แห่เปิดคลินิกตจว. ความงามฮอตสุด ขอนแก่นฮับธุรกิจเสริมหล่อ-สวย อีสานโตปีละ10%

ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงามยังแรงไม่ตก ผลสำรวจหอการค้าระบุ ปี 2561 ความนิยมพุ่งอันดับ 2 ด้านรองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพรับแนวโน้มคลินิกดูแลความงามสูง

ขึ้นมาก ขอนแก่นฮับความงามอีสานโตปีละ 10% เทรนด์เสริมจมูก-เสริมเต้าแรงต่อเนื่อง ขณะที่มหาสารคามพบเม็ดเงินลงทุนนับร้อยล้านบาท ด้านโคราชผุดคลินิกความงาม 58 แห่ง ส่วนสระแก้วไม่หวือหวา ธุรกิจการแพทย์-ความงามโตพรึ่บ

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันการเปิดคลินิกในต่างจังหวัดจะต้องขออนุญาตที่สำนักงานสาธารณสุขของแต่ละจังหวัด ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะสรุปผลเป็นรายปี จากตัวเลขชี้ชัดว่าแนวโน้มคลินิกที่ดูแลเรื่องความงามสูงขึ้นมาก

สอดคล้องกับข้อมูลจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า จากการสำรวจธุรกิจดาวรุ่ง 10 อันดับ ประจำปี 2561 ได้แก่ 1.ธุรกิจการให้บริการด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร และอุปกรณ์ (ผู้ให้บริการโครงข่าย) 2.ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม 3.ธุรกิจ e-Commerce 4.ธุรกิจเครื่องสำอางและครีมบำรุงผิว 5.ธุรกิจด้านปิโตรเคมีและพลาสติก ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ 6.ธุรกิจ modern trade ธุรกิจบริการทางด้านการเงิน ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 7.ธุรกิจร้านขายยา และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ 8.ธุรกิจด้านการศึกษา ธุรกิจเกี่ยวกับทางด้านการท่องเที่ยว 9.ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และร้านเช่า หรือห้องเช่า ธุรกิจด้านความเชื่อ เช่น โหราศาสตร์ เครื่องรางของขลัง และ 10.ธุรกิจวัสดุด้านก่อสร้าง และรับเหมา ธุรกิจร้านเสริมสวย ตัดผมแนวแฟชั่น

ขอนแก่นฮับอีสานโตปีละ 10%

ภก.เชิดชัย อริยานุชิตกุล รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า สถานพยาบาลเอกชนหรือคลินิกทั่วไปในจังหวัดขอนแก่นทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเวชกรรม ทันตกรรม แผนไทย รังสี กายภาพบำบัด ในปี 2560 รวมแล้วมีอยู่ทั้งหมด 642 แห่ง เพิ่มขึ้นทุกปี ตั้งแต่ปี 2557-2560 เฉลี่ยประมาณ 10% ต่อปี ด้านคลิกนิกเวชกรรม แยกเป็นคลินิกเวชกรรมทั่วไป และคลินิกเวชกรรมเฉพาะทาง (เวชกรรมตกแต่ง) จาก 642 แห่ง มีอยู่ 98 แห่ง หรือคิดเป็น 39% ที่เป็นเวชกรรมที่ให้บริการด้านความงาม

สำหรับทิศทางคลินิกด้านความงามตั้งแต่ปี 2557-2560 เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 10% อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2557 มี 67 แห่ง ปี 2558 มี 78 แห่ง ปี 2559 มี 85 แห่ง และปี 2560 รวมแล้ว 98 แห่งเพิ่มขึ้น เนื่องจาก 1.ประชากรเพิ่มขึ้น 2.เป็นฮับของภาคอีสาน 3.ศูนย์รวมแหล่งศึกษา มีนักศึกษามากและมหาวิทยาลัยมีอยู่หลายแห่ง

