ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใหม่ พ่นพิษทั่วประเทศ เอสเอ็มอี-เกษตร-ประมงอ่วม “โคราช-ภูเก็ต” ยังชิล

ผู้ประกอบการเครียดรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอัตราใหม่ หอการค้าระยองชี้โรงงานเล็ก เอสเอ็มอีอ่วมแน่ ต้นทุนเพิ่ม ด้านเกษตร-ประมงสะอื้น ซ้ำเติมราคาผลผลิตตกต่ำ ขณะที่เมืองย่าโม และภูเก็ต ไม่หวั่นมั่นใจเศรษฐกิจกำลังเชิดหัว

ภายหลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ครั้งที่ 2/2561 เคาะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 รวม 7 อัตรา ตั้งแต่ 308-330 บาท/วัน ภูเก็ต-ชลบุรี-ระยอง สูงสุด 330 บาท/วัน สร้างแรงกระเพื่อมกับธุรกิจอย่างหนัก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก ภาคเกษตร และประมง อย่างไรก็ตามในที่ประชุมได้พิจารณาให้ผู้ประกอบการที่มีค่าใช้จ่ายการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นไปลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า ให้มีผล 1 เมษายน 2561 ไม่มีผลย้อนหลัง

ระยองกระทบหนัก

นายนพดล ตั้งทรงเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดระยอง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายหลังประกาศขึ้นค่าแรงจากเดิม 308 บาท เป็น 330 บาท หลังจากได้คุยกับผู้ประกอบการหลายคนต่างตกใจ เพราะระยองขึ้นค่าแรงสูงที่สุด แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจจะดี แต่มาจากโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพียง 10% แต่มีสัดส่วนรายได้สูงถึง 80% ขณะที่ส่วนใหญ่โรงงานเล็ก เอสเอ็มอี หรือภาคเกษตรมีถึง 80-90% แต่สัดส่วนรายได้เพียง 20% เท่านั้น และแม้ว่าระยองจะเป็นพื้นที่อีอีซี แต่ทุกอย่างยังเป็นแค่แผน ดังนั้นการขึ้นค่าแรงครั้งนี้ต้องกระทบแน่นอน โดยเฉพาะโรงงานเล็ก เอสเอ็มอี อย่างเฟอร์นิเจอร์ ไม้ยาง อาหารแปรรูป โดยเฉพาะภาคเกษตรที่ราคาผลผลิตตกต่ำอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามมองว่าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอาจจะต้องทำให้มาร์จิ้นตัวเองลดลง สู้เพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้

“การแก้ปัญหาวันนี้ต้องเพิ่มที่คุณภาพแรงงาน เพื่อเป็นตัวกำหนดค่าแรง ที่สำคัญแรงงานฝีมือในจังหวัดระยองจ้างสูงกว่าขั้นต่ำอยู่แล้ว ดังนั้นการขึ้นครั้งนี้มองว่าจะเป็นผลดีกับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาถูกกฎหมาย ที่ลงทะเบียนกับจังหวัดระยองมีประมาณ 1 แสนคน นอกจากนี้การหลั่งไหลของแรงงานก็จะมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันระยองมีประชากรแฝงสูงมาก และระบบสาธารณูปโภคที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข”

เอสเอ็มอีระส่ำ-สายป่านยาวรอด

Advertisment

นายวีระยุทธ สุขวัฑฒโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอนเฟ็ดเดอร์เรท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้าในจังหวัดเชียงใหม่ และประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ เปิดเผยว่า ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเชียงใหม่ปรับขึ้นเป็น 320 บาทต่อวัน จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจสิ่งทอ-ตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อการส่งออก ซึ่งเป็นธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยในช่วงปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจอยู่ในภาวะซบเซาอย่างหนัก

ดังนั้นการปรับขึ้นค่าแรงเพิ่มอีก 12 บาท เป็น 320 บาทในปีนี้ รวมถึงต้นทุนการผลิตทั้งระบบที่เพิ่มสูงขึ้น ถือว่าส่งผลกระทบและยิ่งสร้างความลำบากให้กับผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ใครที่สายป่านยาวก็อาจอยู่รอดได้ แต่ใครที่สายป่านสั้นก็จะยิ่งลำบาก ซึ่งรัฐบาลควรพิจารณาถึงความเหมาะสมและความอยู่รอดของผู้ประกอบการในภาวะปัจจุบันด้วย

Advertisment

นายชุมพล สมใจ ประธานหอการค้าจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในจังหวัดปราจีนบุรีเป็น 318 บาท/วัน จากเดิม 308 บาท/วัน จะส่งผลกระทบต่อโรงงานที่มีแรงงานจำนวนมาก โดยภายในจังหวัดมีโรงงานกว่า 900 โรง ขณะเดียวกันธุรกิจเอสเอ็มอีก็ได้รับผลกระทบ เนื่องจากกำลังการผลิตยังไม่มาก และตลาดไม่ได้กว้างเท่าโรงงานขนาดใหญ่ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจการค้าที่มีลักษณะการซื้อมาขายไป ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก มีแรงงานไม่มาก 2-3 คน คาดว่าไม่กระทบ เนื่องจากปัจจุบันมีการให้ค่าจ้างสูงถึง 350-400 บาท/วัน ซึ่งสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว

