” ปั้นโครงการ “กาดเตาอิฐ” แลนด์มาร์กเชียงใหม่ 

วันที่ 23 กันยายน 2565 นายวิเชียร เชิดชูตระกูลทอง ที่ปรึกษาฝ่ายชุมชน โครงการ U2T เทศบาลตำบลหนองควาย และเจ้าของโครงการภราดร กรีน เปิดเผยว่า ตามที่โครงการ U2T โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเทศบาลตำบลหนองควาย ร่วมกับโครงการภราดร กรีน ได้ดำเนินโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ตำบลหนองควาย ตามมติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง “โครงการมหาลัยสู่ชุมชน U2T for BCG” โดยจะทำการเปิดตลาด-กาดภูมิปัญญาและนวัตกรรมชุมชน ภายใต้ชื่อโครงการ “กาดเตาอิฐ” (KAD TAO EID) บนพื้นที่โครงการภราดร กรีน ซึ่งมีเนื้อที่โครงการจำนวน 9 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกบนถนนราชพฤกษ์ เส้นทางไปอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

มีกำหนดเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการในวันที่ 24-25 กันยายน 2565 เป็นต้นไป ซึ่งจะดำเนินโครงการนี้อย่างต่อเนื่องทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.00-14.00 น. ฟรีค่าเช่าพื้นที่ช่วง 4 อาทิตย์แรก

สำหรับพื้นที่โครงการภราดร กรีน จำนวน 9 ไร่ เดิมเป็นพื้นที่ในการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมอิฐดินเผาแบบโบราณของบริษัท ภราดร จำกัด เมื่อราว 35 ปีที่แล้ว โดยมีเตาอิฐโบราณ 3 เตา เป็นเตาขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันทางบริษัทไม่ได้ใช้พื้นที่แห่งนี้ในการผลิตอิฐเผาแบบโบราณแล้ว

จึงเห็นว่าการทำโครงการ “กาดเตาอิฐ” บนพื้นที่ภราดร กรีนแห่งนี้ จะช่วยส่งเสริมและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมฐานรากของตำบลหนองควาย เพื่อช่วยเหลือชุมชนให้มีการเติบโตและมีรายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการ “กาดเตาอิฐ” จะเป็นพื้นที่จัดแสดงสินค้า (Show Case) ของชุมชนตำบลหนองควาย ซึ่งมีสินค้าภูมิปัญญาและนวัตกรรมท้องถิ่นที่เป็นไฮไลท์หลายประเภท

อาทิ เครื่องปั้นดินเผา ไม้แกะสลัก เครื่องจักสาน อาหารท้องถิ่น ฯลฯ โดยเป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทางการจำหน่ายสินค้าของชุมชนที่ผู้ซื้อพบผู้ขายโดยตรง

ดร.ไพรัช พิบูลย์รุ่งโรจน์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “โครงการมหาลัยสู่ชุมชน U2T for BCG” บนพื้นที่โครงการ “กาดเตาอิฐ” จะเป็นพื้นที่รองรับสินค้าชุมชนท้องถิ่นที่พร้อมขาย เพิ่มโอกาสให้ชุมชนที่มีสินค้าเด่นได้มีพื้นที่ในการขายและโชว์สินค้า

ซึ่งสินค้าของชุมชนตำบลหนองควายมีไฮไลต์หลากหลาย และตรงกับคอนเซ็ปต์ BCG หลายประเภท ที่เน้นการใช้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย “กาดเตาอิฐ” จะเป็นพื้นที่นำร่อง และเป็นโมเดลต้นแบบที่โครงการ U2T โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะขับเคลื่อนในชุมชนอื่น ๆ ต่อไป

ผศ.ดร.จุฑาทิพย์ เฉลิมผล ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในวันที่ 24-25 กันยายน 2565 ซึ่งจะเปิดโครงการ “กาดเตาอิฐ” อย่างเป็นทางการ จะมีสินค้าชุมชนจาก 45 ตำบล U2T ในภาคเหนือ มาร่วมจัดแสดงด้วย ทั้งกลุ่มสินค้าผ้าทอ เครื่องจักสาน อาหาร ขนม กาแฟ ชาฯลฯ

ซึ่งล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น ทั้งนี้ โครงการ “กาดเตาอิฐ” เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างการพัฒนาให้แก่คนในชุมชนตำบลหนองควาย ที่จะสามารถต่อยอดสินค้าและขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตและชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต