“ทีเส็บ” เปิดฉาก ASEAN MICE 2018 มุ่งตลาดไมซ์สู่เมืองรองกลุ่มอาเซียน

“ทีเส็บ” ขนทัพประเทศกลุ่มอาเซียนเปิดฉากขับเคลื่อน ASEAN MICE Conference 2018 ที่เชียงใหม่ มุ่งขยายความร่วมมือพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ พร้อมเดินหน้ากระจายกิจกรรมไมซ์สู่เมืองรองในภูมิภาคทั่วไทย-อาเซียน

นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการ สายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ เปิดเผยว่า ในปีนี้ ทีเส็บ ใช้แพลตฟอร์มการเข้าร่วมงานประชุมท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 37 (37th ASEAN Tourism Forum 2018 : ATF 2018) ณ จังหวัดเชียงใหม่ จัดงาน ASEAN MICE Conference 2018 โดยเชิญกูรูด้านไมซ์ของไทยและอาเซียน นำเสนอเมืองไมซ์ซิตี้และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ แนวทางการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ของเมืองต่างๆ ให้พร้อมรองรับการจัดงานไมซ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระจายกิจกรรมไมซ์จากเมืองหลักสู่ภูมิภาคท้องถิ่นในพื้นที่เมืองรอง หวังให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ธุรกิจอุตสาหกรรมไมซ์มีอัตราการเติบโตที่สูงมาก โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชีย ซึ่งเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด และปัจจุบันพบว่าแต่ละประเทศต้องการพัฒนาธุรกิจไมซ์ไปยังเมืองที่ไม่ใช่เมืองหลักหรือเมืองหลวง โดยต่างมุ่งสู่พื้นที่เมืองรอง เพื่อกระจายกิจกรรมไมซ์ทั้งการจัดประชุมและแสดงสินค้า ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดรายได้สู่พื้นที่ภูมิภาคได้มากขึ้น และเป็นการสร้างทางเลือกให้กับกลุ่มลูกค้า

สำหรับแผนงานในปี 2561 ของทีเส็บ เป้าหมายสำคัญคือ การมุ่งพัฒนา Area Base รุกสู่พื้นที่มากขึ้น โดยจะเพิ่มการทำงานเชิงพื้นที่ ลงลึกระดับภูมิภาค พร้อมสร้างการทำงานเชิงรุกกับผู้ประกอบการของแต่ละท้องถิ่น ให้มีความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมไมซ์ มีส่วนร่วมในงานส่งเสริมกิจกรรมไมซ์ไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มุ่งผลักดันตลาดไมซ์ในแต่ละพื้นที่ เน้นเรื่องการพัฒนามาตรฐานสถานที่และมาตรฐานบุคลากร เพื่อรองรับการขยายตัวของไมซ์

“พื้นที่เมืองรองที่มีศักยภาพและเป็นจุดหมายปลายทางไมซ์ อาทิ เชียงราย ระยอง สงขลา (หาดใหญ่) เป็นต้น ซึ่งพบว่ารายได้จากธุรกิจไมซ์ของประเทศไทยมีมูลค่าสูงกว่าภาคการท่องเที่ยวทั่วไป 3-4 เท่า คือ มีตัวเลขการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์เฉลี่ยที่ 85,000-150,000 บาท/คน/ทริป ถือว่าเป็นกลุ่มนักเดินทางคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูง”

นางศุภวรรณกล่าวต่อว่า งาน ASEAN MICE Conference 2018 ที่จังหวัดเชียงใหม่ครั้งนี้ เป็นการทำงานภายใต้ความร่วมมือกับประเทศอาเซียน ที่เป็นการแลกเปลี่ยนทางความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน ก่อให้เกิดความร่วมมือในระดับภูมิภาค และการประสานงานเชิงนโยบายในการส่งเสริมธุรกิจไมซ์ของอาเซียน โดยเฉพาะการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานในภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับความต้องการของนักเดินทางกลุ่มไมซ์จากทั่วโลกให้มาจัดงานไมซ์ในภูมิภาคนี้

ด้านนางสาวอะมีเลีย โรซี่แมน ประธานฝ่ายปฏิบัติการ ซาราวัค คอนเวนชั่น บูโร หรือ SCB กล่าวว่า สำหรับเมืองรองนั้นสามารถสร้างการรับรู้และสร้างการเติบโตในแง่ของเศรษฐกิจได้ หากมีแผนการตลาดที่ดี มีการสร้างแบรนด์ และสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองที่ไม่จำเป็นต้องเลียนแบบเมืองหลวง เช่น ที่ซาราวัค ได้นำเอาความโดดเด่นของเกาะบอร์เนียวมาผนวกเข้ากับสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้มาตรฐาน เป็นจุดเด่นที่ดึงดูดกิจกรรมไมซ์ระดับโลกให้มาจัดงานที่นี่ได้ดังเช่น The 55th ICCA Congress 2016 โดยซาราวัคนั้นมีเป้าหมายในการสร้างเมืองให้เป็นจุดหมายปลายทางแห่งการจัดงานไมซ์ หรือ Business Event มีพันธมิตรสำคัญคือ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ให้ความร่วมมือและพร้อมจะพัฒนาศักยภาพตัวเอง เพื่อให้สามารถรองรับกิจกรรมเชิงธุรกิจเหล่านี้ได้

นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการ สายงานพัฒนาและนวัตกรรม ทีเส็บ กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ 2560 (กันยายน 2559-ตุลาคม 2560) มีการจัดงานไมซ์ใน จ.เชียงใหม่, พัทยา จ.ชลบุรี, จ.ขอนแก่น และ จ.ภูเก็ต จำนวน 4,612 งาน มีนักเดินทางกลุ่มไมซ์เข้าร่วมงาน 692,788 คน ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจในภาพรวมกว่า 63,773.04 ล้านบาท ซึ่งหากเมืองรองหรือจังหวัดต่างๆ มีการพัฒนาศักยภาพและเกิดความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการในทุกภาคส่วนแล้ว จะช่วยพัฒนาเมืองให้มีความพร้อมและมีศักยภาพรองรับการจัดกิจกรรมไมซ์ ซึ่งจะก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างมาก

ขณะที่จำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในภาพรวมนั้นมีจำนวนทั้งสิ้น 36,364,467 คน สร้างรายได้ให้กับประเทศ 179,601 ล้านบาท แบ่งเป็น นักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างประเทศ 1,047,959 คน สร้างรายได้ 88,459 ล้านบาท และนักเดินทางกลุ่มไมซ์ภายในประเทศ 35,316,508 ล้านคน สร้างรายได้ 91,142 ล้านบาท