ประมง-เกษตรช้ำ

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเผยว่า จังหวัดสมุทรสงครามส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตร จึงมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรและประมงจำนวนมาก ซึ่งยังคงเป็นขนาดเล็กและใช้แรงงานคนมาก โดยจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ประกอบกับช่วงก่อนหน้านี้ก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการไอยูยู ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น และส่งผลให้การแข่งขันมีปัญหามากขึ้นไปอีก

“ผู้ประกอบการก็ต้องเป็นไปตามสถานการณ์ ประคองตัวไปเรื่อย ๆ เพราะถึงแม้ต้นทุนสูงขึ้น แต่ราคาสินค้าทางการเกษตรไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นตามได้ เช่นเดียวกับสินค้าอื่น ๆ ที่มีสามารถบวกเข้าไปในผลิตภัณฑ์ได้ รวมถึงส่วนใหญ่สินค้าด้านการเกษตรต้องใช้แรงงานคนเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นเครื่องจักรได้ ทั้งนี้มองว่าจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ เช่น สมุทรสาคร สมุทรปราการ ปทุมธานี และนนทบุรี” นายมงคลกล่าว

นายอนุชิต สกุลคู กรรมการผู้จัดการบริษัทให้เครือเจียงอินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงได้รับผลกระทบแน่นอน แต่คงจะไม่มากเหมือนช่วงที่มีการปรับแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท ก่อนหน้านี้ สิ่งที่ต้องปรับคือต้องมีการบริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เพื่อลดค่าใช้จ่ายแล้วนำไปเป็นค่าแรงแทน มองว่าธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ธุรกิจที่มีการใช้แรงงานโดยตรง เช่น การก่อสร้าง และโรงงาน เป็นต้น ส่วนธุรกิจการบริการนั้นน่าจะได้ผลกระทบน้อย เพราะปกติก็มีการได้รับค่าแรงรวมทั้งเบี้ยเลี้ยงต่าง ๆ เกินค่าแรงที่กำหนดอยู่แล้ว

นายพิชัย มะนะสุทธิ์ ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง กล่าวว่า จังหวัดตรังปรับขึ้นจากเดิม 10 บาท เป็น 310 บาท ในแง่ของภาพรวมถือว่าส่งผลกระทบพอสมควร โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีแรงงานจำนวนมาก จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถือว่าอยู่ในช่วงชะลอตัว ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในภาวะย่ำแย่ ดังนั้นแนวทางในการแก้ปัญหาของผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงต้องลดการจ้างงานลง พร้อม ๆ กับการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของแรงงานเพิ่มขึ้น ต้องมีการปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไป

แรงงานเฮ – การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2561 ได้ข้อสรุป 7 ระดับ คือ 308-330 บาท/วัน โดยจังหวัดภูเก็ต ชลบุรี และระยอง สูงสุด 330 บาท/วัน ขณะที่จังหวัดปัตตานี ยะลาและ นราธิวาส ปรับน้อยที่สุด 308 บาท/วัน


ภูเก็ต-โคราช ศก.ดีไม่หวั่นค่าแรง

นายสุรชัย ชัยวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ค่าแรงของภูเก็ตในระดับบริษัทที่มีมาตรฐานมีค่าแรงสูงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมเชน บริษัทใหญ่ที่ทำธุรกิจ ค่าแรงเลยระดับนี้ไปแล้ว แต่อาจมีกระทบบ้างกับพนักงานระดับล่างประมาณ 10-20% ที่มีปัญหานี้ มองว่าเมื่อปรับค่าแรงขึ้นมา ผู้ประกอบการระดับเล็กมีผลกระทบโดยตรง ต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการปรับตัว อาจทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคบางตัวแพงขึ้นมาบ้าง

“การขึ้นค่าแรงครั้งนี้โดยรวมรับได้ เพราะเป็นจังหวัดท่องเที่ยว ปัจจุบันเศรษฐกิจของภูเก็ตอยู่ในช่วงขาขึ้น เราเป็นฮับการบิน มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี ปีนี้คาดว่าเพิ่มอีก 10% มีการขยายสนามบินอีก สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศได้เป็นอย่างดี และภูเก็ตมีห้องพักนับแสนห้อง อนาคตโรงแรมเชนจะมีห้องพักเพิ่มอีก 5 พันห้อง ถือว่าภูเก็ตเติบโตมาก ค่าแรงภูเก็ตพร้อมตอบสนองนโยบายรัฐบาล” นายสุรชัยกล่าว

นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำในจังหวัดนครราชสีมาขึ้นอีก 12 บาท จาก 308 บาท เป็น 320 บาทนั้น ถือว่าปรับขึ้นมาเพียง 4% เท่านั้น ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะหลายธุรกิจจ่ายเกินจากอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว และเป็นอัตราที่สามารถรับได้ ธุรกิจช่วงนี้เพิ่งจะเริ่มเติบโต โคราชก็กำลังจะมีการขยายงานเพิ่มขึ้น จะมีผล

กระทบอยู่บ้างกับผู้ประกอบการที่ต้องใช้แรงงงาน เพราะถ้าผู้ประกอบการรับไม่ได้ หรือไม่ไหว ก็ต้องหาวิธีในการปรับลดพนักงานลง เพราะฉะนั้นการที่ปรับค่าแรงขึ้นมา สิ่งที่กระทบอย่างเห็นได้ชัด คือ แรงงาน ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้มีความสามารถมากขึ้น