“เทรนด์ของวัยรุ่นจะมาทางนี้ค่อนข้างเยอะ นอกจากนี้มองว่าผู้ให้บริการหันไปจับตลาดด้านสื่อโซเซียลมีเดียมากขึ้น ทำให้การเข้าถึงของผู้บริโภคง่ายขึ้น เท่าที่เก็บข้อมูลส่วนมากจะเสริมจมูก เสริมเต้านม โดยเฉพาะการเสริมจมูกไม่จำเป็นต้องใช้ห้องผ่าตัดขนาดใหญ่ ไม่จำเป็นต้องดมยา ส่วนเสริมเต้านมคลินิกอาจจะต้องไปใช้ห้องผ่าตัดที่โรงพยาบาลเอกชนแทน ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนก็ให้บริการด้านความสวยงามไปในเชิงพาณิชย์ และในอนาคตคลินิกเสริมความงาม นอกจากเสริมจมูก เสริมเต้านม คนจะนิยมฉีดโบทอกซ์ร้อยไหมมากขึ้น ศัลยกรรมตาชั้นเดียว สองชั้น เป็นต้น”

ส่วนเรื่องการให้บริการรักษาโรคทั่วไปที่ไม่ใช่เสริมความงาม คนที่ไปใช้บริการคลินิกเป็นอีกหนึ่งทางเลือก อย่างไรก็ตามในปี 2561 คาดว่าจะมีสถานพยาบาลเอกชน หรือคลินิกเพิ่มขึ้นเป็น 700 แห่ง เฉลี่ยแล้วน่าจะเพิ่มปีละประมาณ 50 แห่งต่อปี

รุกต่างจังหวัด – คลินิกความงามยังเป็นธุรกิจที่สดใสในปี 2561 ไม่เพียงการดำเนินการโดยแพทย์ในพื้นที่เท่านั้น บริษัทจากส่วนกลาง อาทิ นิติพล คลินิก และ วุฒิศักดิ์คลินิกยังเข้ามาเปิดให้บริการชิงลูกค้าในห้างสรรพสินค้าในพื้นที่ด้วย

คลินิกความงามโคราชพุ่ง 58 แห่ง

ขณะที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยข้อมูลว่า ปี 2560 จังหวัดนครราชสีมา มีคลินิกทั้งหมด 647 แห่ง แบ่งเป็น 1.คลินิกเวชกรรม 222 แห่ง ซึ่งแยกเป็นคลินิกเวชกรรมทั่วไป 164 แห่ง คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม 58 แห่ง 2.คลินิกเวชกรรมเฉพาะทาง 35 แห่ง 3.คลินิกทันตกรรม 125 แห่ง 4.คลินิกทันตกรรมเฉพาะทาง 4 แห่ง 5.คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ 219 แห่ง 6.คลินิกเทคนิคการแพทย์ 11 แห่ง 7.คลินิกกายภาพบำบัด 11 แห่ง 8.คลินิกแพทย์แผนไทย 12 แห่ง 9.คลินิกแพทย์แผนจีน 6 แห่ง และ 10.สหคลินิกอีก 2 แห่ง

นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาธุรกิจเสริมความงามในจังหวัดนครราชสีมามีการเติบโตเป็นอย่างมาก ซึ่งไม่ใช่ธุรกิจเสริมความงามเท่านั้น แต่ยังรวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพที่ได้รับความนิยม ช่วง 1-2 ปีนี้เป็นช่วงกอบโกยของธุรกิจนี้ และยังเชื่อมั่นว่าธุรกิจเกี่ยวกับความงามยังโดดเด่น และเติบโตได้อีก อีกทั้งมีการลงทุนของห้างสรรพสินค้าเข้ามาหลายรายในนครราชสีมา ไม่ว่าจะเป็นเดอะมอลล์ โคราช เทอมินัล 21 โคราช และเซ็นทรัลพลาซา ที่เข้ามาเปิดในพื้นที่ จึงทำให้สถานเสริมความงามต่าง ๆ ตามเข้ามาด้วย ซึ่งแต่ละแห่งอยู่ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน และแต่ละรายมาจากส่วนกลาง จึงมีความน่าเชื่อถือ และทำให้มีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด

สารคามบูมศูนย์ฟอกไต-ทันตกรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดมหาสารคามว่า ด้วยบุคลากรทางการศึกษามากกว่า 5 หมื่นคน ทำให้กำลังซื้อส่งผลต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่นประมาณปีละ 2 พันล้านบาท กระจายไปยังธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะธุรกิจคลินิกที่กำลังเติบโตอย่างเงียบ ๆ

จากการสำรวจในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม พบว่ามีคลินิกทันตกรรม 5 แห่ง โซนใกล้มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ขามเรียง) 10 แห่ง ต่างทำโปรโมชั่นแข่งขันดึงดูดลูกค้าอย่างคึกคัก นอกจากนี้ยังมีคลินิกความงามในรูปบริษัทจากส่วนกลาง ได้แก่ นิติพล คลินิก และวุฒิศักดิ์ คลินิก มาเปิดบริการลูกค้าในห้างเสริมไทยคอมเพล็กซ์ 2 แห่ง ในโซนใกล้มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อีก 2 แห่ง รวมทั้งที่ดำเนินการโดยแพทย์ในพื้นที่รวมแล้วเกือบ 10 แห่ง และที่น่าสนใจ คือ คลินิกโรคไต เข้ามาลงทุนในพื้นที่ถึง 2 แห่ง

นายณรงค์ เหล่าสุวรรณ ประธานหอการค้าจังหวัดมหาสารคาม ให้ความเห็นกรณีนี้ว่า ธุรกิจคลินิกความงาม คลินิกทันตกรรม เหล่านี้ล้วนเข้ามาลงทุนมุ่งจับลูกค้ากลุ่มนิสิต นักศึกษา รวมทั้งบุคลากรทางการศึกษาเป็นหลัก เนื่องจากเป็นวัยที่รักสวยรักงาม ถือเป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงทั้งประเทศ ส่วนคลินิกประเภทอื่นก็คงมองเห็นช่องทางทางการค้าเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับคนไข้ที่ไม่ต้องไปแออัดอยู่ที่สถานพยาบาลของรัฐ

ทพ.วัฒนา ชัยวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอลดีซี เด็นทัล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แอลดีซีได้ขยายสาขาไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทั้งหมด 31 สาขา จุดเด่นของเราคือ มีแพทย์เฉพาะทางไว้คอยบริการตลอด และมีการรับประกันหากเกิดปัญหาสามารถกลับมารับบริการใหม่ได้

นายสุรพงษ์ เหงี่ยมไพศาล ประธานบริหาร บริษัท ดี-เดย์ ซัคเซส จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้เข้ามาลงทุนเปิดศูนย์ฟอกไตในพื้นที่มหาสารคาม เนื่องจากปัจจุบันตามศูนย์ฟอกไตโรงพยาบาลไม่ว่าจะของรัฐหรือเอกชนยังไม่พอรองรับคนไข้ที่มาใช้บริการแต่ละวันเป็นจำนวนมาก จึงตัดสินใจทุ่มงบฯกว่า 50 ล้านบาทเปิดคลินิกไตเทียม “ดี-เดย์ รีนัล แคร์” ใน อ.เมือง มีเครื่องฟอกไตให้บริการมากถึง 30 เครื่อง มีคนไข้มาใช้บริการไม่ต่ำกว่าวันละ 100 คน


ด้านผู้สื่อข่าวจังหวัดสระแก้ว รายงานว่า จากการสอบถามเจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว พบว่า ครึ่งหนึ่งของคลินิกทั้งหมดเป็นคลินิกความงาม มีจำนวน 9 แห่ง ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภออรัญประเทศ 5 แห่ง อำเภอเมืองสระแก้ว 3 แห่ง และอำเภอวัฒนานคร 1 แห่ง